SCGC จับมือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Low Waste, Low Carbon มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตอบโจทย์เมกะเทรนด์

20 มีนาคม 2567 : เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรระดับภูมิภาค มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการพัฒนาความยั่งยืน ร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สานต่อความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์และเคมีภัณฑ์  ล่าสุดได้ “ลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการ และสัญญาบริการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์และเคมีภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Decarbonization) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการใช้งานในอุตสาหกรรมในอนาคตซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถ ในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ SCGC รวมทั้งผลักดันสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์ สร้างโอกาสการแข่งขันในตลาดโลก และสร้างประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เผยว่า “SCGC มุ่งพัฒนา Green Innovation & Solution เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยแนวคิด Low- Waste, Low-Carbon โดยร่วมมือกับองค์กรและสถาบันวิจัยพัฒนาชั้นนำระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นหน่วยงานเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่และทันสมัยที่สุด สามารถวิเคราะห์โครงสร้างของวัสดุ ในระดับโมเลกุลและอะตอมได้ ซึ่ง SCGC ได้นำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาใช้วิเคราะห์โครงสร้างผลึก ของพอลิเมอร์ในระดับนาโนเมตร จึงช่วยให้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้เร็วยิ่งขึ้น  เช่น การพัฒนา SMX™ Technology การพัฒนาเม็ดพลาสติก PE คุณภาพสูงสำหรับผลิตท่อทนแรงดันสูง เป็นต้น นวัตกรรมเหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่ชั้นบรรยากาศ อีกทางหนึ่งด้วย  การลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยยกระดับงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ และเคมีภัณฑ์ของ SCGC แล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์ สร้างโอกาสการแข่งขันในตลาดโลก และสร้างประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเตรียมพร้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”

แสงซินโครตรอน เพื่อพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์และเคมีภัณฑ์

“ตลอดระยะเวลาความร่วมมือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนที่ผ่านมา SCGC ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มป้อนตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการรับรองการจดสิทธิบัตร และตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวนกว่า 10 ฉบับ อาทิ Industrial & Engineering Chemistry Research, ELSEVIER, ACS Applied Polymer Materials เป็นต้น” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม SCGC กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ มีพันธกิจในการวิจัย ให้บริการ ส่งเสริมและถ่ายทอดการเรียนรู้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และการใช้ประโยชน์ นำไปสู่การยกระดับงานวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยเหตุนี้ สถาบันฯ จึงให้ความสำคัญต่อการสร้าง ความร่วมมือทางวิชาการมาโดยตลอด สำหรับการสร้างความร่วมมือ ทางวิชาการระหว่าง SCGC และสถาบันฯ ครั้งนี้ จะมีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา ด้านกลุ่มผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ โดยใช้เทคโนโลยีซินโครตรอน และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของทั้งสองหน่วยงาน”

“นอกจากนี้จะมีการสนับสนุนการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และทดสอบ การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย โดยใช้แสงชินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสนับสนุนด้านวิชาการ การฝึกอบรม และความร่วมมือทางด้านเทคนิคและวิศวกรรม รวมถึงดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร และอีกความร่วมมือคือการลงนามสัญญาบริการวิจัยระหว่างบริษัทไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในกลุ่มธุรกิจ SCGC กับสถาบันฯ สามารถสนับสนุนงานวิจัยโครงสร้างพอลิเมอร์ด้วยแสงซินโครตรอนให้มีความต่อเนื่อง สามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ และพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนกล่าวทิ้งท้าย

นักวิจัยในห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

เกี่ยวกับ SCGC

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ครบวงจรระดับภูมิภาค ซึ่งมุ่งเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับความยั่งยืน มีฐานการผลิตหลักในประเทศไทย อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ครอบคลุมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ขั้นต้น (โอเลฟินส์) ไปจนถึงขั้นปลาย ได้แก่ เม็ดพลาสติกหลักทั้ง 3 ประเภท คือ พอลิเอทิลีน พอลิโพรพิลีน และพอลิไวนิลคลอไรด์

SCGC เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยมุ่งสู่ “ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน” ตามเป้าหมาย SDGs และ ESG เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนา Green Innovation & Solution อาทิ นวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer ภายใต้แบรนด์ SCGC GREEN POLYMER™ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์คาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

นอกจากนี้ ยังพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) เพื่อตอบรับเมกะเทรนด์ เช่น การร่วมลงทุนผลิตส่วนประกอบนำไฟฟ้าในการผลิตขั้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า(EV) การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด และการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐานจากการขยายตัวของเมือง เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.scgchemicals.com

เกี่ยวกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทเป็นสถาบันวิจัยกลางของประเทศ โดยมีพันธกิจเพื่อวิจัย พัฒนา และให้บริการแสงซินโครตรอนเพื่อการประยุกต์ใช้ในงานวิจัย พร้อมมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และสนับสนุนประเทศในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน

สถาบันฯ มีเป้าหมายในการมีพัฒนาศักยภาพเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน หรือ “เครื่องกำเนิดแสงสยาม” เพื่อสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังคงพัฒนาศักยภาพการทำงานของเครื่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมต่อการขยายฐานการให้บริการสู่ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมไทยได้หลากหลายสาขา และตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น เพื่อ “MAKE TOMORROW BETTER : สร้างและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน สู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม”

ทั้งนี้ เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม จ.นครราชสีมา ถือเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีค่าพลังงานอิเล็กตรอนอยู่ที่ 1,200 ล้านอิเล็กตรอนโวลท์ ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.slri.or.th/

Published on: Mar 20, 2024

(Visited 352 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว