SCGP เจาะลึกพฤติกรรมและการตลาดสำหรับผู้สูงวัย กระตุกไอเดียแพคเกจจิ้งแบบไหนที่ตรงใจคนรุ่นใหญ่

SCGP จัดงานเสวนาแบ่งปันอินไซต์ของคนรุ่นใหญ่เพื่อคนรุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดเป็นไอเดียการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้เข้ากับพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนไปตามวัยของผู้สูงอายุ สร้างสรรค์เป็นบรรจุภัณฑ์ที่คิดมาดี ทั้งการใช้งานและการตลาดที่ตรงใจคนรุ่นใหญ่ และยังส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับทุกคน

ผ่านไปแล้วกับงานเสวนา Packaging For Seniors พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่ ออกแบบแพคเกจจิ้งอย่างไร ให้ผู้สูงวัยมีความสุข ที่ทาง SCGP ร่วมกับเพจมนุษย์ต่างวัย จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ ทราบถึงเคล็ดลับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการทำการตลาดของแบรนด์ให้ตรงใจคนรุ่นใหญ่ ตอบรับเทรนด์การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย

ผู้บริหาร SCGP ร่วมเปิดงานเสวนา Packaging For Seniors พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่ ออกแบบแพคเกจจิ้งอย่างไร ให้ผู้สูงวัยมีความสุข

เปิดมุมมองใหม่ เข้าถึงใจผู้สูงอายุ

ในงานเริ่มต้นด้วยหัวข้อแรก ‘เจาะ insight ให้ลึกถึงใจ แพคเกจจิ้งแบบไหนที่ผู้สูงวัยต้องการ’ โดยได้ 3 วิทยากรตัวจริงมาบอกเล่าอินไซต์ เริ่มจากมุมมองทางด้านสุขภาพร่างกาย ผศ.พญ.ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์ จากสาขาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ได้เล่าถึงความเสื่อมสภาพของร่างกายที่เปลี่ยนไปตามวัย ซึ่งแต่ละคนอาจจะเจอปัญหาแตกต่างกัน อาการเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจึงอาจเจอได้ทั้งสายตาฝ้าฟาง โรคต้อกระจก ปัญหาเรื่องข้อต่อ กระดูก กล้ามเนื้อมือและแขนที่ส่งผลต่อการหยิบจับสิ่งของไม่สะดวก ไปจนถึงประสาทสัมผัสที่เสื่อมถอยลง ทั้งหมดส่งผลให้นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้องคำนึงถึงความสะดวกในการหยิบใช้งานของผู้สูงวัยเป็นอันดับต้น ๆ

เช่นกันกับ คุณอรสา ดุลยางกูล เจ้าของงานฝีมือแบรนด์ Craft in on ตัวแทนคนรุ่นใหญ่หัวใจวัยรุ่นที่มาเล่าอินไซต์ ว่าผู้สูงอายุนั้นล้วนแต่อยากพึ่งพาตัวเอง ไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน ฉะนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ สำหรับสิ่งของเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน จึงควรคิดถึงการออกแบบที่ใช้งานง่าย ใช้ได้จริง และปลอดภัย เช่น การใช้ตัวหนังสือที่ใหญ่ ใช้รูปภาพหรือสีของแพคเกจจิ้ง ที่แยกความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน จดจำได้ง่าย รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ นอกจากนี้ผู้สูงวัยก็ยังชื่นชอบแพคเกจจิ้งที่ออกแบบสวยงาม แข็งแรงทนทานและสามารถนำมาใช้ซ้ำ เพื่อใส่อุปกรณ์ข้าวของส่วนตัวในบ้านต่อได้เช่นกัน

‘เจาะ insight ให้ลึกถึงใจ แพคเกจจิ้งแบบไหนที่ผู้สูงวัยต้องการ’

นอกจากนี้ คุณรพิดา อัชชะกิจ เจ้าของเพจเข็นแม่เที่ยว ผู้มีประสบการณ์ดูแลคุณแม่ผู้ป่วยเป็นโรคทางสมองมากว่า 7 ปี ยังเสริมข้อมูลที่น่าสนใจว่าสำหรับผู้สูงอายุ การเลือกแพคเกจจิ้งที่ใช้งานได้จริงนั้น สำคัญกว่ายี่ห้อของผลิตภัณฑ์เสียอีก เพราะการแค่เปิดใช้งานสิ่งของเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ก็ถือเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยเยียวยาจิตใจและอารมณ์ของผู้สูงอายุในทุกวัน และยังแบ่งปันไปถึงความสุขของคนที่ดูแลด้วย

“เราต้องเปลี่ยนการซื้อของในบ้านทั้งหมด ไม่สามารถเลือกซื้อจากกลิ่น หรือแบรนด์ที่ชอบได้ แต่จะเลือกซื้อจากแพคเกจจิ้ง ที่คุณแม่สามารถใช้งานได้สะดวก เช่น ขวดปั๊ม ขวดซอสมะเขือเทศที่เปลี่ยนจากขวดแก้ว มาเป็นขวดพลาสติกที่ใช้การบีบ”

ออกแบบแพคเกจจิ้งแบบไหน ดีต่อใจผู้สูงอายุ

การออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหญ่ จึงมีรายละเอียดที่นักออกแบบรุ่นใหม่ ต้องใส่ใจและเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งาน ให้มากกว่าแค่ความสวยงาม ถ้าบรรจุภัณฑ์นั้นยิ่งสามารถใช้งานได้สะดวกกับทุกวัย ใช้ได้ง่ายทั้งครอบครัว ก็น่าจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพวกเราทุกคน

ต่อกันด้วยหัวข้อที่สอง ‘Design for Aging ออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพชีวิตและธุรกิจ’ ที่ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดด้วยการแบ่งปันข้อมูลเจาะลึก ของการทำการตลาดให้กับคนสูงวัย หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม Silver Gen ทั้งข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของคนสูงวัย ความสนใจเรื่องการออกกำลังกาย และการดูแลสุขภาพ รวมถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ที่ส่วนใหญ่ผู้สูงวัยมักจะเป็นคนตัดสินใจซื้อด้วยตัวเอง มีกำลังซื้อ และมักซื้อของทีละน้อย ๆ หรือซื้อทีละชิ้นเมื่อจำเป็นต้องใช้มากกว่า ข้อมูลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นหัวใจสำคัญของนักออกแบบ ที่จะคิดถึงการออกแบบแพคเกจจิ้งให้ตรงใจ รวมไปถึงคิดกลยุทธ์การขายที่ตรงเป้าหมายของผู้สูงวัย

‘Design for Aging ออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพชีวิตและธุรกิจ’

“สำคัญมากคือต้องเข้าใจอินไซต์ของผู้ใหญ่ ว่าเขาอาจจะมองเห็นและตัดสินในสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกับคนรุ่นใหม่ การใช้เทคโนโลยีหรืองานออกแบบมินิมอลอาจจะสวยดีในสายตาเรา แต่สำหรับผู้สูงวัย สิ่งนั้นอาจจะไม่เหมาะสม ไม่ตอบโจทย์การใช้งานของเขาก็ได้ การมองและให้คุณค่าที่แตกต่างกันเลยเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการออกแบบ” ผศ.ดร.เอกก์ ย้ำ

พร้อมกันนี้ คุณสุริยา พิมพ์โคตร และคุณอรปวีณ์ บวรพัฒนไพศาล Food and Beverage Packaging Designer จาก SCGP ที่ทั้งคู่มาเล่าถึงกรณีศึกษาจริงของการออกแบบแพคเกจจิ้งเชิงรุก (Proactive Design) ที่นักออกแบบต้องลงไปพูดคุย สำรวจเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า จนได้ออกมาเป็นงานออกแบบที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า รวมไปถึงการออกแบบแพคเกจจิ้งบนหลักการ Universal Design ที่เข้าใจง่าย ใช้งานสะดวก ผ่านการใช้สี รูปภาพหรือกราฟิกที่จะวัยไหนก็เข้าใจได้เหมือนกัน ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานให้ง่ายดาย และยังช่วยเติมเต็มความรู้สึกหลังใช้ผลิตภัณฑ์ ครบตามหลักของการตลาดที่ต้องคิดให้ครอบคลุม ทั้งประโยชน์การใช้งานและความรู้สึกดี ๆ ที่ได้จากการใช้งานนั้น

พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่

SCGP เชื่อมั่นว่าพลังและไอเดียของคนรุ่นใหม่ จะสามารถสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบ มาเพื่อให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ แม้จะต่างวัย ก็อยู่ร่วมกันได้แบบไม่ต่างใจกันในสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

นิสิตนักศึกษาผู้สนใจปล่อยไอเดีย การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัยในการประกวด SCGP PACKAGING SPEAK OUT 2023 สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 7 กันยายน 2566 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://thechallenge.scgpackaging.com/en/speakout

น้อง ๆ นิสิตนักศึกษาเข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้

Published on: Aug 28, 2023

(Visited 621 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว