นวัตกรรมขับเคลื่อนสู้ภัยทุกวิกฤติ เรื่องเล่าจากซีอีโอ “เอสซีจี”

นับเป็นช่วงเวลายาวนานมากทีเดียวที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่และมีศักยภาพสูงในภาคการผลิตสินค้าที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของประเทศ อย่างบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เก็บตัวอยู่เงียบๆภายในอาณาจักรใหญ่ยักษ์ของพวกเขาโดยไม่ออกมาข้องแวะกับสังคม

นอกจากทำหน้าที่เป็นองค์กรที่ปิดทองอยู่หลังพระ คอยให้ความช่วยเหลือแก่องค์กร และผู้คนต่างๆอยู่ข้างหลังตลอดมา เมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก และกินเวลายาวนานจนน่าจะเชื่อได้ว่า กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของระบบเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของผู้คนบนโลกยาวนานกว่า 2 ปี โชคดีที่ประเทศไทยมีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งที่สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือสู่ภาครัฐและสู่มือประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้เป็นอย่างดีในลักษณะที่ช่วยกัน คนละไม้คนละมือ ที่สำคัญ ยังบรรเทาภาระภาครัฐได้มหาศาล

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เล่าให้ ทีมเศรษฐกิจ ทราบว่า ระหว่างการต้องปฏิบัติตามมาตรการคุมเข้ม ของการป้องกันการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 และช่วยกันคิดว่า อะไรคือทางรอดที่รวดเร็วที่เอสซีจีจะช่วยรัฐและประชาชนในวงกว้างได้

นวัตกรรมขับเคลื่อนสู้ภัยทุกวิกฤติ

คำตอบคือ นวัตกรรม มันคือการระดมสมอง ความคิด ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญ เพื่อแก้ปัญหา “เอสซีจี เชื่อในสิ่งนี้ โดยเฉพาะเมื่อเรามีเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ปัญหาโควิดได้ก่อนที่วัคซีนจะมาถึง”

เอสซีจีได้ร่วมมือกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลต่างๆ พัฒนาและออกแบบนวัตกรรมที่รวดเร็ว ด้วยการทำงานแข่งกับเวลาที่เหมาะกับความต้องการของสังคมในแต่ละช่วงเวลา

“ปัจจุบันมีนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 รวมกว่า 30 นวัตกรรมที่ส่งมอบไปยังโรงพยาบาล หน่วยงาน และชุมชนต่างๆทั่วประเทศกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ” นายรุ่งโรจน์กล่าว

เมื่อเริ่มแรกของการแพร่ระบาดที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มาก เอสซีจีมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อปกป้องหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อที่มาจากการตรวจ และคัดกรองผู้ป่วย เช่น นวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Swab Unit)

นวัตกรรมไอซียูโมดูลาร์ (Modular ICU) สำหรับผู้ป่วยวิกฤตโควิด

ห้องตรวจเชื้อความดันลบ หรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber) แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ (Patient Isolation Capsule) รวมทั้งแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็กสำหรับเข้าเครื่อง CT Scan (Small Patient Isolation Capsule for CT scan) ต่อมาเมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ห้องไอซียูไม่เพียงพอ และโรงพยาบาลเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก เอสซีจีจึงพัฒนา นวัตกรรมไอซียูโมดูลาร์ (Modular ICU) ซึ่งก่อสร้างได้รวดเร็วภายใน 1 สัปดาห์ ตามมาตรฐานห้อง ICU เพื่อแยกผู้ป่วยวิกฤติโควิดออกจากผู้ป่วยวิกฤติทั่วไป

นวัตกรรมเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี (SCGP Paper Field Hospital Bed) เร่งผลิตจากกระดาษรีไซเคิล 100% เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ 35,000 เตียง ห้องน้ำสำเร็จรูป (Modular Bathroom) สำหรับโรงพยาบาลสนามที่ผลิตและติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว ทนทาน ปลอดภัย ทำความสะอาดได้ง่าย ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ จากนั้นเพื่อให้การกระจายวัคซีนสามารถเข้าถึงประชาชนได้รวดเร็วที่สุด เอสซีจี จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ฉีดวัคซีนเอสซีจี” เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป

นวัตกรรมเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี

“เทคโนโลยีดิจิทัล” คือพื้นฐานสำคัญที่ช่วยรับมือโควิดได้อย่างทันท่วงที นายรุ่งโรจน์ กล่าวด้วยว่า เอสซีจีเห็นความสำคัญเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะรู้ว่าโลกจะไปในทิศทางของดิจิทัล ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จึงได้เตรียมความพร้อมนำดิจิทัลเทคโนโลยี และออโตเมชัน มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานต่างๆ การพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถในการใช้ดิจิทัล การเตรียมแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อให้บริการรองรับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป รวมถึงเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เมื่อเกิดโควิด-19 ขึ้น พนักงานของเอสซีจีจึงปรับตัวได้ทันที สามารถทำงานแบบ work from home ผ่านดิจิทัลเทคโนโลยี ที่เชื่อมคนที่อยู่ต่างที่มาทำงานร่วมกันได้และสามารถส่งมอบสินค้า บริการ และโซลูชัน ให้ลูกค้าไปจนถึงพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ได้รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ “ถ้าไม่ได้วางพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลไว้ล่วงหน้า เราคงทำไม่ได้”

กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวด้วยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลยังสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจใหม่ โดยเอสซีจีได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยธุรกิจให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่องและพัฒนานวัตกรรมได้รวดเร็ว อาทิ การใช้เทคโนโลยี RPA (Robotic Process Automation) ควบคุมการทำงานจากทางไกล (Remote)

การใช้ซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ในขั้นตอนที่ซ้ำเดิม การใช้เทคโนโลยีดีไซน์เตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี รวมถึงการต่อยอด เทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) ที่นำ Construction Technology มาพัฒนาเป็นโซลูชันห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ หรือนวัตกรรมไอซียูโมดูลาร์ (Modular ICU) ซึ่งก่อสร้างได้รวดเร็วใน 1 สัปดาห์ นำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับธุรกิจ อาทิ นวัตกรรมที่ตอบโจทย์สุขอนามัย และสุขภาพที่ดีสำหรับผู้บริโภค (Health & Hygiene) เช่น “Smart Building Solution” นวัตกรรมบริหารระบบอาคาร พร้อมด้วยเทคโนโลยี IoT เพื่อช่วยปรับคุณภาพอากาศและช่วยประหยัดพลังงาน รวมถึงสินค้าที่ตอบโจทย์การประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น “Active Air Quality”

ตัวอย่างการขึ้นโมเดล 3 มิติด้วย CPAC BIM ของรพ.สนาม

สำหรับแผนธุรกิจปี 2564 เมื่อปลดล็อกถูกจังหวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี เชื่อว่าจะส่งผลให้ธุรกิจเติบโตได้ถูกเวลา แม้จะยังมีภาวะโควิด-19

ในช่วงปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้ท้าทายตนเองด้วยการทรานสฟอร์มธุรกิจครั้งใหญ่หลายๆประการ ทั้งการเปลี่ยนจาก “ผู้ผลิต” มาเป็น “ผู้สร้างสรรค์โซลูชันและนวัตกรรม สินค้า บริการ ครบวงจร ให้เหนือกว่าที่ลูกค้าคาดหวังไว้” โดยมุ่งพัฒนาพนักงานให้มีทักษะในการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อส่งมอบ “คุณค่าที่ตรงใจลูกค้า” ได้อย่างรวดเร็วและฉับไวไปจนถึงการ Unlock Growth Potential ด้วยการทำ IPO SCGP และการเตรียมศึกษาเพื่อนำธุรกิจเคมิคอลส์ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเปิดโอกาส และเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้กับธุรกิจ

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า เอสซีจี เป็นเพียงไม่กี่บริษัทในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่สามารถนำบริษัทในเครือคือบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เข้ากระจายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกหรือ IPO และประสบความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นจังหวะและความพอดีในภาวะที่ความต้องการบริโภคสินค้าบรรจุภัณฑ์ และการทำอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างมากจากผลของ New Normal

การทำ IPO ครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญของเอสซีจีในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่กล้า Spin Off ธุรกิจเป็นบริษัทจดทะเบียนเพื่อเพิ่มศักยภาพฐานะการเงินที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อใช้ขยายการลงทุนต่อไป

เอสซีจี ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์ รวมถึงการเสนอขายหุ้น SCG Chemicals ต่อประชาชนทั่วไป เพื่อรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565

ธุรกิจเคมิคอลส์ มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แตกต่างจากคู่แข่ง เห็นได้จากผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับเวิลด์คลาส

SCG X Sirplaste บุกตลาดพลาสติกรีไซเคิลยุโรป

ขณะที่โครงการปิโตรเคมีครบวงจรที่เวียดนาม มีความคืบหน้าอย่างดียิ่ง หรือ การมีเครือข่ายความร่วมมือกับนักวิจัยและสถาบันชั้นนำระดับโลก ที่ไม่ใช่การทำนวัตกรรมร่วมกันเท่านั้น แต่เป็นความสามารถในการยกระดับความร่วมมือที่ไกลยิ่งกว่า เช่น การมีเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และแอสตร้าเซนเนก้า จนนำไปสู่การเลือกไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนามคืบหน้าตามแผน 76% โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 2566 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างการเติบโตระยะยาว

เอสซีจี ได้ปรับแผนธุรกิจปี 2564 ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อน และเสริมแกร่งธุรกิจตลอดซัพพลายเชน เพื่อยกระดับวงการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย มุ่งผลิตสินค้าบริการที่ตอบรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เช่น การ Work From Home ทำให้ลูกค้ามีเวลาอยู่บ้าน และสนใจปรับปรุงบ้านมากขึ้น

การทำ Active-OmniChannel หรือการเชื่อมโยงกับลูกค้าทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรอบด้านทุกที่ทุกเวลา รวมถึงการให้บริการโซลูชันการก่อสร้าง (Construction Solutions) ที่แก้ปัญหาให้ช่างและผู้รับเหมา ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ประหยัดต้นทุน ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น BIM มาช่วยวางแผนการใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้าง

Omni-Channel

การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมทั้งหมด ทำให้เอสซีจีสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ที่ควบคู่ไปกับภารกิจช่วยเหลือประเทศชาติและประชาชน ได้อย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่หลวงนี้.

ไทยรัฐออนไลน์ 21 มิ.ย. 2564

(Visited 587 times, 1 visits today)