Regenerative คืออะไร? มารู้จักกับแนวทางใหม่ของธุรกิจในอนาคต

ในปัจจุบันเทรนด์ Sustainability เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกพยายามทำเพื่อโลก แต่ในอนาคตแค่ยั่งยืน อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะนอกจากเราจะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ ‘ไม่แย่ลงไปกว่านี้’ ก็ยังจำเป็นต้อง ‘ฟื้นฟูให้ดีขึ้นกว่าเดิม’ ซึ่งจะกลายเป็นแนวทางของธุรกิจในยุคต่อไป เรียกว่า Regeneration Paradigm

แนวทางนี้คืออะไร ทำยังไง และสำคัญแค่ไหน มาร่วมหาคำตอบได้ในงาน Techsauce Global Summit 2024 กับเซสชัน The World After Sustainability: What’s the Next Global Agenda โดย ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ Sustainable Brands (SB) Thailand และคุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ประธานและ CEO แห่ง SCG

Regenerative คืออะไร?

ดร. ศิริกุล เลากัยกุล อธิบายว่า Regenerative เป็นแนวทางใหม่ที่ธุรกิจและสังคม ใช้รับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม แทนที่จะพยายามรักษาสิ่งที่เรามีอยู่ แนวคิดนี้มุ่งไปไกลกว่านั้น คือ การฟื้นฟูและปรับปรุง สิ่งที่สูญเสียหรือเสียหายไปแล้ว ซึ่งมีวิวัฒนาการของแนวทาง การทำธุรกิจอยู่ทั้งหมด 4 ยุค อาทิ

  • ธุรกิจแบบดั้งเดิม (Conventional): มุ่งเน้นการสร้างผลกำไรเป็นหลัก ปฏิบัติตามกฎระเบียบเท่าที่จำเป็น และอาจมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคมบ้างเล็กน้อย
  • ธุรกิจสีเขียว (Green): เริ่มให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดขยะและการใช้ทรัพยากร อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainable): ไม่เพียงแต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมั่นใจได้ว่าการดำเนินธุรกิจ จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยมุ่งเน้นที่การลดการใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล
  • แนวทาง Regenerative: เป็นแนวคิดที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งก้าวไปไกลกว่าการรักษาสภาพปัจจุบัน แต่เป็นการปรับปรุง และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง แทนที่จะพยายามลดอันตรายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการซ่อมแซมและปรับปรุง สิ่งที่เสียหายไปแล้ว

Regenerative ยังมีหลักการอยู่ 7 ข้อ ได้แก่

  1. การออกแบบให้อิงธรรมชาติ และใช้สถานที่ในการควบคุมกลยุทธ์: กลยุทธ์ควรถูกกำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งความเข้าใจในธรรมชาติเป็นกุญแจสำคัญในการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของมนุษย์
  2. ความหลากหลายสร้างความยืดหยุ่น: การเน้นความหลากหลาย ทางชีวภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความหลากหลายทำให้เกิดความยืดหยุ่น ไม่เหมือนกับการปลูกพืชเพียงชนิดเดียวที่มีความเปราะบาง
  3. โฟกัสที่ศักยภาพแทนปัญหา: แทนที่จะจมอยู่กับปัญหา ควรมองหาศักยภาพในสิ่งอื่นๆ ความสามารถในการมองเห็นศักยภาพ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการฟื้นฟู
  4. แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ: ควรจัดการกับสาเหตุหลักของปัญหา แทนที่จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ วิธีนี้จะนำไปสู่แก้ไขที่แท้จริงและเป็นการฟื้นฟู
  5. คิดระยะยาว: ควรให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในระยะยาว และมั่นใจว่าการวางแผนระยะยาว ถูกรวมเข้ามาในกระบวนการนี้ด้วย
  6. ส่งเสริมให้มีการกระจายผลประโยชน์: ควรเข้าใจว่าใครจะได้รับประโยชน์ และมั่นใจว่าผลลัพธ์ที่ถูกต้องจะถูกสร้างขึ้นมา และสิ่งนี้จะส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่สามารถกระจาย
  7. การพึ่งพากันเป็นการส่งเสริมชีวิตซึ่งกันและกัน: ตระหนักว่าไม่ว่าสิ่งมีชีวิตประเภทไหน ต่างก็เชื่อมโยงและพึ่งพากันและกัน มนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศขนาดใหญ่ และการฟื้นฟูจำเป็นต้องรู้จักปรับตัว

คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กล่าวว่า Regenerative มีความสำคัญมากในปัจจุบัน ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 องศาเซลเซียส และอาจสูงถึง 2.5 องศา ซึ่งอาจทำให้ป่าไม้กลายเป็นทะเลทรายได้

เมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 2.5 องศาเซลเซียส และธรรมชาติจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เอง ต้องการการฟื้นฟูจากมนุษย์ ถ้าอุณหภูมิยังเพิ่มขึ้น เราจะต้องพูดถึงการปรับตัวรับมือโลกใหม่แทนการลดคาร์บอน

ดังนั้น Regenerative จึงมีความสำคัญมากในขณะนี้ เช่น การฟื้นฟูดิน การสร้างการเกษตรแบบฟื้นฟู และการดักจับคาร์บอน

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสิ่งจำเป็น โดยต้องเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และไปสู่จุด Net Negative ซึ่งหมายถึงการลดคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ ให้มากกว่าที่ปล่อยออกมา หากไม่เร่งดำเนินการ เราจะเข้าใกล้จุดวิกฤตมากขึ้น การฟื้นฟูเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาโลก ให้น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป และตอนนี้คือเวลาที่ต้องลงมือทำก่อนจะสายเกินไป

เทคโนโลยีจะมีส่วนสนับสนุนแนวทาง Regenerative อย่างไร จากมุมมองของธุรกิจ ?

คุณธรรมศักดิ์ ชี้ว่า เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม สู่การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ตามเป้าหมาย SDG ซึ่ง SCG ตระหนักถึงความสำคัญของเป้าหมายนี้อย่างมาก บริษัทมีการดำเนินการโดยใช้เทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนแนวทาง Regenerative อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ:

  • ปะการังเทียม (artificial coral): ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ สร้างปะการังเทียมจากวัสดุพิเศษ ที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของปะการังจริง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล
  • ดักจับและเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon capture & conversion of carbon dioxide): ลงทุนใน Startup ที่พัฒนาเทคโนโลยีดักจับและเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นผลิตภัณฑ์อย่างพลาสติก เพื่อลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ
  • พลาสติกชีวภาพ (bioplastic): พัฒนาพลาสติกชีวภาพจากอ้อย ลดการพึ่งพาพลาสติกจากปิโตรเลียม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง (wet and dry process): ส่งเสริมเทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนและส่งเสริมสุขภาพดิน

นอกจากนี้คุณธรรมศักดิ์ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างอย่างยั่งยืน เพราะมันต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ การปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน และความร่วมมือจากคู่แข่ง ทั้งนี้ SCG ยินดีที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero และสร้างการเติบโตสีเขียวอย่างยั่งยืน

การบรรลุเป้าหมายต้องการการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เพราะถ้ามีเพียงบริษัทเดียวที่บรรลุ Net Zero แต่บริษัทอื่น ๆ ไม่ได้ทำ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ SMEs ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 การสนับสนุนซึ่งกันและกันจะช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศทั้งหมดไปข้างหน้า หากเราไม่ทำร่วมกัน โลกอาจต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป

แนวโน้มในอนาคตของแนวทาง Regenerative และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ?

ดร. ศิริกุล กล่าวว่า เมื่อพูดถึงความยั่งยืน ผู้คนมักมองว่ามันเป็นเทรนด์ หรือเป็นเพียงแค่กระแส แต่ความจริงมันเป็นความจำเป็นมากกว่า ดังนั้น แทนที่จะถามว่ากระแสต่อไปควรเป็นอย่างไร ควรเปลี่ยนเป็น เราควรเริ่มต้นอย่างไร ? เราจะทำมันได้อย่างไร ?

การโฟกัสไปที่เทรนด์ในอนาคตมากเกินไป อาจทำให้เราละเลยสิ่งที่จำเป็นต้องทำในปัจจุบัน ในโลกยุคปัจจุบัน การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ไม่เพียงพออีกต่อไป เราควรมุ่งหวังไปที่ Net Positive ซึ่งหมายถึงการคืนกลับให้โลกมากกว่าที่เราได้ใช้ไป

แม้การบรรลุ Net Zero นั้นเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ แต่แต่เราก็ต้องพยายามต่อไป เนื่องจากมนุษย์ได้ทำร้ายโลกมาอย่างยาวนานแล้ว การมุ่งสู่ Net Positive จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษา และฟื้นฟูโลกให้ดีขึ้นในอนาคต โลกกำลังเอาคืนจากการกระทำของมนุษย์ในอดีต ที่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนาน

เราจำเป็นต้องชำระคืนสิ่งที่ได้ทำลายไป 2-3 เท่า ด้วยการคืนกลับสู่โลกให้มากกว่าที่เราได้เอามา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ต้องร่วมมือกับทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน เพราะการจัดระเบียบและเริ่มต้น การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

รวมถึงในปัจจุบัน AI เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ ในการเรียนรู้จากบทเรียนทั่วโลก แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับความคิดของเรา ว่าเราพร้อมที่จะลงมือทำหรือไม่ หากเรามีเครื่องมือทุกอย่างที่จำเป็นในมือ แต่ถ้าไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการลงมือทำ ทุกอย่างก็จะไม่มีความหมาย ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิบัติจริงและสร้างความแตกต่างที่ยั่งยืน

คุณธรรมศักดิ์ กล่าวถึงกลยุทธ์ของ SCG ในการรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมองว่าเป็นทั้งภัยคุกคามและโอกาส เขาเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคจะให้ความสำคัญและเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำของ SCG ที่พัฒนาขึ้นจากชีวมวลที่นำมาแทนถ่านหิน ซึ่งได้มีการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกาแล้วกว่า 1 ล้านตัน  เมื่อมีคุณภาพและราคาเหมาะสม ผู้บริโภคก็ยินดีที่จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์สีเขียว และความสำเร็จนี้เป็นตัวอย่าง ของสิ่งที่คุณธรรมศักดิ์เรียกว่า “การเติบโตสีเขียว”

สำหรับ SCG แล้ว การบรรลุเป้าหมายการเติบโตสีเขียวอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ซัพพลายเออร์ ไปจนถึงประชาชนทั่วไป โดย SCG ได้ริเริ่มโครงการ Saraburi Sandbox ซึ่งมุ่งหมายที่จะทำให้จังหวัดสระบุรี เป็นเมือง Net Zero ที่ผลิตปูนซีเมนต์ 70% ของประเทศ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่ SCG ได้เรียนรู้และมีความคืบหน้า ในการสร้างแพลตฟอร์มที่ครอบคลุม และส่งเสริมการเติบโตสีเขียว คุณธรรมศักดิ์ยังเน้นว่า SCG เปิดกว้างสำหรับความร่วมมือ เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้

“สิ่งที่ผมอยากขอคือ ให้ทุกท่านเปิดใจ และผมเชื่อมั่นว่า หากทุกท่านเปิดใจ ไม่ใช่แค่ SCG เท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ แต่เราทุกคนจะก้าวไปสู่ความยั่งยืน ได้อย่างแท้จริงครับ”

ที่มา TECHSAUCE GLOBAL SUMMIT 2024

Published on: Aug 10, 2024

(Visited 142 times, 1 visits today)