วิทยาศาสตร์การกีฬา กับความสำเร็จของ”บาส-ปอป้อ”

จากผลงานของนักแบดมินตันคู่ผสมมือ 2 ของโลก “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ”ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ที่คว้า 3 แชมป์ติดต่อกันในรายการระดับเวิลด์ทัวร์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่ทำให้ทั้งคู่พัฒนาตัวเองและก้าวไปสู่ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้นั้น คือ การนำเอาหลักการและองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ในการวางแผนและออกแบบการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับนักกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การดูแลของ ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา

“ผู้บริหารองค์กรกีฬา ผู้ฝึกสอนกีฬา รวมทั้งนักกีฬาส่วนใหญ่ มักจะมองความสำคัญของวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sports Science) ไปในแง่ของการคาดหวังผลการแข่งขันว่า… ต้องชนะหรือได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ หรือโอลิมปิกเกมส์เพิ่มขึ้นในเมื่อเรามีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเสริมให้กับนักกีฬาได้ใช้ประกอบในการฝึกซ้อม” ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ย้ำถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการกีฬาในขณะนี้

ก่อนอื่นอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่า วิทยาศาสตร์การกีฬา” คือ การนำเอาหลักการองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษา เรียนรู้ สังเกต ค้นคว้า ทดลอง และวิจัยเพิ่มเติมจากปรากฏการณ์ธรรมชาติของร่างกายมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับกีฬาแต่ละประเภท เพื่อบูรณาการต่อยอดให้กับผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬาได้มีความรู้ความเข้าใจในการนำไปใช้พัฒนาศักยภาพ ความสามารถของตนเองตามบทบาทหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้นอย่างมีหลักการ เหตุผล วัดและประเมินผล และพิสูจน์หรือตรวจสอบได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการกีฬา นักวิทยาศาสตร์การกีฬา เจ้าหน้าที่ทางการกีฬา ผู้ฝึกสอนกีฬานักกีฬา นักกีฬา ผู้นำการออกกำลังกาย และผู้รักการออกกำลังกาย

ดังนั้น ผู้ฝึกสอนกีฬา และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา คือ บุคคลสำคัญที่จะต้องเป็นผู้นำหลักการและองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาไปประยุกต์ใช้ในวางแผนและออกแบบการฝึกซ้อมให้กับนักกีฬา เพื่อพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคนิคทักษะและสมรรถภาพทางกลไกให้กับนักกีฬาแต่ละประเภท ได้มีความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น …ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ส่วนเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีทางการกีฬา…เป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จะถูกนำมาช่วยในการสร้างเสริมและสนับสนุนการฝึกซ้อมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยในการวัดและการประเมินผลการฝึกซ้อม หรือตรวจสอบการฝึกซ้อมของนักกีฬา และกระบวนการในการฝึกซ้อมที่ผู้ฝึกสอนกีฬาได้วางแผนไว้ว่า มีคุณภาพมาตรฐานมากน้อยเพียงใด

ด้วยเหตุนี้ หากผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้บริหารองค์กรกีฬา…ขาดความรู้ความเข้าใจและเข้าไม่ถึงวิทยาศาสตร์การกีฬาและธรรมชาติของกีฬาที่แท้จริง…การมีบทบาทหน้าที่ในการบริหารและถ่ายทอดความรู้ของผู้ฝึกสอนกีฬาในการพัฒนาทักษะความสามารถให้กับนักกีฬา ตลอดจนการดำเนินการฝึกซ้อมคงไม่สามารถนำพานักกีฬาและวงการกีฬาไทยให้ก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จในระดับนานาชาติ หรือระดับโลกได้ดีกว่าที่ผ่านมา…แม้จะมีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่เพียบพร้อมเพียงใดก็ตาม

นักแบดมินตันคู่ผสมมือ 2 ของโลก “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ”ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

หลักการฝึกซ้อมกีฬา (Principle of Training) คือ หนึ่งในองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่นับว่ามีความสำคัญโดยตรงกับความสำเร็จของนักกีฬา ที่ผู้ฝึกสอนกีฬาจำเป็นต้องใช้เป็นเครื่องในการพัฒนาทักษะ ความรู้ และความสามารถให้กับนักกีฬานอกเหนือจากศาสตร์หรือองค์ความรู้ทางด้านกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) สรีรวิทยาการออกกำลังกาย (Physiology of Exercise) ชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) จิตวิทยาการกีฬา (Sport Psychology) และโภชนาการทางการกีฬา (Sport Nutrition) เป็นต้น

หลักการฝึกซ้อมกีฬาที่สำคัญ ที่ผู้ฝึกสอนกีฬาจำเป็นต้องเรียนรู้ ศึกษา และทำความเข้าใจ เพื่อนำไปถ่ายทอดลงในกิจกรรมการฝึกซ้อมให้กับนักกีฬาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม มีดังนี้

  1. หลักการฝึกมากกว่าปกติ (Principle of Overload) ซึ่งเป็นหลักการที่อาจจะกล่าวได้ว่า…เป็นแม่บทสำคัญของการฝึกซ้อมหรือการออกกำลังกายเลยก็ว่าได้ ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกว่า …หลักการของ FITT นั่นเอง ซึ่งผู้ฝึกสอนกีฬาจะต้องทราบว่า การปรับเพิ่มสิ่งใดในการฝึกซ้อมมีผลต่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงร่างกายอย่างไร และกิจกรรมการฝึกซ้อมลักษณะใดคือ ปริมาณ (Volume)  และลักษณะ คือ คุณภาพ(Intensity)
  2. หลักการของการฝึกที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล (Principle of individualizations) ซึ่งการฝึกซ้อมที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักกีฬาแต่ละบุคคล ผู้ฝึกสอนกีฬาจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างของนักกีฬาแต่ละบุคคล  รวมทั้งความแตกต่างของเพศ ความแตกต่างของอายุ และประสบการณ์ เป็นต้น
  3. หลักของการพัฒนาความก้าวหน้าในการฝึก (Principle of progressive)  ซึ่งเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กับการวางแผนและการปรับระดับความหนักเบาในการฝึกซ้อมแต่ละช่วงเวลา (Phase) เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าและความสามารถของนักกีฬาให้สูงขึ้น
  4. หลักการของความหลากหลายในการฝึก (Principle of Variety) ผู้ฝึกสอนกีฬาต้องมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกหรือกำหนดรูปแบบวิธีการฝึกซ้อมให้กับนักกีฬา และต้องเข้าใจว่า …ไม่มีการฝึกซ้อมใดที่ดีที่สุด ที่จะสามารถทำให้นักกีฬาประสบความสำเร็จได้ด้วยรูปแบบการฝึกซ้อมวิธีเดียว…ต้องมีความหลากหลาย แต่คงเป้าหมายเดียวกัน

Published on: May 12, 2021

(Visited 2,984 times, 1 visits today)