เอสซีจีร่วมมือศิริราช เร่งขยายห้องไอซียูโมดูลาร์เพิ่ม 20 เตียง ช่วยญาติอุ่นใจ ผู้ป่วยวิกฤตปลอดภัย

เอสซีจี ผนึกกำลังโรงพยาบาลศิริราช ระดมทุกหน่วยงานเร่งสร้างนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ รับมือการขาดแคลนห้องไอซียูในโรงพยาบาล ช่วยขยายพื้นที่รองรับผู้ป่วยหนักที่มีจำนวนมาก ลดอัตราการสูญเสียชีวิต เพิ่มความมั่นใจลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และรศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ร่วมรับมอบนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ จากนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี พร้อมทีมผู้บริหารเอสซีจี ณ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ  72 พรรษา ตึกปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลศิริราช

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีเล็งเห็นถึงวิกฤตการขาดแคลนห้องไอซียูของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้ามารับการบริการจำนวนมาก ขณะที่ห้องไอซียู มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤตที่เพิ่มขึ้น  จึงได้เร่งสร้างนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ (MODULAR ICU) จำนวน 20 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤต และผู้ป่วยโควิดที่มีโรคประจำตัวแทรกซ้อนที่ต้องการรับการผ่าตัดและรักษาได้ทันท่วงที อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในเครือศิริราช ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ซึ่งจะช่วยสร้างความปลอดภัยและความอุ่นใจให้ผู้ป่วยและครอบครัวที่เข้ามารับการรักษา สำหรับนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์นี้  ใช้เวลาก่อสร้างด้วยเวลาที่รวดเร็ว โดย 1 อาคาร ขนาด 10 เตียง ใช้เวลาผลิตในโรงงาน 1 สัปดาห์ และติดตั้งหน้างานอีก 1 สัปดาห์  จึงทำให้สามารถรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยได้ทันท่วงที  ทั้งนี้ เอสซีจี ได้ให้การสนับสนุนการก่อสร้างทั้งสิ้น 5 ล้านบาท ภายใต้มูลค่าโครงการการก่อสร้างรวม 20 ล้านบาท

นวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ SCG

นวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ออกแบบและก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วจากการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ จากโรงงาน โดยระบบ Modular สามารถควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างตั้งแต่การออกแบบจนถึงการผลิตจากโรงงานเพื่อมาประกอบบริเวณหน้างานได้อย่างมีมาตรฐาน ถูกออกแบบตามฟังก์ชั่นการทำงานของข้อกำหนดห้อง ICU ที่มีทีมแพทย์เป็นที่ปรึกษา โดยห้องสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เหมาะสมและปลอดภัย ทั้งระบบความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM) เพื่อกำจัดเชื้อโรคและฝุ่น และระบบความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM) เพื่อจำกัดการแพร่กระจายและลดเชื้อไวรัสออกสู่ภายนอกอาคาร

พื้นที่การใช้งานแบ่งเป็น 5 ส่วน

  1. ICU ZONE สำหรับเตียงผู้ป่วยพร้อมบอกตำแหน่งระบบยังชีพต่าง ๆ ที่จะเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM)
  2. NURSING STATION ZONE สำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น MONITOR ROOM สำหรับพยาบาลที่ดูแลเฝ้าระวัง และ STAND-BY ROOM สำหรับพยาบาลที่เตรียมสวมชุด PPE พร้อมสำหรับเข้าไปดูแลผู้ป่วย ICU โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM)
  3. MEDICAL PREPARATION สำหรับจัดเก็บเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วย
  4. ANTE ROOM ขาเข้าสำหรับควบคุมความดันก่อนเข้าสู่พื้นที่ ICU Zone
  5. ANTE ROOM ขาออกแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. พื้นที่ลำเลียงผู้ป่วยเข้าและออกจากพื้นที่ ICU 2. สำหรับทิ้งขยะติดเชื้อต่าง ๆ 3. ถอดชุด PPE พร้อมทางเดินไปสู่ห้องน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่
บรรยากาศด้านในของนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์
บรรยากาศด้านในของนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์

Published on: Sep 2, 2021 

(Visited 698 times, 2 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว