เอสซีจี มุ่งมั่นทำเหมือง “แก่งคอย สระบุรี” เป็น Green Mining ต้นแบบของโลก

เอสซีจี ยืนยันว่าการทำเหมืองแร่หินปูนแก่งคอย จ.สระบุรี ได้ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม ด้วยมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบเหมืองด้วยวิธีการ SemiOpen Cut ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยเว้นพื้นที่ตลอดแนวขอบเหมืองถึงร้อยละ 60 เพื่อเป็นพื้นที่สีเขียว (Buffer Zone) ซึ่งจะสามารถป้องกันและลดผลกระทบต่อชุมชนทั้งในด้านฝุ่นและเสียง ทั้งยังคงทัศนียภาพภายนอกของภูเขาไว้ให้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด

ขณะเดียวกันยังศึกษาและดำเนินการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ โดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ พร้อมกับการทำเหมืองโดยใช้นวัตกรรมที่ดีที่สุด อีกทั้งยังวางแผนและดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมือง เพื่อคืนความสมดุลให้ระบบนิเวศตลอดจนส่งเสริมชุมชนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เหมืองแร่หินปูนแก่งคอย จ.สระบุรี ของเอสซีจีได้รับการยอมรับและเป็นต้นแบบในระดับสากลว่าเป็นการบริหารจัดการเหมืองสีเขียว (Green Mining) อย่างแท้จริง

นายชนะ ภูมี Vice President Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า การทำเหมืองแร่หินปูนแก่งคอย จ.สระบุรี ของเอสซี ดำเนินการภายใต้แนวคิด “โรงงานอยู่ที่ไหน ป่าต้องเขียวที่นั่น” โดยนำแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในกระบวนการบริหารจัดการ พร้อมทั้งให้การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดของกฎหมายตลอดจนข้อปฏิบัติสากลอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเอสซีจี ได้พัฒนานวัตกรรมการออกแบบการทำเหมืองแร่หินปูนแก่งคอย จ.สระบุรี รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Semi- Open Cut ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคนิคการทำเหมืองแบบการตัดยอด (Open Cut) และการขุดตัก (Open Pit) โดยจะเว้นพื้นที่ตลอดแนวขอบเหมืองมากถึงร้อยละ 60 ให้เป็นพื้นที่สีเขียว (Buffer Zone) เพื่อเป็นกำแพงป้องกัน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำเหมือง เช่น ควบคุมทิศทางของฝุ่นแรงสั่นสะเทือน เสียง และการปลิวของหินไม่ให้ออกสู่ภายนอกเหมือง อีกทั้งยังช่วยในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ดั้งเดิม เนื่องจากแนว Buffer Zone จะสามารถใช้เป็นต้นแบบในการฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังจากการทำเหมือง ที่สำคัญยังเป็นการรักษาทัศนียภาพภายนอกของภูเขาและธรรมชาติให้คงสภาพสมบูรณ์ไว้ให้ได้มากที่สุด

ไม่เพียงเท่านั้น เอสซีจียังนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยเข้ามาใช้พิจารณาในการทำเหมืองแร่หินปูนแก่งคอย จ.สระบุรี ทุกขั้นตอน เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อทั้งธุรกิจสิ่งแวดล้อม และสังคม ตั้งแต่การวางแผนทำเหมือง (Mine Planning) ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ที่ดีที่สุดมาใช้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด ทั้งยังได้วางแผนการฟื้นฟูเหมืองและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่ไปกับการดำเนินการตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปดำเนินงาน โดยได้กำหนดกรอบแผนงานการฟื้นฟูเหมือง ด้วยหลักการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ หลักวนวัฒน์วิทยาการคัดเลือกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น หลักการพรรณไม้โครงสร้าง (Framework Species Method) ผสมผสานกับเทคโนโลยีวิศวกรรมเหมืองแร่ และได้มีการกำหนดแผนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับหน่วยงานด้านวิชาการหลายองค์กรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ในการศึกษาวิจัยและทดลองเทคนิควิธีการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ จ.สระบุรี เพื่อทำเหมืองแร่หินปูนนั้น เอสซีจี ได้ขออนุญาตตามขั้นตอนและข้อกำหนดของทางราชการอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการทุกราย โดยเฉพาะกฎหมายควบคุม 2 ฉบับ คือ ประทานบัตรเหมืองแร่ จากกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีอายุสูงสุด 25 ปี ซึ่งเอสซีจีได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2554 – 2579 ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ซึ่งถือเป็นประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ส่วนอีกฉบับ คือ หนังสือขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่จากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอายุไม่เกิน 10 ปี ซึ่งเอสซีจีได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2544-2554 และได้ขอต่ออายุหนังสือดังกล่าวต่อกรมป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507

เอสซีจียืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ดูแลและรับผิดชอบในการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขออนุญาตอย่างเคร่งครัดและถูกต้องครบถ้วน และได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพและปริมาณสำรองที่สามารถทำเหมืองได้ ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความเห็นให้บริษัทฯ ได้รับการพิจารณาผ่อนผันให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ และเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อทำเหมืองแร่หินปูนต่อไปอีกด้วย

(Visited 1,775 times, 1 visits today)