ดูงานให้ได้งาน ผ่านแนวคิด Circular Economy ขององค์กรต้นแบบ SCG

“SCG ไม่ได้สร้างแค่องค์กรต้นแบบ แต่สร้างคนต้นแบบให้ออกไปขยายผล”

ก่อนที่ ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President-Polyolefin and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จะเอ่ยประโยคข้างต้น THE STANDARD ชวนคุยถึงประเด็นที่ว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นของแนวคิด Circular Economy และการนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในองค์กรขนาดใหญ่ นำไปสู่บางซื่อ โมเดล ตั้งเป้าใหญ่ที่จะบริหารจัดการขยะ (Waste Management) เพื่อก้าวไปสู่การเป็น Zero Landfill และเป็นองค์กรต้นแบบที่พนักงานดำเนินชีวิตในวิถี SCG Circular Way

ศักดิ์ชัยเชื่อมั่นว่า ถ้าเริ่มต้นด้วยการจัดการความคิด ก็จัดการขยะได้ เมื่อมองกลับมาที่แนวคิดของ SCG ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ “จะเห็นว่า SCG ทำธุรกิจ ในขณะเดียวกันเราดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน นี่เป็นนโยบายหลัก ถ้าทำธุรกิจแล้วมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราก็ไม่เดินหน้าต่อ โดยเฉพาะช่วงหลายปีที่ผ่านมา วิกฤตทรัพยากรขาดแคลนและขยะล้นโลกเป็นวิกฤตเร่งด่วน SCG จึงนำแนวคิด Circular Economy มาปฏิบัติ”

อธิบายแบบรวบรัด Circular Economy คือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน คีย์หลักคือ Make-Use-Return ผลิต ใช้ และหมุนเวียนนำกลับเข้าระบบอีกครั้ง โดยผู้ผลิตจะต้องสร้างนวัตกรรม ออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ให้เป็นมิตรกับธรรมชาติ ต้องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด และต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดของเสีย เพื่อนำกลับไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียนในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม

ถ้ายังมองการปฏิบัติในรูปแบบเดิม องค์กรใหญ่ขนาดนี้หากจะปรับโครงสร้างองค์กรให้ดำรงวิถี Circular Economy ‘กฎระเบียบ’ เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุด แต่ SCG เชื่อในพลังจิตสำนึกของพนักงาน จึงเลือกสร้างองค์กรต้นแบบจากการสร้างจิตสำนึกให้กับพนักงาน “ต้องเริ่มจากระดับ Top Management ก่อน สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นถึงความจำเป็นในการนำแนวคิด Circular Economy มาปฏิบัติ และถ้าแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จจะส่งผลดีต่อตัวเขา องค์กร และโลกเราอย่างไร เมื่อระดับ Top Management เห็นภาพเดียวกัน ก็ค่อยๆ สร้างความเข้าใจภายในองค์กร เมื่อทุกคนเข้าใจตรงกัน มันก็เกิดความมุ่งมั่นและร่วมกันผลักดันให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นจริง”

SCG ไม่มีข้อบังคับกฎระเบียบใดๆ ในการลงโทษพนักงานหากไม่ปฏิบัติตามแนวคิด Circular Economy มีเพียงพลังของกฎหมู่… ที่จู่ๆ คุณจะกลายเป็นคนประหลาดในสังคมถ้าไม่แยกขยะ ในขณะที่คนอื่นๆ แยกขยะกัน “เปลี่ยนพฤติกรรมคนยากกว่าการเปลี่ยนถังขยะนะ” ศักดิ์ชัยอธิบาย “ผมนำถังขยะประเภทต่างๆ มาวาง มันก็คือถัง แต่หลังจากนั้นการจะให้คนเห็นด้วยและเปลี่ยนพฤติกรรมแยกขยะให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่เราพยายามทำต่อเนื่องมา แต่ถ้าถามว่าเรามาถึงจุดที่เราประกาศว่าเราสำเร็จทั้งหมดหรือยัง ผมคิดว่ายังต้องทำไปเรื่อยๆ แต่ถ้าถามว่าดีขึ้นไหม มันดีขึ้นมาก

นำแนวคิด Circular Economy มาสู่การปฏิบัติ
นำแนวคิด Circular Economy มาสู่การปฏิบัติ

“ตอนเริ่มต้นเราตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหารือว่าจะสร้างโมเดลอย่างไร แค่จะสรุปว่าต้องใช้ถังขยะกี่ใบยังใช้เวลาเป็นเดือนเลย และคำถามต่อมาคือ เราจะทิ้งขยะอย่างไร ต้องแยกออกมากี่ประเภท จริงๆ ถ้าแยกขยะเปียกกับขยะแห้งเราประสบความสำเร็จไปแล้ว 70% แค่ไม่เอาขยะเปียกไปผสมกับขยะแห้ง ขยะแห้งจะมีมูลค่าทันที และการแยกแยะของขยะแห้งจะง่าย แต่ถ้าทิ้งรวมกันก็จะทำให้กลายเป็นขยะไม่มีคุณภาพ

“เราบินไปถึงโยโกฮาม่า ไปดูกระบวนตั้งแต่ A-Z ว่าทำไมประเทศเขาถึงพัฒนาได้ขนาดนี้ จุดเริ่มต้นเกิดจากอะไร มีเตาเผาขยะชั้นดี สิ่งแวดล้อมดีเยี่ยมไปหมด กลับมาเพื่อจะตอบว่าเราจะแยกกี่ถัง สุดท้ายตกลงกันที่ 6 ถัง พอ D-Day ปุ๊บ เราเก็บถังขยะเดี่ยวหมด บางซื่อจะไม่มีถังขยะเดี่ยวอีกต่อไป แรกๆ ชุลมุน คนยังไม่เข้าใจว่าขยะแบบนี้จะทิ้งลงถังไหน แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เกิดการเรียนรู้ กลายเป็นพฤติกรรม พอยิ่งคนทำเยอะ ก็เกิดเป็นกฎหมู่ คุณอยู่ในสังคมนี้แล้วไม่ทำตาม คนข้างๆ ก็จะประณามเอง”

ศักดิ์ชัยยังบอกอีกว่า สิ่งที่ทำถือว่าประสบความสำเร็จเพียงเริ่มต้น เพราะ Circular Economy ต้องทำอย่างต่อเนื่องและหาแนวทางพัฒนาไปเรื่อยๆ “เราให้คณะกรรมการลงพื้นที่จริง จะได้เห็นปัญหาจริง เดินไปชั้นไหนเจอแม่บ้านก็ให้เขาพรีเซนต์เลยว่าเป็นอย่างไร เจอปัญหาอะไร หรือมีอะไรแนะนำ ส่วนใหญ่แม่บ้านจะชมว่าโครงการนี้ทำให้เขาเก็บขยะง่ายขึ้น แต่ก็ยังมีบางจุดที่ต้องปรับ เช่น แรกๆ ได้คอมเมนต์มาว่าถังเศษอาหารทิ้งยาก เวลาเปิดต้องใช้มือ มันสกปรก ก็กลายมาเป็นดีไซน์ถังใหม่ หรือเจอเศษไม้ลูกชิ้นใน Food Waste ทีมคอมมูนิเคชันก็เสนอแคมเปญเลย รณรงค์ให้คนสงสารหมูนะ ทำภาพหมูมีไม้ติดคอ เพราะ Food Waste ต้องเอาไปให้สัตว์กิน ถ้าทิ้งแบบนี้คุณกำลังทำร้ายสัตว์”

SCG มีเครื่องทำปุ๋ย เพราะต้องการนำ Food Waste ไปทำปุ๋ย และนำปุ๋ยที่ได้มาปลูกต้นไม้ภายในบางซื่อ “เราปักป้ายให้พนักงานรู้เลยว่าต้นไม้ที่เติบโตนี้เกิดจากพวกเราที่ร่วมไม้ร่วมมือทำให้เรามีปุ๋ยใช้ และสร้างความสวยงามให้เกิดขึ้น”

อ่านเพิ่มเรื่องราวทั้งหมด ได้ที่ THE STANDARD

(Visited 1,200 times, 1 visits today)