KHUN Car และ โตไปไม่โกง Next Level นวัตกรรมชนะเลิศประเภทบรรษัทภิบาล ในงานปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก

โลกรวนอากาศร้อน สังคมเหลื่อมล้ำสูงไปจนถึงปัญหาการบริหารจัดการที่ขาดความโปร่งใส เที่ยงธรรม หลากปัญหาที่โครงการ ปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก (Hacks to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching) มองเห็น จึงเปิดเวทีชักชวนคนรุ่นใหม่มาแสดงพลัง ออกแบบนวัตกรรมเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิมผ่านกรอบแนวคิดการพัฒนา ESG (Environmental, Social and Governance)

หลังผ่านการตกตะกอนไอเดียและนำเสนอผลงานกันอย่างเข้มข้น ในที่สุดเราก็ได้ 2 ทีมผู้ชนะในประเภทบรรษัทภิบาล (Governance) ที่สะท้อนไอเดียจัดจ้าน ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาความไม่โปร่งใส ความไม่เป็นธรรม และทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยได้อย่างถึงกึ๋น

มานั่งล้อมวงชวนคุยถึงแรงบันดาลใจในการแก้ไขปัญหาสังคม แนวคิดเบื้องหลังไอเดียนวัตกรรมอย่าง “KHUN CAR” แอปพลิเคชันที่ต้องการสร้างวินัยจราจรและ “โตไปไม่โกง Next Level” แพลตฟอร์มร้องเรียนที่ต้องการปลูกฝังจิตสำนึกรักความเป็นธรรมในพื้นที่สถานศึกษารวมถึงฟังเสียงความหวังของคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังในการสร้างสังคมที่ดีกว่าไปพร้อมๆ กัน

“KHUN Car (คุณคาร์)” แอปพลิเคชันที่ให้คุณค่ากับการสร้างวินัยจราจร

“‘KHUN Car (คุณคาร์)’ มาจากคำว่า ‘คุณค่า’ เราเน้นเรื่องกฎวินัย เพราะเรารู้สึกว่าบางทีสังคมไทยทำให้กฎกลายเป็นเรื่องมีน้ำใจ แต่จริงๆ มันคือข้อที่ควรปฏิบัติ ความอะลุ่มอล่วยในสังคมไทยมันเกิดขึ้นเยอะเราเลยอยากให้ทุกคนกลับมาให้คุณค่ากับการทำตามกฎอีกครั้ง และก็เริ่มล้อมาเป็นคุณคาร์ เพราะเราเริ่มโฟกัสพฤติกรรมเหล่านี้จากบนท้องถนนก่อน” ภัส – นภัสมนต์ ศรีนครา นักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษา ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในตัวแทนทีมบอกเล่าถึงที่มาของชื่อโปรเจกต์ที่แสนจะสะกิดหู

ความพิเศษของทีมนี้คือเป็นการรวมกลุ่มกันจากเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยที่สนใจในเรื่องนวัตกรรม โดยภัสรู้จักกับเพื่อนร่วมทีมอย่างชมพู่ – กานพิชชา ทับวงศ์สิน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 นวัตกรรมการออกแบบ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจากเวทีการแข่งขันนวัตกรรมแห่งหนึ่ง ขณะที่ดีน่า – วิรากานต์ สมานคติวัฒน์ เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยของชมพู่ พอสบโอกาสดีเห็นโครงการนี้เข้าทั้งสามคนเลยไม่รอช้าที่จะจับกลุ่มชวยกันหา pain point ใกลัตัวเพื่อลงสนามแข่งขันความคิดอีกครั้ง

ชมพู่ – กานพิชชา ทับวงศ์สิน และ ภัส – นภัสมนต์ ศรีนครา

จุดเริ่มต้นของไอเดียเกิดจากดีน่าที่เห็นปัญหาการไม่รักษากฎใกล้ตัวเล็กๆ น้อยๆ อย่างการพยายามแอบอาหารที่เหลือในบุฟเฟต์เพื่อเลี่ยงค่าปรับ การโกงค่ารถเมล์ การไม่ทำตามมาตรฐานที่สังคมตกลงร่วมกันเหล่านี้เป็นเรื่องปกติบนความไม่ปกติที่เธอตั้งคำถาม พร้อมๆ กับที่ดีน่าอาศัยในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรแออัดเลยมองว่าปัญหาวินัยบนท้องถนนน่าจะเป็นปัญหาที่หลายคนมีประสบการณ์ร่วม ในทีมเลยตัดสินใจเลือกหัวข้อที่สมาชิกในทีมอินมาร่วมกันพัฒนาต่อยอดจนออกมาเป็นแอปพลิเคชัน  “KHUN Car (คุณคาร์)”

“KHUN Car (คุณคาร์)” เป็นแอปพลิเคชันช่วยสร้างนิสัยการรักษากฎจราจรผ่านการมีอวตาร์รถที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามวินัยจราจรของผู้ใช้ โดยมีฟีเจอร์สำคัญคือการร้องเรียนแจ้งเบาะแสการกระทำผิดของผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ซึ่งส่วนหนึ่งของค่าปรับจะนำไปบริจาคให้องค์กรการกุศล และเมื่อผู้ขับรถรักษากฎจราจรดีเยี่ยมจนมีการอัปเกรดเป็นรถใหม่จะได้รับสิทธิพิเศษอื่นๆ อาทิ การลดหย่อนภาษี หรือ พรบ. รายปี, ส่วนลดค่าทางด่วน, ส่วนลดค่าน้ำมัน และดีลพิเศษจากร้านอาหารต่างๆ ในปั๊มน้ำมันอีกมากมาย

สำหรับวิธีใช้งานแอปพลิเคชัน ทางทีมได้ออกแบบให้มีการดีลกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อที่จะให้ป้ายภาษีรถยนต์มี QR Code ที่เมื่อแสกนแล้วจะมีข้อมูลของรถซิงก์กับในแอปพลิเคชัน แล้วขึ้นเป็นอวตาร์รถแบบ default ก่อนจะเปลี่ยนเป็นรถเก่า-รถใหม่ตามวินัยจราจร ส่วนฟีเจอร์การแจ้งร้องเรียนได้ออกแบบโปรโตไทป์ให้เป็นในรูปของการถ่ายวิดีโอ และทางระบบจะอ่านป้ายทะเบียนจากภาพวิดีโอ จากนั้นผู้ใช้งานเลือกรูปแบบการฝ่าฝืนจราจรพร้อมกับโลเกชันที่เกิดเหตุก่อนจะส่งเรื่องผ่านแอปพลิเคชันให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะได้รางวัลเป็นพอยต์ที่สามารถแลกสิทธิพิเศษมากมาย

เบื้องหลังแนวคิดของไอเดียนวัตกรรมในครั้งนี้ชมพู่เล่าให้ฟังว่ามาจากแนวคิดในวงการสตาร์ทอัพที่เธอเคยมีประสบการณ์เข้าร่วม “เวลาแข่งสตาร์ทอัพ เขาจะบอกว่าให้ ‘เปลี่ยนอะตอมเป็นบิท’ digitalize ให้หมด ชมพู่จำขึ้นใจเลยและก็รู้สึกว่าเทคโนโลยีมันก็จะมีทั้ง AI 5G IOT และก็แพลตฟอร์ม เรื่องทุกอย่างมันดูไกลตัวมาก แต่เรื่องแพลตฟอร์มเรารู้สึกว่าเราสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เพราะมันก็มีเครื่องมืออย่าง Figma, Sketch, Adobe XD เลยเลือกเทคโนโลยีนี้” ด้านภัสเสริมว่าด้วยความที่เพื่อนในทีมอย่างชมพู่และดีน่าเป็น UX/UI designer ด้วยเลยเลือกให้เป็นในรูปแบบแอปพลิเคชัน

ส่วนแนวคิดเรื่องการอัปเกรดรถเก่าและรถใหม่ที่สามารถอวดกันได้ระหว่างเพื่อนผู้ขับรถ ดีน่าออกแบบมาโดยใช้หลักจิตวิทยา “ถ้าใครทำอะไรกัน ฉันอยากทำด้วย ถ้าเขามีอะไรกัน ฉันก็อยากมีด้วย“ เหมือนกับที่หลายคนมีต่อกระเป๋าแบรนด์เนม ทางทีมเลยชวนคิดว่าถ้าเปลี่ยนจากกระเป๋าเป็นเลเวลวินัยจราจรมันจะเท่สักแค่ไหน เป็นสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมและบางครั้งความดีดูจับต้องยาก แต่เลเวลรถยนต์เก่า-ใหม่กลับสามารถประเมินได้ นอกจากนี้ยังออกแบบให้มีรางวัลเพื่อตอบแทนคนที่มีวินัยจราจรยังเป็นแรงจูงใจให้คนมาใช้แอปพลิเคชันและรักษาวินัยจราจรมากขึ้น โดยภัสมีความหวังว่าจากแอปพลิเคชันที่เริ่มแก้ปัญหาวินัยบนท้องถนนจะเกลานิสัยให้คนไทยมีระเบียบวินัยที่ดีขึ้น

“หนูรู้สึกประทับใจตรงการทำงานเป็นทีม แล้วทุกคนทำเต็มที่มันมีพลังมาก เวลาทำ เราก็แบ่งกันคนละพาร์ท ชมพู่ทำโปสเตอร์ ซึ่งหนูชอบอยู่แล้ว คุณดีน่าทำวิดีโอแล้วเขาตัดวิดีโอเก่งมากเลย และคุณภัสคิดคำเก่ง ทำเรื่องคอนเทนต์ที่จะใส่ในโปสเตอร์และเอกสาร การทำตามความถนัดของตัวเอง แต่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันมันทำให้งานประสบความสำเร็จได้ ตอนทำงานมันก็มีความลำบากอยู่บ้าง แต่พอทำเสร็จเราก็รู้สึกว่าดีใจที่ได้ทำ” ชมพู่กล่าวถึงความประทับใจระหว่างการพัฒนาโปรเจกต์ร่วมกับเพื่อนๆ ในทีมจนชนะใจกรรมการและเล่าว่าโครงการ “ปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก” เป็นโครงการที่ใหญ่กว่าที่เธอคาดหวังและเป็นโอกาสดีที่ได้เข้าร่วมเวทีนี้ที่ทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ และได้เจอมิตรภาพที่สนใจในเรื่องเดียวกัน

แอปพลิเคชัน  “KHUN Car (คุณคาร์)”

“บางที่อาจจะจัดงานเล็กๆ แล้วทำให้เด็กที่คิดไอเดียสงสัยว่าไอเดียเรามีค่ามากพอหรือเปล่า มันเปลี่ยนโลกได้จริงไหม จะมีคนสนใจหรือเปล่า แต่งานนี้มันตอบโจทย์มาก เราแค่แข่งไอเดียแต่ได้มานำเสนอในงานที่สามารถส่งต่อแนวคิดคอนเซปต์ของเราให้แก่คนอื่นได้ด้วย โครงการนี้ทำให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เขาคิดมันมีคุณค่าและสามารถเปลี่ยนโลกได้จริง บางไอเดียเราอาจจะมองว่าเล็กน้อย ไร้ค่า แต่ตรงนี้ทำให้เรารู้สึกว่ามันสำคัญและเราควรทำต่อไปได้ มีคนสนับสนุนและซัพพอร์ต”

“คิดว่าไอเดียจะเปลี่ยนโลกได้ไหม คือส่วนตัวมองว่าเปลี่ยนทันทีไม่ได้ แต่เปลี่ยนกันเองง่ายกว่าและพวกเราเองที่จะช่วยกันเปลี่ยนโลก ถ้าเรารวมกันทำอะไรสักอย่างแล้วตัวตนเราชัดเจน มุ่งมั่นและจะผลักดันสิ่งนั้นจริงๆ ยิ่งมีเพื่อนมาเป็นคอมมิวนิตี้มากยิ่งขึ้น เราโตกันยิ่งขึ้น คิดว่าอันนี้จะเปลี่ยนได้” ภัสเสริมถึงความประทับใจจากโครงการพร้อมตอบคำถามถึงความมั่นใจในการปรับใช้ไอเดียเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก

ช่วงท้ายของการพูดคุย ชมพู่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวสำหรับคนที่เริ่มสนใจหาโซลูชันในการแก้ไขปัญหาสังคมว่าอาจจจะเริ่มต้นจากการเป็นคนช่างสังเกต เพื่อตั้งคำถามกับปัญหาหรือสิ่งที่ไม่เป็นปัญหา แต่สามารถดีกว่านี้ได้ เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ นวัตกรรมที่จะช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น

“เวลาเราใช้ชีวิตอาจจะใส่คำว่ามันจะดีกว่านี้ไหม ถ้า…แล้วก็เติมไอเดียของเราไป จะทำให้สนุกมากยิ่งขึ้นเวลาเราเห็นอะไรรอบตัว แล้วไอเดียก็จะเกิดจากสิ่งเหล่านั้นถึงวันนึงถ้าเราอินกับตรงนั้นจริงๆ เราก็จะเริ่มลงมือทำและผลักดันมันจริงๆ” ภัสทิ้งทายถึงการเริ่มต้นหาไอเดียในการสร้างนวัตกรรม

“โตไปไม่โกง Next Level” แพลตฟอร์มร้องเรียนและปลูกจิตสำนึก active citizen สำหรับเยาวรุ่น

เคยไหมกับการเห็นปัญหาน่าขมวดคิ้วในโรงเรียน แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร จะเปล่งเสียงออกไปก็กลัวราคาที่ต้องจ่าย จะให้เก็บเอาไว้ก็อึดอัดใจจะแย่!

แพร – พิมพิศา จันทราศรี และไข่มุก – ธัญญาเรศ ทับทิมศรี นิสิตสาขานวัตกรรมการท่องเที่ยว ปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน 2 เพื่อนซี้เลยจับมือเสนอโปรเจ็กต์ “โตไปไม่โกง Next Level” แพลตฟอร์มสำหรับการร้องเรียนปัญหาการกระทำผิดในสถานศึกษาแบบไม่ระบุตัวตนผู้แจ้ง โดยจะมีตัวแทนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งจากนักเรียน-นักศึกษา สถานศึกษาต้นสังกัด กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่อง มาร่วมแก้ปัญหา ค้นคว้าความจริงกันอย่างโปร่งใสและเป็นระบบ

กว่าจะถึงวันนี้ที่ “โตไปไม่โกง Next Level” คว้าใจกรรมการได้รางวัลชนะเลิศร่วมประเภทบรรษัทภิบาล (Governance) ในโครงการ “ปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก” (Hacks to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching)

แพร – พิมพิศา จันทราศรี และ ไข่มุก – ธัญญาเรศ ทับทิมศรี

ไข่มุกเล่าย้อนให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นของการสมัครโครงการนี้เกิดขึ้นหลังเธอเลื่อนหน้าจอเฟซบุ๊กจนสะดุดตากับโปสเตอร์โครงการ ประกอบกับเคยมีประสบการณ์ในการประกวดแข่งขันและได้รับประสบการณ์ล้ำค่าเลยไม่รีรอที่จะชักชวนแพรเข้ามาสมัครในหัวข้อ Governance พร้อมกับตีโจทย์ออกมาในประเด็นที่เธอทั้งสองมั่นใจว่ารู้ลึก รู้จริง

“ทีมแพรคิดต่อยอดจากโครงการ ‘โตไปไม่โกง’ ของรัฐบาลที่เคยทำตอนปี 2559 ซึ่งปลูกฝังจิตสำนึกเด็กในช่วงอายุอนุบาลถึงประถมศึกษา แพรเป็นคนที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้ แล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้ปลูกจิตสำนึกเท่าที่ควร เพราะว่าไม่ได้ใช้จริงเท่าไหร่ โตมาเราก็เจอสังคมอีกรูปแบบนึง และก็ทำให้เราลืมตอนช่วงเด็กว่าเราถูกสอนมายังไง” แพรเกริ่นถึงจุดเริ่มต้นของไอเดีย ขณะที่ไข่มุกเสริมว่าส่วนมากโครงการโตไปไม่โกงแบบดั้งเดิมเป็นการดูคลิปวิดีโอต้านโกงที่ยังไม่กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำในอนาคต

ทั้งสองเลยออกแบบนวัตกรรมให้เป็น “โตไปไม่โกง next level” ด้วยการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นมัธยมศึกษาถึงนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีความคิดความอ่านในการแยกแยะ และเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้ใหญ่ ปรับให้เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้งานสามารถแจ้งปัญหา ส่งเสียงสะท้อนถึงความอยุติธรรม เพื่อเป้าหมายในการปูฟื้นฐานปลูกฝังจิตสำนึกในการรักความเป็นธรรม ตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของตนเอง

“ความจริงเราครอบคลุมปัญหาที่จะแจ้งทุกอย่าง ไม่ใช่ปัญหาแค่นักเรียนโกงข้อสอบ มันมีปัญหาเรื่องค่าอาหารกลางวัน การล่วงละเมิดทางเพศ (sexual harassment) สามารถแจ้งได้หมดเลย เราตั้งใจจะให้นำร่องในสถานศึกษาก่อน เพราะเราก็เป็นนักศึกษา และทำงานในองค์กรหนึ่งในมหาวิทยาลัยเลยเห็นปัญหาที่เกิดมาตลอด เราเห็นว่าแม้องค์กรของเราจะเทกแอกชั่น (take action) แต่นิสิตนักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยน้อยคนจะรู้ถึงการจัดการ บางคนไม่รู้ว่าปัญหาที่เขาเจอสามารถแจ้งองค์กรได้เลยอยากผลักดันเรื่องการรับรู้สิทธิ รวมทั้งผลักดันหน้าที่ของสภานักเรียน สภามหาวิทยาลัยให้เข้ามามีส่วนร่วมได้” แพรเล่าด้วยสายตามุ่งมั่นและเสริมว่าข้อดีของการที่สภานักเรียน สภานักศึกษาใช้แพลตฟอร์ม “โตไปไม่โกง next level” เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาจะช่วยให้ตัวแทนนักเรียนนักศึกษามีความมั่นใจในการทำงาน และเมื่อประสบความสำเร็จจะมีแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือสังคมต่อไป ขณะที่ผู้แจ้งก็จะตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง และกล้าร้องเรียนเรื่องราวทุจริตในสังคมภายนอกรั้วสถานศึกษา

“โตไปไม่โกง next level”

นอกจากรางวัลชนะเลิศที่ได้รับ ระหว่างการทำงานพวกเธอยังได้รับของขวัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจในปัญหาการศึกษามากยิ่งขึ้น ได้เจาะลึกถึงอินไซต์ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น เรื่องเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน, เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของนักเรียนที่ส่งผลให้โรงเรียนถิ่นทุรกันดารที่มีนักเรียนน้อยไม่มีงบประมาณในการปรับปรุง เป็นต้น ได้คำแนะนำจากคณะกรรมการที่มีประสบการณ์เจนจัดในสนามการทำงานจริง หรือกระทั่งได้ปรับมุมมองต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

“ปัญหาบางอย่างมันดูไม่เมกเซนส์ แต่พอเข้าไปศึกษาก็รู้สึกว่าบางองค์กรทำงานโอเคแล้ว แค่ตอนแรกเราไม่รู้กระบวนการ (process) เท่านั้นเอง เราไม่รู้ระหว่างทาง เรารู้แค่ปัญหาและปลายทางที่เขาแก้เลย พอเจาะเข้าไปตรงกลาง ก็เข้าใจเหตุผล” แพรเล่าให้เราฟังและเสริมถึงอนาคตของแพลตฟอร์มร้องเรียนในรั้วสถานศึกษาสามารถต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มร้องเรียนภายในองค์กรไปจนถึงแพลตฟอร์มร้องเรียนสำหรับประชาชนทั่วไป

ในช่วงท้ายไข่มุกเล่าถึงความประทับใจว่าเป็นเรื่องดีที่มีเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้กล้านำเสนอไอเดียที่จะเปลี่ยนโลก พร้อมกับชักชวนคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมคิดโซลูชันในการสร้างโลกใบใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมเริ่มด้วยการกล้าที่จะคิดและตั้งคำถาม ปรับมุมมองออกจากกรอบที่สถานศึกษาหรือครอบครัวกำหนด เพื่อที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนในสังคม“แพรคิดว่าทุกคนมีวิธีแก้ปัญหาที่แวบเข้ามาอยู่ในหัวอยู่แล้ว เหมือนเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ แต่อยู่ที่ว่าเราจะหยิบโซลูชันที่แวบเข้ามาอันนี้เอาไปต่อยอดยังไง เราจะคิดต่อยอดตรงนี้ไหม หรือว่าปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ อย่างโครงการของเรามุ่งเน้นเรื่องจิตสำนึก ปลูกฝังทัศนคติให้มันดีและมีประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม เพราะเชื่อว่าทัศนคติมันสามารถเปลี่ยนโลกของคนๆ นึงได้ และก็ทัศนคติที่ดีของคนในสังคมก็จะเปลี่ยนทั้งประเทศและโลกได้ตามไป” แพรทิ้งท้าย

Published on: Aug 11, 2022

ที่มา A DAY MAGAZINE
(Visited 282 times, 1 visits today)