รวมพลังความร่วมมือของภาคเอกชน สู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

เพียงช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรารู้สึกถึงอาการป่วยของโลกใบนี้ผ่านประสาทสัมผัสทุกส่วน ถึงเวลาแล้วที่หัวหอกจากภาคเอกชนจะต้องจับมือกัน เพื่อผลักดันสังคม Low Carbon Society

โลกร้อน โลกรวน ปัญหาที่โลกแจ้งเตือนกับทุกคนว่าวิกฤตกำลังมาถึง ย่อมต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อช่วยชีวิตโลกใบนี้ให้อยู่กับทุกคนอย่างยั่งยืน

อ้างอิงจากระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบทบาทของผู้ประกอบการนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างพฤติกรรมในการบริโภค ก่อนส่งไม้ต่อสู่ผู้บริโภคเพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึกต่อไป การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำจึงเป็นหัวเรื่องจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคธุรกิจจากหลากหลายแขนง เพื่อผนึกรวมความถนัดและความตั้งใจในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างที่วาดปลายทางไว้ได้ครบทุกมิติของสังคม

คุณภราดร จุลชาต ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกเล่าเรื่องราวจากการประชุม CEO Forum : Collaboration for Low-Carbon Society

ESG Forum 2022 จึงเป็นโอกาสดีที่มีการรวมตัวซีอีโอจากกว่า 60 องค์กร มาร่วมระดมสมอง หาทางรอด เพื่อโลกที่ยั่งยืนต่อไป ผ่านการขับเคลื่อนเรื่อง ESG หรือ Environment – สิ่งแวดล้อม, Social – สังคม และ Governance – บรรษัทภิบาล จนสรุปออกมาเป็นแนวคิดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการลดคาร์บอน และความร่วมมือในการจัดการปัญหาดังกล่าวร่วมกัน

จาก CEO ทั้ง 60 องค์กร ครอบคลุมหลายภาคส่วนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการผลิต อสังหาริมทรัพย์ บริการ การเงิน หรือบรรจุภัณฑ์ เห็นพ้องต้องกันว่า สภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมหรือกิจการหรือต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางไปถึงมาก

เหตุการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้นในช่วง 5-6 ปีให้หลัง นอกจากส่งผลกระทบต่อรายได้ให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังมองมุมกลับได้ว่าเป็นเรื่องของโอกาสที่จะได้เดินไปตามทิศทางของโลกที่กำลังเกิดขึ้น แรงกดดันจากความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สามมิติทางสังคม ปรับเปลี่ยนเพื่อโลกยั่งยืน

ซึ่งทางภาคเอกชนเองก็ริเริ่มความร่วมมือเพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนผ่านการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเครือข่ายความร่วมมือ 23 องค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (CECICircular Economy in Construction Industry)  และโครงการความร่วมมือ PPP Plastics (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) สร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติก นำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล ขับเคลื่อนโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI)  องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และพันธมิตรกว่า 30 องค์กร

สามมิติทางสังคมจึงเป็นทางออกที่จะนำไทยและโลกไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ได้แก่ สังคมพลังงานสะอาด สังคมไร้ขยะ และสังคมบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งทุกมิติจะสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องผนึกกำลังทั้งภาคเอกชน และการสนับสนุนจากภาครัฐ ตั้งแต่การกำหนดแผนแม่บท การปรับเปลี่ยนกฎหมาย กฎระเบียบที่จะเอื้อให้การเดินทางไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งหมดนี้จะต้องทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ NG THAI

Published on: Aug 10, 2022 

(Visited 399 times, 1 visits today)