“ศิลปะ” ได้รับการรังสรรค์ขึ้นเพื่อสุนทรียะทางสายตา ความคิด และจิตใจ รวมถึง “ศิลปะ” นั้น ดำรงอยู่เพื่อจรรโลงสังคม สร้างแรงบันดาลใจ ส่งต่อพลังความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ มูลนิธิเอสซีจีเห็นความสำคัญในการส่งเสริมเยาวชนที่มีความสามารถด้านศิลปะ รวมถึงตระหนักดีว่าความประณีตลึกซึ้งงดงามของงานศิลป์จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจ สร้างบุคลากรที่เก่งและดีให้แก่สังคม ด้วยเชื่อมั่นในคุณค่าของคน โดยเฉพาะศักยภาพเยาวชนไทย มูลนิธิฯ จึงได้ขยายโอกาสและสร้างยุวศิลปินรุ่นใหม่ผ่านโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่เปิดโอกาสให้ยุวศิลปินผู้รักงานศิลป์ อายุ 18 – 25 ปีจากทั่วประเทศส่งผลงานศิลปะสร้างสรรค์เข้าประชันเชิงชั้นถึง 6 สาขาได้แก่ สาขาศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี
โครงการนี้ ได้รับความร่วมมืออันดีจากคณะผู้ร่วมจัดงานทุกฝ่าย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญแห่งการเจียระไนเพชรน้ำงาม สร้างศิลปินรุ่นเยาว์ให้เติบโตบนเส้นทางศิลปะ ซึ่งการันตีคุณภาพด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับมากว่าหนึ่งทศวรรษ
เชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “ในปีนี้มีเยาวชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายสถาบันทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกันมากขึ้น ซึ่งทุกๆ ผลงานศิลปะที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการในปีนี้ทั้ง 36 ผลงาน ได้นำมาจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่กลางใจเมือง ถือเป็นหอศิลป์ร่วมสมัย เป็นศูนย์กลางด้านศิลปะที่ช่วยส่งเสริมให้คนเข้าถึงศิลปะได้มากขึ้น นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ มูลนิธิเอสซีจี ทำงานภายใต้แนวคิด “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน” โดยเฉพาะน้องๆ ยุวศิลปินไทยทุกคน หากมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป ย่อมจะประสบความสำเร็จในการเติบโตเป็นศิลปิน และมีโอกาสแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนในเวทีระดับสากลได้อย่างแน่นอน”
วริศรา อภิสัมภินวงศ์ ผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาศิลปะ 2 มิติ ประจำปี 2562 เจ้าของผลงาน พลังแห่งสีสันตะวันออก หมายเลข 3 กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รางวัลว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะถือเป็นการพิสูจน์การพัฒนาฝีมือของตัวเอง เพราะเมื่อปีก่อนได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด แต่ไม่ผ่านเข้ารอบ เพราะเวทีนี้คัดผลงานที่ดีและมีคุณภาพ ปีนี้จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจฝึกซ้อมจากคำแนะนำของอาจารย์ และศึกษาจากศิลปะของรุ่นพี่ แล้วนำมาพัฒนาในแบบของตัวเองทั้งแนวความคิด และเทคนิค โดยเทคนิคที่เลือกใช้ในครั้งนี้คือภาพพิมพ์แกะไม้ โดยได้แรงบันดาลใจจากความประทับใจในมนต์เสน่ห์ผสมผสานระหว่างประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่มีร่วมกันของวัฒนธรรมไทยจีน เกิดเป็นการทับซ้อนเชิงสังคมที่มีความหลากหลายในสองวัฒนธรรมที่ถูกรวมหลวมเข้าด้วยกัน การได้รับรางวัลนี้ถือเป็นใบเบิกทางในวงการศิลปะ เป็นเกียรติประวัติ และความภาคภูมิใจในชีวิต”
ปฏิภาณ ศิริไพบูลย์ ผู้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ ประจำปี 2562 เจ้าของผลงาน Alienate กล่าวเสริมว่าว่า “เหตุผลที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดโครงการนี้ เพราะเห็นว่า ผู้ที่เคยได้รับรางวัลยุวศิลปินไทยปีก่อนๆ ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนต์ และผลงานที่ได้รับรางวัลล้วนเป็นงานที่ดีและมีคุณภาพ จึงอยากท้าทายความสามารถของตัวเอง จึงตัดสินใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นครั้งแรก โดยประเด็นที่หยิบยกมาใช้ในการทำหนังก็เป็นเรื่องใกล้ตัว คือแรงงานต่างด้าวที่เราเห็นจนคุ้นชิน แต่ยังไม่มีใครพูดถึง จึงมองว่าเป็นประเด็นใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร และคงมีโอกาสบอกเล่ากับสังคมแทนพวกเขาด้วย การได้รับรางวัลนี้ ทำให้กล้าที่จะฝันไปไกลมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีแผนจะส่งหนังสั้นเรื่องนี้ไปประกวดในเวทีต่างประเทศเพื่อแสดงศักยภาพฝีมือเยาวชนไทยในระดับสากล”
ด้านนนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง กรรมการตัดสินสาขาภาพยนตร์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานยอดเยี่ยมสาขานี้ว่า “ปัจจุบันสังคมโลกให้ความสำคัญกับความหลากหลายของมนุษย์ การยอมรับในความแตกต่างที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ วันนี้เราได้เห็นภาพยนตร์เรื่อง Alienate ที่หมายถึงการทำให้แตกกัน หรือบาดหมางกัน มีเรื่องราวที่สะท้อนความหลากหลายในชาติพันธุ์ของมนุษย์ ตัวละครต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติในเมืองไทย ขัดแย้งกับกระแสสังคมโลก ดูแล้วรู้สึกหน้าชาราวถูกตบอย่างแรง และปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะปัญหาแรงงานต่างด้าวกับนายจ้างคนไทยเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอ สิ่งที่น่าชมเชยสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Alienate คือ ได้ผ่านการค้นคว้ามาอย่างดี รวมถึงการไม่ใช้นักแสดงอาชีพ การใช้ฉาก ภาษา บทสนทนาที่เป็นธรรมชาติ เก็บรายละเอียด ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ขาวดำ จนให้ความรู้สึกมากกว่าแนว Realism แต่เป็น ‘Super-realism’”
อนึ่ง ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย ประจำปี 2562 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติสู่เหล่ายุวศิลปินไทย คณะกรรมการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการฯ ทุกคนทุกฝ่าย รวมทั้งมูลนิธิฯ ซึ่งขอเทิดไว้เหนือเกล้าตลอดไป
มากกว่าการจัดการประกวดแล้วนั้น มูลนิธิเอสซีจี ยังสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับรางวัลได้มีโอกาสก้าวสู่การเป็นศิลปินระดับอาชีพอีกด้วย นอกจากยุวศิลปินไทยผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจะได้รับเงินรางวัล 150,000 บาทแล้ว ยังมีโอกาสได้เดินทางทัศนศึกษา สัมผัสศิลปะระดับโลก เพื่อเปิดโลกทัศน์ เพิ่มพูนทักษะความรู้ทางศิลปะ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานศิลปะต่อไปในอนาคต และสำหรับผู้ได้รับรางวัลดีเด่นจะได้รับเงินรางวัลคนละ 50,000 บาท
สำหรับน้องๆ เยาวชนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 586 5505 และร่วมติดตามความคืบหน้าได้ที่ www.facebook.com/YoungThaiArtistAward