กรุงเทพฯ – 11 กรกฎาคม 2566 : เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน (Chemicals Business for Sustainability) ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) ได้รับโล่เกียรติคุณจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ BEDO (Biodiversity-Based Economy Development Office : BEDO) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการนำแนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนในการบริการของระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Services: PES) ซึ่งเป็นหนึ่งในการประเมินคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้ประยุกต์ใช้กับโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เขายายดา จ.ระยอง เพื่อให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มอบฯ ภายในงาน “มหกรรมทรัพยากรชีวภาพและการสร้างโอกาสทางการตลาด”
น้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์ และกิจการเพื่อสังคม SCGC กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ Climate Emergency ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก รวมทั้งทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตและวิกฤตทางอาหารได้ในที่สุด SCGC จึงดำเนินโครงการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ตามมาตรฐานสากล ผ่านโครงการ ‘ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เขายายดา จ.ระยอง’ และ ‘โครงการบ้านปลา SCGC’ มาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี ซึ่งสามารถเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ในระบบนิเวศทั้งบนบกและในทะเลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหัวใจสำคัญเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ นวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตัวอย่างเช่น โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจ ของชุมชนรอบเขายายดา ที่เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตำบลแกลง สถานีวิจัยป่าต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เป็นต้น
สำหรับแนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนในการบริการของระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Services: PES) เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่าง SCGC ชุมชนรอบเขายายดา หน่วยงานราชการท้องถิ่น และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ BEDO เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำบริเวณเขายายดาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และคำนวณตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เห็นมูลค่าของระบบนิเวศ ที่ได้รับการฟื้นฟู ต่อผู้ได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ในปี 2565 มูลค่าระบบนิเวศบริการ หรือ PES ของป่าต้นน้ำเขายายดา คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาทต่อปี”
เขายายดาตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จ.ระยอง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 28,900 ไร่ มี แต่ก่อนเคยเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ขนาดเล็กและใหญ่ขึ้นปะปนกัน และมีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง ต่อมาพื้นที่นี้กลับกลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ที่มีเรือนยอดเพียงชั้นเดียว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เกิดวิกฤตการณ์ภัยแล้ง ภายหลังจากการดำเนินการบริหารจัดการน้ำ ชุมชนบ้านมาบจันทร์ และชุมชนอื่น ๆ รอบเขายายดาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี อย่างต่อเนื่อง ตามโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ จาก SCGC ได้แก่ การสร้างคน-สร้างกติกา-เก็บน้ำ-เก็บข้อมูล พบว่าในปี 2565 ป่าต้นน้ำเขายายดาให้น้ำท่าในลำธารรวมผลผลิตเกือบ 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ จากการศึกษาที่ผ่านมาโดยการสำรวจ และแปรภาพถ่ายทางอากาศ พบพื้นที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์และ มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น โดยพบพรรณไม้ถึง 120 ชนิดพันธุ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 123 ชนิด อีกทั้งยังพบว่ามีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยตลอดทั้งปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยกว่า 40 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไร่
งานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพ และการสร้างโอกาสทางการตลาด โดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) มีภารกิจสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio Economy) โดยในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “BEDO-BGC Society Forum เศรษฐกิจชีวภาพ สร้างสรรค์ สร้างอนาคต” มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา เครือข่ายความร่วมมือและวิสาหกิจชุมชนกว่า 5,000 คน ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ควบคู่กับการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสำนักงานฯ มีแผนการนำแนวคิดมูลค่าระบบนิเวศบริการไปขยายผลในพื้นที่อื่น ผ่านเครือข่ายชุมชนต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.scgchemicals.com
Published on: Jul 11, 2023