ครั้งนี้ประเด็นที่ Marketeer สัมภาษณ์ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ไม่ใช่เรื่องการทำธุรกิจท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ยังมีตัวเลขคนติดเชื้อพุ่งสูง ไม่ใช่เรื่องสงคราม น้ำมันแพง หรือภาวะเงินเฟ้อและไม่ใช่เรื่องความสามารถที่ เอสซีจี ฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาได้ ด้วยยอดขายปี 2564 ที่ 530,112 ล้านบาท กำไร 47,174 ล้านบาท สูงกว่าปี 2561 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ด้วยซ้ำไป แต่เป็นประเด็น โลกร้อน ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change)
ใช่ เป็นเรี่องที่ได้ยินกันมานาน แล้วเอสซีจีกำลังทำอะไรในวันที่รายได้และกำไรมหาศาลนั้นมาจากการเป็นพระเอกที่ผลิตของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง คือผู้ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหลาย ๆ อย่างด้วย
รุ่งโรจน์เริ่มพูดถึงเรื่องที่ทำให้เห็นภาพง่ายขึ้น ชัดขึ้น ว่าโลกมันร้อนขึ้นจริงอย่างไร เชื่อว่าหลายคนคงมีความรู้สึกเดียวกับเขา
“ย้อนกลับไปไกลสมัยผมเด็ก ๆ นะ ผมจำได้ว่าเมื่อก่อนพอช่วงลอยกระทง เดือนพฤศจิกายน เราก็เริ่มหยิบเสื้อกันหนาวแบบบาง ๆ มาใส่แล้ว พอเข้าเดือนธันวาคมอาจจะใส่ 2 ชั้น หรือเสื้อหนาหน่อย ยังจำได้เลยมีเสื้อกันหนาวอยู่ 2-3 ตัว ชอบมาก สีแดงสีเขียว แต่ตอนนี้พอคิดย้อนไปเกือบ 20 ปีที่เราไม่ได้ใส่เสื้อกันหนาวแบบจริงจังมานานมาก อาจจะมีอยู่บ้างบางปีที่ได้หยิบมาใส่ เพราะคิดว่าดีจัง อากาศหนาวกลับมาแล้ว แต่ปรากฏว่าหนาวอยู่ 2-3 วัน หายหนาวแล้ว”
ฤดูหนาว บ้านเราคงไม่มีอีกแล้ว นี่คือเรื่องใกล้ตัวที่สุด มองไปไกลอีกนิด ยังเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ไม่ค่อยรู้ตัวกัน จากข่าวสภาพอากาศรุนแรงต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม และไฟป่า ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นช่วงที่อุณหภูมิโลกสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติไว้
แล้วล่าสุด หลายคนพูดถึงการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา เว็บไซต์การประชุมอย่างเป็นทางการระบุว่า COP26 “มีความเร่งด่วนเป็นพิเศษ” และอาจเป็น “โอกาสสุดท้ายของโลกที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อยู่ภายใต้การควบคุม” ในการประชุมก่อนหน้านี้เคยตั้งเป้าหมายว่าต้องไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึงหน่วยที่เรียกว่า 2 องศาเซลเซียส เพราะอันตรายอย่างมากแน่นอน
ครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ได้มีการคำนวณกันใหม่ว่าถ้ารอไปถึง 2 คือ อันตรายที่เกิดขึ้นจะหยุดไม่อยู่แล้ว ถ้าจะหยุด 2 ได้ต้องตั้งเป้าให้ลดเป็น 1.5 ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ แม้จะเป็นตัวเลข 1.5 แต่ก็ยังคงส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดภัยแล้ง น้ำท่วม พายุที่รุนแรง และรูปแบบอื่น ๆ ของสภาพอากาศที่รุนแรง แต่ยังรุนแรงน้อยกว่าที่จะปล่อยไปถึง 2
ภาพทั้งหมดกำลังชัดขึ้น จนทำให้เกิดความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วทั้งโลกขึ้น คนเริ่มเห็นด้วยมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นกระแสของสังคม ที่เริ่มให้ความสนใจว่าแล้วคนต้องทำกันขนาดไหนล่ะถึงจะหยุดเรื่องนี้ได้
กลับมาดูการทำธุรกิจของเอสซีจี
ซึ่งประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งทุกธุรกิจล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง เอสซีจีก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหลาย ๆ อย่างด้วย
อย่างเคมิคอลส์นี่ชัดเจน ของใช้หลาย ๆ อย่างรอบตัวเราทำมาจากเม็ดพลาสติก ซีเมนต์ก็เช่นกัน เป็นของพื้นฐานสำหรับใช้ในการสร้างบ้าน และสิ่งก่อสร้างทั้งหลาย หรือแพคเกจจิ้งนี่ก็เป็นเรื่องตรงไปตรงมา บรรจุภัณฑ์ ไม่มีก็ไม่ได้
“เราเป็นพระเอกและผู้ร้ายในเวลาเดียวกัน เป้าหมายของเราคือ บทบาทการเป็นผู้ร้ายจะต้องลดลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเป็นสิ่งที่เรียกว่ายอมรับกันได้ ผมคิดว่าสินค้าของเราก็ยังมีอย่างนี้ต่อไป บ้านที่อยู่อาศัยก็ยังต้องมีหลังคา ยังต้องใช้ปูนซีเมนต์ แต่จะทำธุรกิจอย่างไรให้โลกยั่งยืนไปด้วย ตรงนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญมาก”
ต้องบอกว่า มันเป็นเรื่องใหญ่เกินตัวเอสซีจี แต่เราก็ต้องมีส่วนร่วมในการที่จะทำให้ตรงนี้เกิดขึ้น
แล้วเอสซีจีจะทำอย่างไรกับภารกิจแก้โลกร้อน
“เรื่องโลกร้อน ผมเองใช้คำพูดว่ามันเป็นการปฏิวัติ ภาษาอังกฤษก็คือ Revolution ผมมองว่าไม่ใช่ Evolution เพราะมันจำเป็นที่จะต้องแก้ไขอย่างรุนแรงและรวดเร็วให้มากที่สุด”
เพราะอย่าลืมว่า ไม่ว่าจะเป็นบ้านเราเองหรือทั้งโลก จะต้องใช้เวลาในการพัฒนาสิ่งที่เราใช้กันอยู่ในทุก ๆ วัน 100-200 ปี เรารู้ว่า ปี 2030 จะต้องเป็นแบบนี้ 2050 จะต้องเป็นแบบนี้ ในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า การที่จะ Reverse cost คือ Reverse Trend ที่เกิดขึ้นในช่วง 200 ปีให้ย่นลงมาเหลือ ใน 20-30 ปี ให้กลับไปให้อยู่ในสภาพที่สมดุลได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย
ปกติเวลาที่เราจะทำอะไร เราจะบอกว่าเราต้องมีแผน อย่างเราจะทำโรงงานหรือเราจะทำการตลาด ทำสินค้าสักอย่างหนึ่งก็ต้องมีการวางแผนที่ทำได้ จับต้องได้ มีข้อมูลซัปพอร์ตแน่นอน แล้วเราจะกำหนดเวลาในการทำสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้น แต่เรื่อง Net Zero Revolution นี้มีความต่าง ต้องยอมรับว่าในหลาย ๆ ส่วนจิ๊กซอว์ยังไม่ครบ คือวางแผนได้ยังไม่ครบ เพราะมันมีสิ่งที่ไม่แน่นอนหลาย ๆ อย่าง
“ต้องยอมรับว่าการวางแผนแบบการทำธุรกิจทั่วไปในการแก้ปัญหาโลกร้อนทำไม่ได้ แต่ต้อง Planning while Executing คือวางแผนไปด้วยทำไปด้วย ที่สำคัญที่สุดคือ SCG มีเป้าหมายชัดเจนคือปี 2050 เน็ตซีโร่ ปี 2030 ลบ 20%”
Commitment นี้ถูกกำหนดขึ้นภายใต้แนวทาง SCG ESG 4 Plus ที่ผ่านมากว่าศตวรรษ เอสซีจีใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development) เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม แต่วันนี้ SD ถูกยกระดับสู่แนวทาง SCG ESG 4 Plus ที่ประกอบไปด้วย
1. ภายในปี 2050 (Net Zero) เอสซีจี ตั้งเป้ามุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 (Net Zero) และภายในปี 2030 ต้องลดการปล่อยก๊าซลงให้ได้อย่างน้อย 20% โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก
“เช่น ปัจจุบันซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเราใช้พลังงานทางเลือกอยู่ที่ประมาณ 30% จาก 3-4 ปีที่แล้วจะอยู่ที่ 15-20% เราจะขอให้แตะ 50% ได้มั้ย เฉลี่ยทั้งปีประมาณ 40% ถามว่ายากมั้ย ก็เป็นทางเลือกของความท้าทาย แต่เป็นเรื่องที่เรามุ่งมั่นที่จะทำ”
เราจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เพิ่มขึ้น คือที่ทำมาก็มากขึ้นถึงระดับหนึ่งแล้ว ตอนนี้เราต้องบอกว่าต้องทำเพิ่มอีก ยกตัวอย่างเช่น โซลาร์เซลล์ ปกติเราจะใช้ได้ในตอนกลางวันเท่านั้นเอง เพราะแดดมันมีกลางวัน ต่อไปเราจะเก็บกลางวันให้เยอะขึ้น เพื่อเอาไปใช้กลางคืนด้วย และต้องคิดค้นต่อว่า ทำอย่างไรให้แผงโซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นเรื่องที่อาจจะต้องลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีเพิ่มเติม
ในเรื่องของ Waste to Energy คือ พลังงานที่ได้จากขยะ ขยะชุมชนและขยะมูลฝอยจากการอุปโภค กระบวนการผลิต หรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งภายในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม Biogas Energy พลังงานที่ผลิตได้จากการนำวัสดุชีวมวลหรือสารอินทรีย์ทุกรูปแบบที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติ เช่น ขยะอินทรีย์ เศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร มูลสัตว์ แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ฯลฯ
2. Go Green ในเรื่องกรีนโปรดักต์ กรีน เซอร์วิส ซึ่งจริง ๆ แล้วในเรื่องนี้ผลกระทบมีมาก แต่ไม่ได้กระทบโดยตรง เช่น ซีเมนต์ ที่ใช้คาร์บอนน้อยกว่าเดิมลดลงไป 10-20% จากกระบวนการผลิตเดิม แพคเกจจิ้งที่สามารถทำให้การเก็บของ เก็บอาหารได้นานขึ้น ยืดระยะเวลาใช้งาน หรือเคมิคอลส์ที่เราค้นพบเทคโนโลยีที่เมื่อเอาไปผสมกับสูตรเม็ดพลาสติกแล้ว ทำให้ไปเพิ่มปริมาณการใช้รีไซเคิลวัสดุได้มากขึ้น
ตอนนี้สัดส่วนกรีนโปรดักต์ของเอสซีจีประมาณ 30-40% ตั้งเป้าไว้ว่าปี 2025 น่าจะเป็นโปรดักต์โกกรีน ประมาณ 60% พร้อม ๆ กับการยกระดับมาตรฐานของคำว่ากรีนให้เพิ่มขึ้นด้วย
3. Lean ความเหลื่อมล้ำ เรื่องนี้อาจจะไม่ตรงทีเดียว แต่จะตรงในแง่เป็นผลกระทบจากเรื่องโลกร้อน อย่างเช่น เวลาน้ำท่วมคนที่เดือดร้อนหนักคือคนจน ดังนั้นการลดความเหลื่อมล้ำ ผมถือว่าเป็นโจทย์อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ใน SCG ESG Pathway ด้วย
ถามว่าธุรกิจอย่างเอสซีจีทำอะไรได้ คงไม่ใช่การแจกเงินแน่ แต่เราสามารถเพิ่มทักษะของคนได้เพื่อให้เขาได้มีอาชีพที่ดีขึ้น อย่างเช่นเรามีโครงการโรงเรียนสอนขับรถบรรทุก ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ขยายตัวเยอะขึ้นตามกระแสอีคอมเมิร์ซ ปีหนึ่งเทรนได้หลายหมื่นคน โดยทำมาเป็น 10 กว่าปี แล้ว หรือแพลตฟอร์มคิวช่างเพื่อเพิ่มโอกาส เพิ่มความรู้ให้คนได้ทำอาชีพเกี่ยวกับการก่อสร้าง
4. เอสซีจี มุ่งสร้างความร่วมมือขับเคลื่อน ESG กับหน่วยงานระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน ESG เช่น ทำโครงการ “ไปรษณีย์ reBOX” รีไซเคิลกล่องกระดาษเหลือใช้ ร่วมกับ PPP Plastic จัดการขยะพลาสติกเพื่อนำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล สร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติก ร่วมกับ Unilever ฯลฯ รวมทั้งการจัดงาน SD Symposium มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2010
รุ่งโรจน์ ย้ำว่าทั้ง 4 กระบวนการนี้ต้อง Plus ในเรื่องความเป็นธรรมและโปร่งใสด้วยในทุกการดำเนินงาน
อะไร คือปัญหาและความท้าทายในการลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับเรื่องโลกร้อน ในวันที่วิกฤตโควิดยังไม่จางหาย สงครามกำลังเกิดขึ้น เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง
รุ่งโรจน์สรุปว่า หลัก ๆ มี 3 เรื่อง คือ
1. เรื่องการสื่อสาร การทำให้มีความเข้าใจร่วมกัน
“มาพูดถึงเรื่องความยั่งยืน เรื่องโลกร้อนในช่วงเวลานี้ อาจจะถูกย้อนว่าเอาเรื่องใกล้ตัว ขอให้มีงานก่อนตอนนี้ เรื่องลดการปล่อยของเสีย ลดการปล่อยมลพิษไว้ค่อยทีหลัง”
เพราะฉะนั้นการที่สื่อสาร หรือการเปิดโอกาสคนให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นพื้นฐานแรกที่จะต้องทำ และเป็นความท้าทายที่สุด ทำอย่างไรให้มีคนเข้าใจ ตระหนักในเรื่องนี้ให้มากที่สุด
2. ตลาดจะรับได้หรือเปล่า ในแง่ของนักธุรกิจต่างรู้ดีว่าต่อไปถ้าทำสินค้าหรือบริการที่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมผู้บริโภคไม่สนับสนุนแน่
แต่สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ลืมถามตัวเองไปคือ ถ้าทำให้สินค้านั้นแพงขึ้นจะยอมรับได้หรือเปล่า เพราะนักลงทุนจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิต ซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางการแข่งขันกันในเรื่องราคา การขึ้นราคาสินค้าในภาวะแบบนี้นักลงทุนเองทำได้หรือเปล่า
ดังนั้น เปลี่ยนทั้งหมดวันนี้ก็คงไม่ได้ ไม่เปลี่ยนเลยก็คงไม่ได้ เร็วมากไม่ได้ ช้ามากไม่ได้ จุดตรงไหนที่จะเป็นที่ยอมรับได้
3. แรงจูงใจของภาครัฐ จะมีมาตรการอะไรที่เข้ามาช่วยเหลือตรงนี้หรือเปล่า
ทั้ง 3 เรื่อง เป็นเรื่องที่ต้องมาเจอกันให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วโลกก็จะไปต่อไม่ได้
สุดท้าย รุ่งโรจน์สรุปว่า เรื่องของโลกร้อน เรื่อง ESG จะยั่งยืนที่สุดต้องทำไปพร้อมกับการทำธุรกิจ และผู้นำองค์กรต้องเข้าใจ และลงมือทำ
“ผมก็ต้องมาถามตัวเองตลอดเวลาว่า ผมได้ใช้เวลากับเรื่อง ESG เท่าไร ใช้เวลาในการพูดให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ใช้เวลาในการกำหนดแผน และติดตามการปฏิบัติงานตามแผน และให้ความสำคัญกับการให้แรงจูงใจในการทำเรื่อง ESG เท่าไร มันยากก็จริงแต่เราก็ต้องมีส่วนร่วมในการที่จะทำให้ตรงนี้มันเกิดขึ้น”
Speed ของผู้นำองค์กร สำคัญที่สุด
Published on: Mar 22, 2022