เอสซีจี ติดปีกธุรกิจดาวรุ่งแพคเกจจิ้ง ยื่น Filing ต่อ ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO)

แผนเพิ่มทุนของเอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) คืบหน้า ล่าสุด ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เอสซีจี จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SCGP เช่นเดิม ชี้เป็นธุรกิจดาวรุ่งของเอสซีจี ที่เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรที่พร้อมนำเสนอบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และการให้บริการที่หลากหลาย ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งมอบโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ที่ตรงใจลูกค้าทุกกลุ่ม และตอบรับการเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น ๆ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนำหุ้นของ บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP”) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมลงทุนในธุรกิจแพคเกจจิ้งที่มีโอกาสในการเติบโตในอนาคต ว่า ขณะนี้ SCGP ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (“สำนักงาน ก.ล.ต.”) เรียบร้อยแล้ว โดยจะออกและเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 1,374,000,000 หุ้น โดยแบ่งเป็น (1) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนรวมไม่เกิน 1,194,800,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 27.7 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ SCGP ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ (ไม่รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจาก SCGP ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) และ (2) อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 179,200,000 หุ้น โดยคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้

ทั้งนี้ จำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จะมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแล้วเสร็จ โดยเอสซีจีจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน SCGP ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เอสซีจีได้รับประโยชน์จากผลการดำเนินงานของ SCGP ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าการเติบโตในอนาคต

“สำหรับวัตถุประสงค์ในการระดมทุนในครั้งนี้  SCGP คาดว่าจะนำเงินที่ได้รับไปใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจด้วยการขยายกำลังการผลิตของ SCGP การควบรวมกิจการ การชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ทั้งนี้ SCGP มีแผนที่จะลงทุนขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศให้รองรับการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจการบริการด้านอาหาร และสินค้าที่ซื้อขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ทั้งนี้ เอสซีจี จะแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคืบหน้าของแผนการทำ IPO ของ SCGP ให้ทราบต่อไป” นายรุ่งโรจน์ กล่าว

SCGP ดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในธุรกิจของเอสซีจีที่เติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการควบรวมกิจการต่าง ๆ ที่ได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบและประสบความสำเร็จ โดยในปี 2562 ได้เข้าซื้อ PT. Fajar Surya Wisesa Tbk. ในประเทศอินโดนีเซีย และบริษัท วีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท ธุรกิจของ SCGP ยังมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้น (Consumer Growth) ทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ SCGP ยังมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีวัสดุหลากหลายประเภท (Multi-materials) ทั้งกระดาษและพอลิเมอร์ พร้อมการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Packaging Solutions Provider) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย SCGP เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[1] ที่ให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ รวมถึงบริการอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมและครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลในรายละเอียดจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนฉบับเต็มของ SCGP ซึ่งได้ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ที่ website ของสำนักงาน ก.ล.ต. (www.sec.or.th)

[1] จากข้อมูลของฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน ในปี 2561


หมายเหตุ

การแจกจ่ายเอกสารฉบับนี้ไปยังประเทศหรือเขตอำนาจรัฐอื่น ๆ นอกจากประเทศไทย อาจเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย ผู้ที่ได้รับเอกสารฉบับนี้ควรศึกษาและปฏิบัติตามข้อจำกัดทางกฎหมายนั้น ๆ เอกสารฉบับนี้ไม่ได้ถูกจัดทำเพื่อการเผยแพร่ การตีพิมพ์ หรือการแจกจ่าย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในหรือไปยังสหรัฐอเมริกา

เอกสารฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อแจ้งข้อมูลเท่านั้น และไม่ถือเป็นการเสนอขายหรือการชักชวนให้เข้าซื้อหลักทรัพย์ใด ๆ และไม่มีการเสนอขายหรือซื้อหลักทรัพย์ในประเทศหรือเขตอำนาจรัฐใดที่การเสนอขาย การชักชวนการเสนอซื้อ หรือการขายหลักทรัพย์นั้นขัดต่อกฎหมาย หลักทรัพย์ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1933 รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม (“กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา”) หรือกฎหมายของรัฐใด ๆ ในสหรัฐอเมริกา และจะไม่มีการเสนอขายหรือการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา เว้นแต่จะได้มีการจดทะเบียนหรือได้รับยกเว้นการจดทะเบียนภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ไม่มีความประสงค์ที่จะจดทะเบียนไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดหรือว่าทั้งหมดของการเสนอขายหรือหลักทรัพย์ใด ๆ ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ในสหรัฐอเมริกา หรือดำเนินการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในสหรัฐอเมริกา

ข้อความในเอกสารฉบับนี้ที่เป็นการคาดการณ์ของตลาดหรือแนวโน้มอุตสาหกรรมนอกเหนือจากที่เป็นข้อเท็จจริงในอดีต เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองในปัจจุบัน สมมติฐาน การประมาณการ อันมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอน กรณีมิได้เป็นการรับประกันว่าเหตุการณ์หรือผลลัพธ์ที่คาดการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงในสมมติฐานหรือปัจจัยต่าง ๆ อาจทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงแตกต่างจากการคาดการณ์ดังกล่าว

(Visited 2,567 times, 1 visits today)