23 องค์กรเอกชนไทย เดินหน้าเจตนารมณ์ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน ลงนามความร่วมมือ CECI: Action for Sustainable Future พลิกโฉมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเติบโตยั่งยืน

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ร่วมกับภาคเอกชนทั้งสิ้น 23 องค์กร ลงนามความร่วมมือ CECI: Action for Sustainable Future เพื่อบรรลุเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม หนุน 5 ภาคส่วนในอุตสาหกรรมช่วยกันขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้ง Supply Chain ดันอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเติบโตยั่งยืน

23 องค์กรเอกชนที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) บริษัท ทรัสตี้ โปรเจค แมเนจเมนต์ จำกัด บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท นันทวัน จำกัด บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท พรพระนคร จำกัด บริษัท ฤทธา จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ขอ รีไซเคิล จำกัด บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด และบริษัท วัตคินสัน (ประเทศไทย) จำกัด

คุณนิธิ ภัทรโชค President, Cement and Building Materials Business, SCG ในฐานะของบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เปิดเผยว่า “CECI หรือกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ก่อตั้งในปี 2561 โดยเริ่มต้นจากการประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารของพันธมิตรองค์กรเอกชนในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งมีอุดมการณ์ร่วมกันและเล็งเห็นถึงความสำคัญว่า หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยบริหารจัดการปัญหาเศษวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มุ่งสู่การดำเนินอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Construction  เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและให้ผลตอบแทนทางสังคม

เอสซีจี ในฐานะของบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ได้เข้าร่วมกลุ่ม CECI ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งบริการ และโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ผ่านกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงาน ยืดอายุการใช้งาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน รวมถึงเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย ผ่านการรับรองสินค้า บริการ และโซลูชันด้วยฉลาก “SCG Green Choice” นอกจากนี้ เอสซีจียังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ “CPAC Green Solution” ที่จะช่วยลดเวลาการก่อสร้าง เพิ่มความแม่นยำ ลดการใช้ทรัพยากรช่วยควบคุมต้นทุน และช่วยลดเศษวัสดุในไซต์งานก่อสร้างได้เป็นอย่างดีอีกด้วย”

คุณนิธิ ภัทรโชค President, Cement and Building Materials Business, SCG

ขณะที่กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของโครงการ คุณจุฑาธรรม จิราธิวัฒน์ Head of Business Development บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ตลอด 40 ปี เซ็นทรัลพัฒนา มีแนวคิดการพัฒนาโครงการควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบศูนย์การค้า การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการตั้งเป้าเป็นต้นแบบองค์กรที่จัดการขยะการก่อสร้าง นับตั้งแต่เริ่มสร้างโครงการผ่านการนำขยะเสาเข็มมารีไซเคิล รวมถึงการเพิ่มการใช้ทรัพยากรทางเลือก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับทาง CECI  เชื่อว่าจะทำให้โครงการใหม่ๆ ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาจะเป็นรูปแบบการออกแบบก่อสร้างด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ผนวกวิถีแห่งเมือง และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การบดย่อยเศษคอนกรีตจากหัวเสาเข็มที่ตัดทิ้งจากงานฐานราก นำกลับมาใช้เป็นวัสดุทดแทนวัสดุรองทางถนนในโครงการเซ็นทรัลศรีราชา และเซ็นทรัลจันทบุรี รวมปริมาณขยะเสาเข็มนำมาหมุนเวียน เท่ากับ 4,000 ตัน และวางแผนนำแนวคิด Circular Design และ Sustainable Material มาใช้ในโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์คอีกด้วย เซ็นทรัลพัฒนาพร้อมที่จะขยายความร่วมมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ร่วมมือกับทุกท่าน ผลักดัน และขับเคลื่อนสังคม โดยเราทุกคนมีหน้าที่ต่อส่วนรวม ในการสร้าง Sustainable Ecosystem ที่ยั่งยืนต่อผู้คน ชุมชน และ สิ่งแวดล้อม”

ด้านคุณสุทธา เรืองชัยไพบูลย์ ประธานผู้อำนวยการ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีความเห็นว่า “MQDC มีแนวทางอย่างชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจทั้งในกลุ่มที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ สำนักงาน ศูนย์การค้า รวมถึงธุรกิจการให้บริการ ภายใต้พันธกิจ “For All Well-Being” โดยมีนโยบายการทำงานที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และการจัดการขยะ โดย MQDC ได้นำส่วนหนึ่งของกระบวนการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อลดขยะจากงานก่อสร้างโครงการ เช่น การเปลี่ยนตาข่ายคลุมอาคารที่ใช้ป้องกันฝุ่นและอันตรายระหว่างการก่อสร้างเป็นถุงช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า หรือการนำคอนกรีตจากหัวเสาเข็มที่ต้องตัดทิ้งและนำออกไปเป็นขยะนอกไซด์งานก่อสร้างมาผ่านกระบวนการแปรรูป เพื่อนำกลับมาเป็นพื้นคอนกรีตที่ใช้ในพื้นที่ก่อสร้าง กลุ่ม CECI ถือเป็นความร่วมมือของหลากหลายภาคส่วนที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่เหมือนกันในการริเริ่มและผลักดันให้เกิดเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างพันธมิตร การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การต่อยอดองค์ความรู้เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง”

การบดย่อยเศษคอนกรีตจากหัวเสาเข็มที่ตัดทิ้งจากงานฐานราก นำกลับมาใช้เป็นวัสดุทดแทน

ทั้งนี้ คุณวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เสริมว่า “ทาง สหพัฒน์ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และนำมาเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการ Pilot Project ที่สหพัฒน์ได้พัฒนาร่วมกับหลายบริษัทพันธมิตรในอุตสาหกรรมก่อสร้างในกลุ่ม CECI ภายใต้ชื่อโครงการ คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ (KingBridge Tower) พระราม 3 ที่ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด The Spirit of Synergy เพราะเราเชื่อว่าการผนึกกำลังกันระหว่างพันธมิตรที่ดีนั้น จะสร้างผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยอาคารนี้ถือเป็นต้นแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ผ่านองค์ประกอบตั้งแต่ด้านการออกแบบของอาคาร ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลในการก่อสร้าง และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาให้เกิดระบบและโครงการอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

คุณเกชา ธีระโกเมน ประธานกรรมการบริษัท และกรรมผู้จัดการ บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด ตัวแทนจากกลุ่มสถาปนิกและที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่ากลุ่มบริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค เป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา และ Unisus ที่เป็นบริษัทพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และนวัตกรรมด้านพลังงาน มีเป้าหมายตรงกับกลุ่ม CECI ในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแก้ปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากการสร้างวงจรที่เป็น Value Chain การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดของเสียแล้ว  เศรษฐกิจหมุนเวียนยังเกี่ยวข้องกับพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่ดี และการลดการปล่อยคาร์บอนอีกด้วย โดยกลุ่มบริษัท อีอีซี และ Unisus มีบทบาทสำคัญในการออกแบบก่อสร้างโครงการที่เป็นต้นแบบสำหรับอนาคตที่สำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการประเภท Mixed Use, New Town Development และ Eco Industry ที่มีเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมก่อสร้าง”

ขณะที่ภาคส่วนผู้รับเหมาก่อสร้าง ดร.ธีรเดช ทังสุบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฤทธา จำกัด กล่าวว่า “หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ในมุมมองของบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง แม้ว่าอาจจะทำได้ยาก เพราะสินค้าในอุตสาหกรรมนี้ มีระยะเวลาการใช้งานที่ค่อนข้างนาน และเมื่อหมดอายุการใช้งาน ก็มักจะนิยมก่อสร้างใหม่ตามการออกแบบที่เป็นสมัยนิยม อย่างไรก็ตาม หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็ยังสามารถทำได้จากกระบวนการต่างๆ ในระหว่างการก่อสร้าง เช่น การลดวัสดุ Packaging Material การจัดการขยะ การลดการใช้วัสดุสิ้นเปลือง การจัดการของเหลือที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้างเพื่อนำมาใช้ใหม่ รวมทั้งการลดการใช้พลังงาน และการใช้น้ำ ซึ่งก็มีตัวอย่างดีๆ ของหลายบริษัทในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และมีแรงผลักดันที่ช่วยกันเราพยายามจะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือแนวปฏิบัติที่จะช่วยผลักดันให้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถดำเนินการได้จริง เพื่อความยั่งยืนและลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไว้ให้ลูกหลานเราต่อไป”

การบดย่อยเศษคอนกรีตจากหัวเสาเข็มที่ตัดทิ้งจากงานฐานราก นำกลับมาใช้เป็นวัสดุทดแทน

ด้าน คุณกมลวัฒน์ วีรศุภกาญจน์ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วัตคินสัน (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนจากภาคส่วนผู้ให้บริการจัดการของเหลือจากการก่อสร้าง เผยว่า “วัตคินสัน ได้รับโอกาสจากหลายองค์กรพันธมิตรในกลุ่ม CECI ให้เข้ามาเริ่มทดลองรีไซเคิลคอนกรีตจากหัวเสาเข็มเพื่อใช้ในการถมที่หรือใช้ทดแทนหินคลุกในหลายโครงการก่อสร้าง ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างถนนโดยใช้วัสดุจากการรีไซเคิล เพื่อลดของเหลือจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าวัสดุรีไซเคิลจากการจัดการของวัตคินสันนั้น สามารถทดแทนวัตถุดิบจากธรรมชาติได้ ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายในเรื่องของการบริหารต้นทุนที่สูงกว่า  แต่สิ่งที่อยากให้พวกเราทุกคนเล็งเห็นร่วมกันก็คือต้นทุนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เราต้องคำนึงถึงและรักษาไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะยังคงเก็บสิ่งดีๆ บนโลกใบนี้ให้คงอยู่สืบต่อไป”

ทั้งนี้กลุ่ม CECI คาดหวังความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย โดยเริ่มจากความเข้าใจในหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน นำไปสู่การยอมรับและประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทั้ง 23 องค์กรพร้อมเป็นต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรม ส่งต่อองค์ความรู้เพื่อช่วยยกระดับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เพื่อมุ่งสู่ Green Construction ในอนาคต และเติบโตยั่งยืนร่วมกัน

ติดตามข้อมูลข่าวสารของกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือ Circular Economy in Construction Industry (CECI) ได้ที่ https://www.facebook.com/CECIOfficialpage/

Published on: Apr 1, 2022

(Visited 2,616 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว