ไทยพร้อมแค่ไหน? เมื่อต้องเร่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

การผลักดันใช้พลังงานสะอาด เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อยับยั้งภาวะโลกเดือด และพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 โดยเวทีสัมมนาและเสวนาร่วมกันสะท้อนความพร้อมและแนวทางเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน (Energy Transition) ของรัฐ เอกชน และประชาชน พร้อมหาข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในงาน ESG Symposium 2023: Accelerating Changes towards Low Carbon Society ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ“ ที่จะจัดขึ้นวันที่ 5 ตุลาคม 2566

ปรับแผนพลังงานแห่งชาติ– PDP 2023 เริ่มใช้พลังงานทดแทน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน บรรยายพิเศษหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืนของประเทศไทย” กล่าวว่า การใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทยมีไม่มากนัก โดยภาคไฟฟ้ายังใช้พลังงานฟอสซิลถึง 53% ส่วนพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนใช้ราว 10% ขณะที่ภาคขนส่งมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพียง 2% ซึ่งตามแผนพลังงานแห่งชาติในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Thailand Future Green Energy Policy) ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาดในสัดส่วน 50% และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือประหยัดพลังงานในสัดส่วน 30% มีการผลิตรถ EV สัดส่วน 30% จากยอดทั้งหมดประมาณ 1.2 ล้านคัน (รวมรถจักรยานยนต์และรถกระบะ) ภายในปี 2030 โดยได้จัดตั้งคณะทำงานนำคนรุ่นใหม่ของทุกกรมในกระทรวงพลังงาน รวมทั้ง กฟผ. และ ปตท. มาผนึกกำลังร่วมกันคิดกับภาคเอกชน เพื่อเตรียมนำเสนอแผนพลังงานแห่งชาติต่อรัฐบาลใหม่

พร้อมทั้งปรับแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะยาวฉบับใหม่ หรือ PDP (Power Development Plan) ฉบับ 2023 เตรียมนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ คาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2024 โดยจะทบทวนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า และทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนโรงงานไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะทำให้มีพลังงานสะอาดมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยี CCS และ CCUS นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (Waste) เช่น ใบไผ่ ใบอ้อย ซังข้าวโพด ทลายปาล์ม นำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ตลอดจนมีมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเฉพาะในส่วนของรถกระบะ และแบตเตอรี่ที่มาตรการสนับสนุนยังค้างอยู่

สร้างระบบเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่ง-หาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน

บรรยากาศภายในงาน

สำหรับสิ่งที่ต้องทำไปเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนคือ การหาเทคโนโลยีในการกักเก็บ เนื่องจากพลังงานทดแทนยังไม่ค่อยมีเสถียรภาพ และมีระบบเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่ง (Grid Modernization) ให้รองรับอย่างเพียงพอในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพในการนำไปใช้ นอกจากนี้ ต้องทำเรื่อง Data Center และ IOT เก็บข้อมูลการผลิต การซื้อขายพลังงานทดแทนเป็นแพลตฟอร์มกลาง สร้างความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าของประเทศ ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการทุกอย่างตามแผนจะนำไปสู่การเป็น “สมาร์ทซิตี้” ด้านพลังงานสะอาด โดยมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นโครงการนำร่อง ผลักดันให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทน 100% ในการดำเนินธุรกิจ บนพื้นที่กว่าแสนไร่ เน้นในอุตสาหกรรมที่อียูประกาศใช้มาตรการ CBAM ในขณะที่การซื้อขายไฟฟ้าจะมีการปรับเปลี่ยน โดยศึกษาการนำระบบซื้อขายไฟฟ้าตรงไม่ผ่านกฟผ. (Direct PPA) และความเป็นไปได้ในการแยกสายส่งที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นพลังงานสะอาด 100% โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานยังได้ร่วมกับกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรมควบคุมสภาพภูมิอากาศ ศึกษาเรื่องการเก็บภาษี “Carbon TAX”

มาตรการรัฐต้องเอื้อเอกชนเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

บรรยากาศภายในงาน

สำหรับการเสวนา “การปลดล็อกความท้าทายเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของประเทศ” โดยตัวแทนจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความเห็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มพลังงานไฟฟ้า กลุ่มพลังงานอุตสาหกรรม และกลุ่มอาคาร สะท้อนเป้าหมาย และความท้าทาย ดังนี้

กลุ่มพลังงานไฟฟ้าระบุว่า ทุกคนตระหนักรู้และมีเป้าหมายมุ่งสู่พลังงานสะอาด ซึ่งความท้าทายจะเป็นเรื่องนโยบาย หรือข้อกฎหมายที่ยังไม่คล่องตัว ส่วนในเชิงเทคนิคจะต้องทำให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร เกิดความสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้ไฟฟ้า โดยต้องมีเทคโนโลยีและความพร้อมของระบบการกักเก็บไฟฟ้า (Energy Storage System) แต่ปัจจุบันเทคโนโลยียังมีราคาสูง ดังนั้น รัฐควรมีมาตรการสนับสนุนให้เอกชนลงทุนในพลังงานมากขึ้น รวมถึงต้องมีความพร้อมของการเชื่อมโยงสายส่ง (Grid Modernization) ในขณะที่เรื่องของโรงไฟฟ้าโซลาร์ รัฐต้องปลดล็อกข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น ผังเมือง และมองความเป็นไปได้ในการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดกับเพื่อนบ้าน ส่วนในฝั่งผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการนำระบบอัตโนมัติ (AI) และ IOT  เข้ามาช่วยทำให้ภาพรวมการลดคาร์บอนเป็นไปตามแผนได้เร็วขึ้น

กลุ่มพลังงานอุตสาหกรรม มองว่า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยับตัวมุ่งสู่พลังงานสะอาดไปเร็วกว่าแผนของภาครัฐ โดยนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วย แต่จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับบริบทของธุรกิจ เนื่องจากราคายังสูง ซึ่งความท้าทายหลักเป็นเรื่องข้อจำกัดของกฎหมายและการกำกับ ที่จะต้องทำให้เห็นชัดเป็นภาพเดียวกัน และรัฐควรสร้างแรงจูงใจ หรือกลไกช่วยให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ นโยบายของรัฐต้องเอื้อให้เอกชนทำงานได้ง่ายขึ้น และสนับสนุนเกิดการยอมรับสินค้ากรีนตลอดห่วงโซ่การผลิตการตลาด โดยเฉพาะในฝั่งการบริโภค

กลุ่มอาคาร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีมาตรการลดการใช้และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารอยู่แล้ว โดยเฉพาะการควบคุมอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ และการใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการขยะ ผลักดันเรื่อง Zero Waste สู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งสิ่งที่อยากเห็นคือ แผนและมาตรการรองรับเรื่องพลังงานทดแทน พร้อมประกาศออกมาให้ชัดเจนให้รับรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการประหยัดพลังงาน เช่น ความร่วมมือในการปรับลดอุณหภูมิภายในอาคาร เป็นต้น และมีมาตรการสนับสนุน การเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน  ที่สำคัญควรมีการตรวจสุขภาพอาคารเก่า ด้วยว่ามีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร นอกจากนี้ รัฐควรเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่ง เพื่อเปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้โดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง  (Direct PPA)

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เร่งปรับตัว ปั้น “สระบุรี แซนด์บอกซ์” เมืองต้นแบบ

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย

ด้านนายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย บรรยายพิเศษ “การยกระดับความร่วมมือผ่าน Public Private Partnership Model ผ่าน Use case Saraburi Sandbox” กล่าวว่า อุตสาหกรรมซีเมนต์จำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้เร็ว เพราะกระบวนการผลิตซีเมนต์มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างมาก ซึ่งใน 100% ของการปล่อยคาร์บอนฯ สามารถจัดการผ่านการปรับกระบวนการผลิตได้ 60% แต่ที่เหลืออีก 40% จัดการได้ยาก ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอนที่ยังมีราคาแพง และใช้องค์ความรู้จากต่างประเทศ โดยการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำผู้ผลิตซีเมนต์ในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีโรงงานอยู่ในจังหวัดสระบุรีได้ร่วมกันดำเนินโครงการ “สระบุรี แซนด์บ๊อกซ์” (Saraburi Sandbox) เป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำที่เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วน และยังร่วมกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) องค์กรระดับโลกด้านอุตสาหกรรมซีเมนต์ที่มีแนวทางผลักดัน NET Zero ในอุตสาหกรรม รวมทั้งเชื่อมโยงการทำงานกับสหประชาชาติ ที่มีหน่วยงานที่ดูแลด้านความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“การทำงานร่วมกันทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกที่ GCCA ให้การรับรองโรดแมป ซึ่งการผลักดันพลังงานสะอาดเป็นการทำงานระยะยาวและมีความต่อเนื่อง ต้องขยันสื่อสารสร้างความเข้าใจ หากอยากให้รัฐช่วยก็ต้องอธิบายให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นภาพและพร้อมให้การส่งเสริม โดย Saraburi Sandbox  ถือเป็นการย่อส่วนประเทศไทยให้เล็กลงมาในการผลักดันพลังงานสะอาด ที่เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งหวังว่าจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องมองเห็นประเด็นปัญหา และเจตนาที่ผู้ผลิตซีเมนต์ในประเทศต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง” นายชนะ กล่าว

ติดตามข้อสรุปของการขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืนเพื่อพาไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำพร้อมการแชร์แนวคิด แรงบันดาลใจจากคนทำจริงระดับโลก และหลากหลายนวัตกรรม ที่งาน “ESG Symposium 2023 : Accelerating Changes Towards Low Carbon Society ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ในวันที่ 5 ตุลาคม 2566 เวลา 12.00 – 17.15 น. ที่เพลนารีฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://bit.ly/registerESG2023 หรือรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook และ YouTube ของ SCG และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.scg.com

Published on: Sep 22, 2023

(Visited 584 times, 3 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว