SCGP เผยรายได้ 9 เดือนแรก 97,517 ล้านบาท ปัจจัยหนุนจากบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารฟื้นตัวต่อเนื่อง นำ AI ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างความยั่งยืนสู่เป้า ESG

SCGP เปิดรายได้จากการขายรวม 9 เดือนแรกปี 2566 เท่ากับ 97,517 ล้านบาท และมีกำไรสำหรับงวด 4,030 ล้านบาท ชูธงเทคโนโลยี AI เสริมแกร่งลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมเพิ่มยอดขายบรรจุภัณฑ์สำหรับ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รับดีมานด์โต คาดแนวโน้มความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ไตรมาสสุดท้ายฟื้นตัว เดินหน้า ESG ลุยเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือก คาดสิ้นปีลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 15 ก้าวหน้าเร็วกว่าแผน

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP แถลงผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 97,517 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน EBITDA 13,381 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสำหรับงวด 4,030 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาและปริมาณขายสินค้ากระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษที่ปรับลดลง

รายได้จากการขาย

สำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 SCGP มีรายได้จากการขาย 31,572 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มี EBITDA อยู่ที่ 4,229 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และกำไรสำหรับงวด 1,325 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งลดลงมาจากราคาขายกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย ปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีนที่ลดลง และปริมาณขายและราคาขายเยื่อกระดาษที่ลดลง

สัดส่วนรายได้จากการขายแบ่งตามประเทศลูกค้า

SCGP ได้ดำเนินตามกลยุทธ์ขับเคลื่อน ธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะตลาด โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มยอดขายบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังเติบโตได้ดีในอาเซียนจากการบริโภคภายในประเทศ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป ผลไม้ และบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค จากความต้องการใช้ในประเทศไทย และเวียดนามที่เพิ่มขึ้น การส่งออกในสินค้ากลุ่มนี้ที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงส่งเสริมพนักงานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบการทำงาน และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ โดยโรงงานในไทยสามารถประหยัดต้นทุน ด้านพลังงานได้ถึงปีละ 130 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 30,000 ตันคาร์บอนต่อปี ในปี 2566

นายวิชาญ กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่ความต้องการใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของภาคการผลิตและการปรับขึ้นราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ เป็นปัจจัยบวกให้กับการส่งออกของอาเซียน ส่วนธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะได้รับปัจจัยบวกจากการเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและดีมานด์บรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

EBITDA

SCGP ได้เดินหน้าตามกลยุทธ์ขยายกำลังการผลิตและการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพสูงเพื่อรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ สำหรับความคืบหน้าโครงการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ในประเทศไทย ได้เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา และโครงการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 สำหรับธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ Peute (เพอเธ่) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เตรียมเปิดโรงงานแห่งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งจะทำให้มีความสามารถจัดหากระดาษและพลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนใน Starprint Vietnam JSC (SPV) ประเทศเวียดนาม คาดว่าดีลจะเสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 4 นี้ นอกจากนี้ยังเตรียมลงทุนในบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้าและรองรับการขยายธุรกิจไปยังตลาดระดับโลก และการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตจากการขยายฐานลูกค้าและต่อยอด Value Chain ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

กำไรสำหรับงวด

ขณะเดียวกัน SCGP มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก คาดว่าภายในสิ้นปี 2566 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 15 ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตาม Science Based Target Initiative : SBTi ที่ร้อยละ 7.5 จากปีฐาน 2563 พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) วงเงิน 3,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ SCGP บรรลุผลตามเป้าหมายหลัก ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593

SCGP ขยายการลงทุน สร้างการเติบโตของธุรกิจ

Published on: Oct 24, 2023

(Visited 332 times, 1 visits today)