รวมพลังคนต่าง GEN ร่วมหาแนวทางสร้างโลกยั่งยืนด้วย Circular Economy

เอสซีจีเปิดเวที SD Symposium 2020 Circular Economy: Actions for Sustainable Future รวมพลังคนต่างวัยจากหลายมุมมองทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระดับโลก ภาคการเกษตร ธุรกิจ SME และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในแบบตัวเองสู่เป้าหมายความยั่งยืนของโลกร่วมกัน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า สภาพสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกที่ส่งผลต่อทรัพยากร รวมถึงในช่วงต้นปีที่โลกเจอปัญหา COVID-19 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบ New-Normal มีการใช้สิ่งของที่ก่อให้เกิดขยะมากขึ้น Circular Economy หรือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

เอสซีจี ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมองเห็นความจำเป็นในการชักชวนทุกคนให้มามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดงาน SD Symposium 2020 มีกลุ่มพันธมิตรที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างรวดเร็ว จาก 45 รายในปีที่ผ่านมา เป็น 180 ราย โดยปีนี้ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นทางออกแก้ปัญหาพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ การจัดการน้ำหมุนเวียน เศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการเกษตร การบริหารจัดการขยะ และ เศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาตามโมเดลเศรษฐกิจ หรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) คือการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งชีวภาพ การหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านการใช้งานและบริโภค ด้านการจัดการขยะหรือของเสีย และด้านการใช้วัตถุดิบรอบสอง

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากภาคเอกชนร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวคิดในการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาปรับใช้ในธุรกิจเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ Mr.Jacob Duer ประธานกรรมการและผู้บริหาร Alliance to End Plastic Waste (AEPW) กล่าวว่า Alliance to End Plastic Waste หรือ พันธมิตรเพื่อยุติขยะพลาสติกที่มีสมาชิกมากกว่า 50 บริษัทเพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในการแก้ปัญหาขยะระดับโลก โดยเครือข่ายจะทำงานร่วมกับไทยในโครงการ PPP Plastic เพื่อช่วยจัดการขยะพลาสติกด้วย ขณะที่ Mr. Robert Candelino ผู้บริหาร Unilever Group of Thai Companies and Inland ASEAN กล่าวว่า Unilever นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนปรับใช้กับการทำธุรกิจ โดยมีเป้าหมายภายในปี 2568 จะมีการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ 100% และลดการใช้ Virgin Plastic ลง 50% นอกจากนี้ยังมีเยาวชนต้นแบบ ด.ช.ภูมิ ตันศิริมาศ เยาวชนต้นแบบ นักจัดการขยะรุ่นจิ๋ว ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจเรื่องการจัดการขยะจากหนังสือ “The Story of Stuff” จุดเริ่มต้นของการสร้าง Mission: To Green เพื่อลดการใช้พลาสติกและการจัดการขยะในชีวิตประจำวัน

การจัดงาน SD Symposium 2020 ในปีนี้ยังมีความพิเศษด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นทางออกแก้ปัญหาพื้นฐาน 4 ด้าน โดยมีสมาชิกมากกว่า 200 คนร่วมระดมสมองเพื่อเสนอแนวทางแก้ไข

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึง แนวคิดเรื่อง “การจัดการน้ำหมุนเวียน” ซึ่งเป็นทางออกสำหรับแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อใช้น้ำต้นทุนที่น้อยให้คุ้มค่า พร้อมเสนอ 2 แนวทาง ได้แก่ การขยายความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือชุมชน และการกระตุ้นให้เกิดการขยายผลรวดเร็วขึ้นโดยอาศัยการสนับสนุนของภาครัฐ ขณะที่ นายบุญมี สุระโคตร ประธานเครือข่ายเกษตรแปลงใหญ่ระดับประเทศ มองว่าสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคการเกษตร คือการพัฒนาเกษตรกรด้วยการเสริมทักษะที่ยังขาด เช่น การนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสร้างเกษตรกรต้นแบบแต่ละตำบล

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์

นางสาวนนทิกานต์ อัศรัสกร นักธุรกิจ Next Gen ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ลฤก”พวงหรีดเสื่อ มองว่าคนรุ่นใหม่ยังขาดความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หากเปลี่ยนจากมุมมองว่าพลาสติกเป็นขยะ เป็นการนำมาใช้ประโยชน์ซ้ำ ๆ เช่น รีไซเคิลเพื่อทำเสื่อและต่อยอดเป็นพวงหรีดทำให้ไม่เกิดเป็นขยะหลังการใช้งาน ในส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้าง นายประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า โดยทั่วไปขยะจากการก่อสร้างคิดเป็น 20-25% ของวัสดุที่ใช้ การแก้ปัญหาควรเริ่มที่ต้นทางด้วยการออกแบบไม่ให้มีเศษวัสดุเหลือทิ้ง ขณะที่ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างควรมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ในส่วนของภาครัฐ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มองว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ภาครัฐมีแนวทางสนับสนุนในหลายเรื่อง เช่น มีสิทธิพิเศษทางภาษี ปรับกฎหมายให้มีความสอดคล้อง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ

นางสาวนนทิกานต์ อัศรัสกร นักธุรกิจ Next Gen ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ลฤกพวงหรีดเสื่อ
นายบุญมี สุระโคตร ประธานเครือข่ายเกษตรแปลงใหญ่ระดับประเทศ
นายประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
(Visited 523 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว