เอสซีจี ร่วมสร้าง Inclusive Society ปั้นชุมชนพึ่งพาตนเอง ฟื้นน้ำ สร้างป่า พัฒนาอาชีพมั่นคง มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน

เอสซีจี ขับเคลื่อน  Inclusive Society ปลุกพลังชุมชน จัดงาน SCG “The Possibilities for Inclusive Society – เติบโตไปด้วยกัน…กับโลกที่ยั่งยืน” ชูแนวคิดระเบิดจากข้างใน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ผ่าน 4 ตัวแทนผู้นำชุมชน

นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีมีแนวคิดที่จะทำให้คนในชุมชน สังคม ปรับตัวเพื่อตอบรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลง และกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะการขาดแคลนอาหาร โดยการเรียนรู้จากหน่วยงานอื่น ที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ รวมทั้งศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อฟื้นฟูป่าสีเขียว สร้าง Inclusive Society ให้เกิดขึ้นจริง มีการเข้าไปพูดคุยกับชุมชน นำความต้องการของคนในพื้นที่มาสานต่อ พร้อมเดินหน้าตามแนวทางการฟื้นน้ำ สร้างป่า พัฒนาอาชีพมั่นคง ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี และสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ

นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี

ที่ผ่านมาเอสซีจีได้ดำเนินโครงการ ‘รักษ์ภูผามหานที’ ตอบโจทย์การฟื้นน้ำ สร้างป่า โดยถ่ายทอดแนวทาง การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ให้ชุมชนนำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำกิน น้ำใช้ และมีน้ำเพียงพอสำหรับทำเกษตรกรรม รวมทั้งจับมือกับชุมชนดูแลระบบนิเวศให้สมบูรณ์และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตั้งเป้าหมายปลูก ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า 3 ล้านไร่ในปี 2593 ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 5 ล้านตันต่อปี

อีกหนึ่งโครงการที่เอสซีจีดำเนินการต่อเนื่องคือ ‘พลังชุมชน’ พัฒนาศักยภาพชุมชน แก้จนด้วยความรู้คู่คุณธรรม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าท้องถิ่น ทำให้สินค้ามีอัตลักษณ์และตอบโจทย์ตลาด จนถึงปัจจุบันสร้างอาชีพไปแล้ว 4,942 คน สร้างรายได้เพิ่มกว่า 4-5 เท่า เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง 24 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งยังพัฒนาอาชีพที่สอดคล้อง กับความต้องการของตลาด อาทิ โครงการสุภาพบุรุษนักขับของ ‘โรงเรียนทักษะพิพัฒน์’ จัดหลักสูตรฝึกอบรมขับรถบรรทุก ให้ผู้ว่างงานเป็นพนักงานขับรถบรรทุกมืออาชีพ  ‘แพลตฟอร์มคิวช่าง’ เปิดศูนย์ฝึกอบรมช่าง Q-CHANG ACADEMY เพื่อพัฒนาทักษะและยกระดับอาชีพช่างในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทักษะด้านความรู้ อารมณ์ การเข้าสังคม และธุรกิจ

โครงการ ‘พลังชุมชน’ พัฒนาศักยภาพชุมชน แก้จนด้วยความรู้คู่คุณธรรม

ขณะเดียวกันเอสซีจี ยังเดินหน้าสร้างสุขภาวะที่ดี ผ่านโครงการ ‘แพทย์ดิจิทัล ดูแลผู้ป่วยทางไกล’ ด้วยนวัตกรรม DoCare ระบบ Tele-monitoring และ Telemedicine ที่ทำให้คนในชุมชนห่างไกลสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล

นอกจากนี้ยังสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ซึ่งเป็นความร่วมมือบูรณาการระหว่างรัฐ-เอกชน-ประชาชน เปลี่ยนจังหวัดสระบุรีให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้จังหวัดอื่น ๆ เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608”

นายชนะ กล่าวเสริมว่า “การดำเนินงานให้เกิดประสิทธิผล ต้องประกอบด้วย 1. มีนโยบายชัดเจน  2. นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การใช้ AI มาทำการสำรวจตลาด  3. หาแหล่งเงินทุนมาช่วยสนับสนุน พร้อมกันนี้ยังต้องสร้างพฤติกรรมใหม่ ให้กับคนในชุมชน ด้วยการลด ละ เลิก เริ่มตั้งแต่หวย แอลกอฮอล์ การพนัน ยาเสพติด เป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อนำเงินมาตั้งหลัก และ 4. ทำให้มีกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่สามารถทำซ้ำ ๆ แล้วส่งต่อได้ ด้วยการระเบิดจากข้างใน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

โครงการ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ความร่วมมือบูรณาการระหว่างรัฐ-เอกชน-ประชาชน

ภายในงาน SCG “The Possibilities for Inclusive Society – เติบโตไปด้วยกัน…กับโลกที่ยั่งยืน” ที่จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่เอสซีจี บางซื่อ นอกจากการนำสินค้าในชุมชนต่าง ๆ ในโครงการ ‘พลังชุมชน’ มาส่งต่อถึงมือผู้บริโภคแล้ว ยังขยายแนวคิด และองค์ความรู้สู่คนในเมือง พร้อมส่งต่อพลังบวก ผ่านเรื่องเล่าจาก 4 ตัวแทนผู้นำชุมชน ใน 4 แนวทาง กับเรื่องราวที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย การฟื้นน้ำสร้างป่า การพัฒนาอาชีพมั่นคงจากหัตถกรรม ขยะชุมชนเชื่อมคนสองวัย และแพทย์ดิจิทัลช่วยผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล

เริ่มจากนางวันดี อินทรพรม กำนันตำบลแกลง จังหวัดระยอง ผู้เปลี่ยนความแห้งแล้งของเขายายดา ให้เป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยง ชุมชนมาบจันทร์ ด้วยการ‘สร้างฝายชะลอน้ำ สร้างแนวกันไฟ ทำงานร่วมกับเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) และยังเข้าไปให้คำปรึกษา ให้ความร่วมมือกับชุมชนรอบเขายายดาในการสร้างฝายชะลอน้ำ เริ่มต้นจากเพียง 1-2 ชุมชนในปี 2550 ก่อนจะขยายเป็นเครือข่าย การสร้างฝายชะลอน้ำรอบเขายายดา จนชาวบ้านเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของป่าที่กลับมาเขียวชอุ่ม และไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นในฤดูแล้ง ขณะเดียวกันก็สร้างกฎกติกา การใช้น้ำด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ เพื่อให้ชุมชนมีน้ำกินน้ำใช้อย่างยั่งยืน

นางวันดี อินทรพรม กำนันตำบลแกลง จังหวัดระยอง

ด้านนางอำพร วงค์ษา หรือครูอ้อ ประธานศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือบ้านผาหนาม จังหวัดลำพูน หนึ่งในสมาชิก ‘โครงการพลังชุมชน’ ผู้พลิกวิกฤตของชีวิตเป็นแรงผลักดันสร้างโอกาสให้กับตัวเอง พร้อมทั้งเดินหน้า สร้างอาชีพให้คนในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ว่างงาน และผู้หญิงที่ขาดโอกาสในการทำงาน ครูอ้อพลิกวิกฤตในชีวิตตัวเอง สู่การเป็นผู้นำครอบครัว สร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยสิ่งที่ถนัดและมีใจรักผ่าน ‘งานหัตถกรรม’ ทำให้สามารถดูแลครอบครัว สร้างอาชีพให้ตัวเอง จนเป็นที่พึ่งให้ครอบครัวได้ และยังส่งมอบโอกาสไปยังชุมชนให้ได้ลืมตาอ้าปากไปด้วยกัน

นางอำพร วงค์ษา หรือครูอ้อ ประธานศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือบ้านผาหนาม จังหวัดลำพูน

นางจิตรา ป้านวัน ประธานชุมชนวังขรีวิถียั่งยืน ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ’ แก้ปัญหาขยะ สร้างความร่วมมือ และให้ความรู้เรื่องขยะ พร้อมทั้งพาไปปฏิบัติจริง ทัศนศึกษาด้วยการเก็บขยะภายในชุมชน และแวะเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้เห็นภาพวิถีชีวิตที่แตกต่างของแต่ละครอบครัว รวมถึงความยากลำบาก หลังจากนั้นคือการเชื่อมต่อเยาวชน และผู้สูงวัยให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นอกจากการพัฒนาชุมชนให้สะอาดน่าอยู่ มุ่งสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ ยังช่วยสร้างอาชีพ เพิ่มพลังชีวิตให้กับเยาวชนและผู้สูงอายุด้วย

นางจิตรา ป้านวัน ประธานชุมชนวังขรีวิถียั่งยืน

หญิงแกร่งคนสุดท้ายคือ นางนิโลบล ลิจุติภูมิ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานบริการ ด้านปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ผู้ผลักดันให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลได้รับการรักษาที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข ด้วยการใช้เทคโนโลยีแพทย์ดิจิทัลจากโครงการ ‘แพทย์ดิจิทัล ดูแลผู้ป่วยทางไกล’ ประสิทธิผลของโปรแกรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ด้วยชุดบริการส่งเสริมสุขภาพรูปแบบใหม่ สำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานในหน่วยบริการปฐมภูมิ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี

นางนิโลบล ลิจุติภูมิ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานบริการ ด้านปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี

Inclusive Society ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของเอสซีจี ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน มุ่งสู่เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งด้านการศึกษา อาชีพ และสุขภาวะ 50,000 คน ภายในปี 2573 โดยทั้งหมดเกิดจาก ความร่วมมือของพนักงาน เครือข่าย พันธมิตร และชุมชน ที่มีแนวคิดเดียวกันว่า เส้นทาง ‘การพัฒนา’ ไม่มีวันสิ้นสุด เราต้องเรียนรู้และปรับตัว ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ เพื่อร่วมกันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ของผู้คนในสังคม ควบคู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

Published on: Jul 2, 2024

(Visited 23 times, 3 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว