เอสซีจี แถลงผลประกอบการไตรมาส 2 และครึ่งแรกของปี 2565 การเงินแข็งแกร่ง เร่ง 5 กลยุทธ์ ฝ่ามรสุมวิกฤติซ้อนวิกฤติ เงินเฟ้อ-ราคาพลังงานพุ่ง-โลกรวน

กรุงเทพฯ : 27 กรกฎาคม 2565 – ผลประกอบการเอสซีจี ไตรมาส 2 ปี 2565 ยอดขายยังโตต่อเนื่อง แม้กำไรจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงาน การเงินแข็งแกร่ง ปันผล 6 บาทต่อหุ้น ขึ้น XD 10 ส.ค.นี้ ชู 5 กลยุทธ์ รับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก 1.) รัดเข็มขัด ลดต้นทุน เร่งเพิ่มเชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ 2.) ผลักดันนวัตกรรม สินค้าและบริการใหม่ๆ ต่อเนื่อง 3.) เพิ่มสภาพคล่องการเงิน 4.) คุมเข้มการลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ เผย LSP คืบหน้าร้อยละ 96 ลงทุนธุรกิจรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์รายใหญ่เนเธอร์แลนด์ 5.) เร่ง ESG ดันนวัตกรรมรักษ์โลก เดินหน้าฝึกอาชีพ ลดเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้มั่นคง

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “แม้สถานการณ์ทั่วโลกยังมีความผันผวน เป็นภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย ต้นทุนพลังงาน-วัตถุดิบเพิ่มสูง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) แต่เอสซีจีได้เร่งปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจและสถานะการเงินของเอสซีจียังคงแข็งแกร่ง เร่งนวัตกรรม สินค้าและบริการ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ฉลาก SCG Green Choice รวมทั้งนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งด้านความปลอดภัย สะดวกสบาย รับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการจากการเปิดประเทศ ในขณะเดียวกัน ยังพิจารณาการลงทุนอย่างเข้มงวด ชะลอโครงการใหม่ที่ไม่เร่งด่วน มุ่งโครงการที่สามารถสร้างผลตอบแทนเร็ว และเป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตในระยะยาว ทั้งโครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP ที่เวียดนาม และการลงทุนของ SCGP ในธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ ในเพอเธ่ (Peute) ผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์

5 กลยุทธ์ รับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก

งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2565 มีรายได้จากการขาย 152,534 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด โดยมีกำไรในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เท่ากับ 9,937 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 42 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจเคมิคอลส์ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมของธุรกิจเคมิคอลส์ลดลง อย่างไรก็ตาม กำไรในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากไตรมาสก่อน จากเงินปันผลรับจากการลงทุนในธุรกิจอื่น

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2565 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 305,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรในครึ่งแรกของปี 2565 เท่ากับ 18,781 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง อนึ่ง ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ธุรกิจปิโตรเคมีได้รับอานิสงส์จากวิกฤติฤดูหนาวที่รุนแรงในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้กำลังการผลิตในตลาดโลกลดลง

ครึ่งปีแรกของปี 2565 เอสซีจีมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 104,332 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของรายได้จากการขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) และ Service Solution เช่น ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Hybrid Cement) และ กระเบื้องยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย (Hygienic Tiles)  คิดเป็นร้อยละ 17 และ 5 ของรายได้จากการขายรวม ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในครึ่งปีแรกของปี 2565 ทั้งสิ้น 135,822 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีมูลค่า 903,137 ล้านบาท โดยร้อยละ 45 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากประเทศไทย)

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกของปี 2565 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

  • ธุรกิจเคมิคอลส์ หรือ SCGC ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีรายได้จากการขาย 66,789 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจมีปริมาณการขายลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 3,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 64 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
    สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2565 SCGC มีรายได้จากการขาย 135,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 7,292 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 62 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง
  • ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีรายได้จากการขาย 52,881 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลยุทธ์การขายสินค้า ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและภูมิภาค ซึ่งได้ช่วยชดเชยกับความต้องการสินค้าที่ชะลอตัวลง และส่งผลกระทบกับยอดขายในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,668 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากต้นทุนพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ลดลงร้อยละ 28 จากไตรมาสก่อน
    สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2565 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 103,771 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 3,976 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • SCGP ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีรายได้จากการขาย 37,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Business) ในกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะประเทศเวียดนาม และการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ ของโครงการขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศฟิลิปปินส์ (UPPC 3) การปรับราคาสินค้าให้สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเติบโตของธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Business) จากการเพิ่มขึ้นของทั้งราคาเยื่อกระดาษ และยอดขายบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,856 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากไตรมาสก่อน
    สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2565 SCGP มีรายได้จากการขาย 74,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของทุกสายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการรวมผลการดำเนินงานของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab การปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปริมาณความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษ และบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 3,514 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน”

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง เอสซีจีได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และเร่งดำเนินการภายใต้ 5 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1.) ลดต้นทุน เพิ่มพลังงานทางเลือก 2.) พัฒนานวัตกรรม สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ ต่อเนื่อง 3.) เพิ่มสภาพคล่องการเงิน 4.) คุมเข้มการลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ 5.) เดินหน้า ESG ด้วยแนวทาง ESG 4 Plus

1.) ลดต้นทุน เพิ่มพลังงานทางเลือก ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ลดของเสียจากการดำเนินงาน และเร่งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก อาทิ เชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกร้อยละ 16.4

Floating Solar Solutions

2.) พัฒนานวัตกรรม สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ ต่อเนื่อง ตลอดจนหาตลาดใหม่ เพื่อสร้างความแตกต่าง เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน นวัตกรรมเคมีภัณฑ์ อาทิ “พลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงชนิดไร้กลิ่น” (High Quality Odorless PCR) สำหรับบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกของสินค้าที่ต้องการเน้นกลิ่นหอมโดยเฉพาะ “สารเคลือบชั้นฟิล์มป้องกันการซึมผ่านของอากาศ” (Barrier Coating Technology) ช่วยทดแทนการใช้วัสดุที่หลากหลายของบรรจุภัณฑ์ ให้เหลือเพียงพลาสติกประเภทเดียวกันทั้งชิ้นงาน (Mono-Material) จึงรีไซเคิลได้ง่าย นวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยที่ดี เช่น  SCG HVAC Air Scrubber” ระบบบำบัดอากาศเสีย พร้อมลดภาระการทำความเย็นของระบบปรับอากาศ สำหรับอาคารขนาดใหญ่ ประหยัดค่าไฟได้ร้อยละ 20-30 “กระเบื้องยับยั้งแบคทีเรีย ก๊อกน้ำและสุขภัณฑ์ไร้สัมผัส และสุขภัณฑ์เคลือบสาร Ultraclean+” จาก COTTO Health& Clean ช่วยลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย นวัตกรรมการก่อสร้าง ภายใต้แบรนด์ “CPAC Green Solution” มุ่งใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับโซลูชันการก่อสร้างใหม่ๆ  อาทิ Farm Solution บริการออกแบบและก่อสร้างฟาร์มครบวงจร เสร็จไว ได้มาตรฐานตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio Security) และ Gas Station Solution บริการออกแบบและก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันแบบครบวงจร นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์  อาทิ “เฟสท์ ชิลล์” บรรจุภัณฑ์อาหารทำจากกระดาษ เคลือบฟิล์มลอกออกได้ สะดวกต่อการรีไซเคิลและย่อยสลายได้ ดีไซน์แข็งแรงเหมาะกับการเดลิเวอรี

“SCG HVAC Air Scrubber” ระบบบำบัดอากาศเสีย

3.) เพิ่มสภาพคล่องการเงิน ด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ให้อยู่ในระดับเหมาะสม บริหารปริมาณสินค้าคงคลังให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ติดตามการให้สินเชื่อการค้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงเสริมสภาพคล่องโดยการดำเนินการออกหุ้นกู้ ในรูปแบบ หุ้นกู้ดิจิทัล ของ SCGP ในวันที่ 1 สิงหาคม 2565

4.) คุมเข้มการลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ ทบทวนการลงทุน ชะลอโครงการใหม่ที่ไม่เร่งด่วน หรือใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะได้ผลตอบแทน มุ่งโครงการที่ได้ผลตอบแทนเร็ว และสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจ อาทิ  โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม มีความคืบหน้าตามแผนร้อยละ 96 พร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ในครึ่งปีแรกของปี 2566 ล่าสุด SCGP ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ (Packaging Materials Recycling Business) ใน Peute Recycling B.V. ผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ และลงทุนใน Imprint Energy Inc. สหรัฐอเมริกา ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับแบตเตอรี่ที่ผลิตด้วยการพิมพ์ (Printed battery) มีศักยภาพในการเติบโต สามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาขยายสู่ภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในสำหรับบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะได้ด้วย

โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม

5.) เดินหน้า ESG ด้วยแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเชื่อมั่น โปร่งใส) โดยในครึ่งปีแรกของปี 2565 มียอดขายนวัตกรรมรักษ์โลก ภายใต้ฉลาก SCG Green Choice เท่ากับ 153,240 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50 ของยอดขายรวม

เอสซีจี มุ่งลดความเหลื่อมล้ำให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยมีผู้เข้าร่วมในครึ่งปีแรกของปี 2565 จำนวน 4,366 คน ครอบคลุมใน 3 มิติ ประกอบด้วย การฝึกอาชีพสร้างรายได้ยั่งยืน เช่น เสริมทักษะให้ความรู้เพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน ฝึกอาชีพคนพิการ ฝึกทักษะช่างปรับปรุงที่อยู่อาศัย ฝึกอาชีพที่ตลาดต้องการแก่เยาวชน การยกระดับทักษะฝีมือเพื่อความมั่นคงทางอาชีพ เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้าง และการขยายโอกาสในการทำงาน เช่น ให้สินเชื่อผู้รับเหมาเพื่อเสริมสภาพคล่องซื้อวัสดุก่อสร้าง โดยบริษัท สยาม เซย์ซอน

ล่าสุด เอสซีจี จัดงาน ESG Symposium 2022 มีผู้เข้าร่วมงานที่เอสซีจีและออนไลน์กว่า 130,000 คน ผนึกความร่วมมือ 315 พันธมิตรทุกภาคส่วน แก้วิกฤติโลกรวน ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมขยายข้อสรุปจากการระดมความคิดในงาน สู่การปฏิบัติจริง ทั้งแนวทางจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือสร้างนวัตกรรมมุ่งสู่ Net Zero เพื่อเร่งทำ Roadmap การสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่ดีที่สุดมาใช้ในไทย และแนวทางความร่วมมือสร้างสังคมคาร์บอนต่ำของภาคเอกชน 60 องค์กร ครอบคลุมมิติด้านพลังงานทางเลือก เศรษฐกิจหมุนเวียน การบริโภคอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงและกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ไขวิกฤติต่างๆ ร่วมกัน

เอสซีจี มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างอาชีพ ตามแนวทาง ESG 4 Plus

นอกจากนี้ เอสซีจี ยังได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (TCA) และ Global Cement and Concrete Association (GCCA) จัดทำ “Thailand Chapter : Net Zero Cement & Concrete Roadmap” โดยได้นำเสนอในที่ประชุมสมาคมผู้ผลิตซีเมนต์รายใหญ่ระดับโลก GCCA CEO Gathering 2022 เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในธุรกิจซีเมนต์และคอนกรีตทั่วโลก

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2565 ในอัตรา 6.0 บาทต่อหุ้น เป็นเงิน 7,200 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 กำหนดผู้ที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผล (XD) ในวันพุธที่ 10 สิงหาคม  2565 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) ในวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2565” นายรุ่งโรจน์ กล่าวสรุป

 

Published on: Jul 27, 2022

(Visited 2,286 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว