Circular Economy หมุนเวียนเพื่อเปลี่ยน “โลกให้ยั่งยืน” ความร่วมมือครั้งใหญ่จาก SCG กับทุกภาคส่วนในงาน SD Symposium 2018

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้จักและยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าระบบเศรษฐกิจนี้มีพลังในการเปลี่ยนโลกธุรกิจและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีพลังมหาศาล

นับเป็นเรื่องที่สื่อการตลาดอย่าง Marketeer ให้ความสนใจเป็นพิเศษพร้อมกับอยากรู้ว่าระบบเศรษฐกิจดังกล่าว รูปแบบและแนวคิดเป็นอย่างไร ที่สำคัญ แล้วจะเปลี่ยนโลกเศรษฐกิจได้จริงหรือ?

จึงเป็นที่มาให้เราต้องเดินทางไปรับฟังงานสัมมนา SD Symposium 2018 ที่จัดขึ้นโดย SCG โดยภายในงานได้ชักชวนองค์กรชั้นนำระดับภูมิภาคและโลกทั้ง-ภาครัฐ-ภาคประชาสังคม-ผู้ประกอบการ SMEs-สตาร์ทอัพ-ชุมชน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

ที่น่าสนใจกว่านั้นภายในงานยังมีคนมาร่วมฟังมากกว่า 1,000 คน ซึ่งเกินความคาดหมาย เพราะทุกคนที่มาในงานนี้ ต่างเชื่อว่าจะมีไอเดียเจ๋งๆ ที่จะทำให้โลกเดินทางไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืนในอนาคต

งานสัมมนา SD Symposium 2018

มารู้จัก Circular Economy กันเถอะ

แล้วเราได้เรียนรู้อะไรจากงานนี้?  สิ่งน่าสนใจที่สุดคือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ที่เป็นการปฏิวัติวงจรการผลิตจนไปถึงการบริโภค โดยรูปแบบระบบเศรษฐกิจเดิมนั้นจะเป็นเส้นตรงคือ Take-Make-Dispose ที่เป็นการนำมาผลิต บริโภค แล้วทิ้งไป ขณะที่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy คือ เน้นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้มากที่สุด ผ่านวงจร Make–Use–Return ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและนำสินค้าที่ใช้แล้วจากการบริโภคกลับเข้ามาสู่กระบวนการผลิตอีกครั้งซึ่ง รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG อธิบายว่า

“แนวคิดนี้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรของโลกในปัจจุบันได้อย่างมีคุณภาพ เพราะเป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรไว้ให้มากที่สุด ด้วยการสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และนำสิ่งที่เหลือจากการบริโภคกลับเข้ามาสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน”

โดยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ SCG นำมาประยุกต์ใช้ ณ ปัจจุบัน ผ่านการขับเคลื่อน 3 กลยุทธ์หลักๆ

1. Reduce material use และ Durability ลดการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก Green Carton ที่ใช้วัตถุดิบน้อยลงแต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม และลดการผลิตและการขาย single-use plastic ของเอสซีจี จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 23 ในรอบ 10 ปี รวมทั้งการช่วยให้ลูกค้าลดการใช้พลังงาน เช่น Active AIRflow TM System ระบบระบายอากาศภายในบ้าน อีกทางเลือกที่ช่วยให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว และประหยัดไฟจากการใช้เครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย

2. Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของเอสซีจีที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิล มาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และปูนโครงสร้างเอสซีจีสูตร Hybrid ที่ใช้ทดแทนปูนโครงสร้างสูตรเดิม ทำให้ใช้วัตถุดิบหินปูนที่ต้องเผาน้อยลง

3. Reuse และ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนที่ใช้งานแล้วให้กลับมาใช้งานได้ใหม่ เช่น โรงอัดกระดาษ (Paper Bailing Station) เพื่อรวบรวมเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล การนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน การพัฒนา CIERRATM ซึ่งเป็น Functional Material ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติกให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว (Single Material) แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์ แทนการใช้วัสดุหลายชนิด (Multi Material) ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล และเพื่ออธิบายทฤษฎีแนวคิด Circular Economy ให้เข้าใจและเห็นภาพที่ชัดเจน Marketeer ขอหยิบโมเดลโครงการบ้านปลา SCG ที่เกิดขึ้นในปี 2555 จากความร่วมมือของสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 และกลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดระยอง 

โดยเริ่มจากการนำท่อ PE 100 ที่เหลือจากกระบวนการทดสอบเม็ดพลาสติกมาประกอบเป็นบ้านปลาทรงสามเหลี่ยม ที่แข็งแรง ทนทาน อายุการใช้งานยาวนานกว่า 50 ปี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากนั้นก็ขยายไปในจังหวัดใกล้เคียงอย่างชลบุรี, จันทบุรี จนปัจจุบันมีบ้านปลามากกว่า 1,540 หลัง ทำให้ชาวประมงไม่ต้องออกเรือไปไกลที่เสี่ยงต่อพายุ แถมยังมีรายได้เพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจคือการพัฒนาต่อยอดจากบ้านปลาแบบเดิมเป็นบ้านปลารีไซเคิล ซึ่งนำขยะในทะเลและตามชายหาดมาผ่านกระบวนการขึ้นรูปใหม่เป็นท่อ และนำไปสร้างบ้านปลา

บ้านปลาจากท่อ PE100
(CHAAUM) ที่นำถุงปูนที่ทิ้งแล้วนำกลับมาผลิตให้ใช้งานได้อีกครั้งเป็นกระเป๋า

สำหรับเรื่อง Circular Economy นี้ไม่ได้มีแค่บริษัทใหญ่ๆ ที่ได้เริ่มทำกันแต่มี SMEs อีกหลายเจ้าที่ร่วมกันให้เรื่องนี้ได้เกิดขึ้น เห็นได้จากบูธ Exhibition ภายในงานที่หลายแบรนด์ได้นำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น แบรนด์ชะอุ่ม (CHAAUM) ที่นำถุงปูนที่ทิ้งแล้วนำกลับมาผลิตให้ใช้งานได้อีกครั้งเป็นกระเป๋าเก๋ๆ, RICENOW การนำข้าวที่เหลือทิ้งมาเป็นส่วนผสมในการขึ้นรูปทำช้อนซ่อม ที่เป็นการช่วยลดการใช้พลาสติกอีกทาง

Circular Economy

พลังที่ดีที่สุดคือการรวมตัวของทุกคน

แม้การจะก้าวไปสู่ระบบ Circular Economy ในช่วงเริ่มต้นอาจจะยากลำบาก แต่ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันก็สามารถเกิดขึ้นได้และได้ผลดีในระยะยาว นอกจากภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภาครัฐบาลเองในหลายๆ ประเทศ ณ เวลานี้เริ่มที่จะบรรจุเรื่องความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการบริหารประเทศ เป้าหมายก็เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจของหลายภาคส่วน แต่คนที่สำคัญที่สุดที่จะให้ภาพ Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสมบูรณ์แบบ 100% จะเป็นใครไม่ได้เลย นั่นคือ “ผู้บริโภค” อย่างเราๆ นั่นเอง

Circular Economy พลังที่ดีที่สุดคือการรวมตัวของทุกคน

ตัวอย่างที่ดี และกลายเป็นข่าว Talk of The Town คือคนญี่ปุ่นที่ตามไปเชียร์ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย หลังจากจบการแข่งขันฝั่งอัฒจันทร์กองเชียร์ญี่ปุ่นปราศจากไร้ซึ่งเศษขยะสักชิ้น ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้างของตัวเอง และการจะทำให้ประชาชนคนไทยรวมถึงคนทั่วโลกมีพฤติกรรมเหมือนคนญี่ปุ่น ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจว่าแนวคิด Circular Economy ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไร, และช่วยลดการใช้ทรัพยากรของโลกได้ดีแค่ไหน ? เพราะจิตใต้สำนึกมนุษย์ทุกคนคงอยากแบ่งปันให้ลูกหลาน หรือคนรุ่นหลัง ได้เห็นภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงามเหมือนอย่างที่เราเห็น ณ วันนี้

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลงาน SD Symposium 2018 รวมถึงเนื้อหาของเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy สามารถติดตามได้ที่ได้ที่ https://www.scg.com/sdsymposium/

(Visited 2,049 times, 1 visits today)