เมื่อจำนวนบุคลากร เงินทุน และความใหญ่ขององค์กรไม่ใช่ข้อได้เปรียบอีกต่อไป [Advertorial]

เกือบ 2 ปี ที่ SCG ได้จัดตั้งหน่วยงานด้าน Digital Transformation และเปิดบริษัท AddVentures ในรูปแบบ CVC (Corporate Venture Capital) ตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพทั่วโลก ผนึกกำลังความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและองค์กรภายนอก และริเริ่มโครงการ Internal Startup บ่มเพาะพนักงานที่มีศักยภาพและ มีแพสชันในการทำธุรกิจ มีวิธีคิดและการทำงานเหมือนสตาร์ทอัพ ทั้งหมดนี้ เอสซีจีตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้งบประมาณสำหรับ Digital technology ราว 6 พันล้านบาทภายใน 5 ปี

“ความใหญ่ เงินทุน จำนวนบุคลากรไม่ใช่ความได้เปรียบอีกต่อไป ตอนนี้เป็นเรื่องความสามารถในการปรับตัวขององค์กร” คุณยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าว

คุณยุทธนายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “ถ้าไม่ทำ ก็ไม่รอด” นี่คือแผนการขยับตัวครั้งประวัติศาสตร์ของบริษัทใหญ่ในขวบปีที่ 105

ยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี

บริษัทยิ่งใหญ่ ยิ่งต้องปรับเข้าหาลูกค้า

ปัจจุบันเอสซีจีมีธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เคมิคอลส์ และแพ็กเกจจิ้ง

การปรับธุรกิจทุกส่วนย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็นำไปสู่ ‘โอกาสใหม่ๆ’ เช่นกัน คุณยุทธนาเผยว่า มุ่งเน้นการทำงานใน 3 ส่วนงานหลัก คือ

  1. ปรับแก่นธุรกิจหลักให้ทันผู้บริโภค

ยุคนี้บริษัทต้องปรับเข้าหาความต้องการลูกค้าเป็นหลัก (Customer-Centric) ระบุกลุ่มลูกค้าและความต้องการของลูกค้าให้ได้ จึงจะพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ได้ด้วย ‘ความเร็ว’ ที่เหนือกว่าเดิม ที่ผ่านมาธุรกิจแพ็กเกจจิ้งของเอสซีจีได้อานิสงส์เติบโตจากเทรนด์การซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่กำลังมาแรง จึงต่อยอดบริการใหม่ เช่น SCG Express บริการจัดส่งพัสดุแบบเร่งด่วน โดยร่วมทุนกับ ‘แมวดำ’ หรือบริษัท Yamato Express จากญี่ปุ่น

“เมื่อไรที่เราเห็นปัญหา แสดงว่าเราสายไปแล้ว เราต้องเตรียมตัวและคาดการณ์ถึงจะได้สปีด 2-3 ปีมานี้เราปรับตัวเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค แต่อีก 5-6 เดือนข้างหน้า มันจะเปลี่ยนเร็วกกว่านี้อีก เราต้องมุ่งเข้าหาความต้องการของลูกค้าเท่านั้น”

  1. ปรับการทำงานสู่ Passion for Better

ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้จัดตั้งบริษัท AddVentures เป็นหน่วยงานด้านการลงทุน หรือ CVC และพัฒนาความร่วมมือแบบ Open Collaboration ตั้งแต่การร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก การลงทุนในสตาร์ทอัพไทย-ต่างประเทศ และพัฒนาความร่วมมือภายในองค์กร นำทีมโดย ดร.จาชชัว แพส ผู้อำนวยการ Digital Transformation ควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ AddVentures

“วันแรกที่ตั้งกองทุน มีคนถามว่า เราทำไปเพื่ออะไร

“สมมติฐานแรกที่เราคุยกันคือ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่รอด ตอนนี้ถ้าบริษัทไหนไม่ขับเคลื่อนเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้เร็วขึ้น อย่าว่าแต่เพิ่มยอดขายเลย ตอนนี้ทำธุรกิจให้อยู่ต่อ ไม่ถดถอยก็เก่งแล้วนะครับ” คุณยุทธนากล่าว

  1. ปรับวิธีคิด (Mindset) สร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ (Culture)

การพัฒนาบุคลากรถือเป็นโจทย์สุดท้าทายขององค์กรธุรกิจในยุค Disruption ให้ทันการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล ในยุคที่ธุรกิจต้องขยับตัวตลอดเวลา การทำงานตามระบบขั้นตอน หรือแม้แต่การประเมินผลแบบเดิมๆ อาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป จึงเป็นที่มาของโครงการบ่มเพาะธุรกิจสำหรับพนักงานภายในองค์กร หรือ Internal Startup ผ่านโปรแกรม Hatch Walk Fly ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ

  • ระยะฟักไข่ (Hatch) – ค้นหาความต้องการของลูกค้าหรือประเด็นที่น่าสนใจ
  • ระยะเดิน (Walk) – หาวิธีการตอบโจทย์ความต้องการหรือแก้ไขปัญหา
  • ระยะบิน (Fly) – ขยายผลหรือ Scale Up ให้กลายเป็นธุรกิจ

โปรแกรมนี้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่อย่างเจนวายและเจนซีที่มีแพสชัน ได้มีเวทีพัฒนาไอเดียให้เป็นผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันมี Internal Startup ทั้งหมด 9 ทีม โดยตั้งเป้าว่า จะสามารถเติบโตเป็นธุรกิจได้ในอนาคต ที่สำคัญวิธีนี้จะช่วยสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ ให้พนักงานมี DNA แบบคนทำธุรกิจสตาร์ทอัพ มีลักษณะการทำงานแบบ Agile ค้นหาความต้องการของลูกค้า และวิธีตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ด้วยเครื่องมือใหม่ๆ เช่น Design Thinking

ดร.จาชชัว แพส ผู้อำนวยการ Digital Transformation และกรรมการผู้จัดการ AddVentures

ลงทุนในอนาคตด้วยการหาพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง และกล้า Disrupt ตัวเอง

โจทย์สำคัญของหน่วยงาน Digital Transformation คือเร่งการปรับตัวให้เร็วขึ้น และสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ หรือ New S-Curve

ในฐานะหัวเรือใหญ่ ดร.จาชชัว แพส มองว่า บริษัทจะต้องคิดหาวิธีใหม่ๆ (Innovate) กล้า Disrupt ความคิดล้าสมัยของตนเอง และพัฒนาธุรกิจหลักด้วยข้อมูล (Data-centric Business) มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งภาคบริการและการผลิต

ปี 2017 บริษัท AddVentures ได้ลงทุนผ่านกองทุนชั้นนำที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ (Fund of Fund Investment) จำนวน 2 ราย คือ Wavemaker และ Vertex Ventures ทั้งยังลงทุนในสตาร์ทอัพโดยตรงอีก 9 ราย เช่น Builk แพลตฟอร์มการบริหารธุรกิจก่อสร้าง, GetLinks แพลตฟอร์มการจัดหางานโดยคนไทยที่เน้นสาย 3D (Developers, Designers, Digital Marketers) แถมยังคว้าเงินลงทุนจาก Alibaba, Adatos.ai สตาร์ทอัพสิงคโปร์-อเมริกา ผู้พัฒนาเทคโนโลยี AI และ Big Data สำหรับเกษตรกรรม ที่สำคัญ ดร.จาชชัว มองว่า ธุรกิจเหล่านี้อยู่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่น่าสนใจ มีศักยภาพพัฒนาต่อในอนาคต และสอดคล้องกับธุรกิจในเครือเอสซีจี พร้อมชี้ว่า อินเดียคือโอกาสใหม่ของธุรกิจและการลงทุน

ด้าน พลภัทร ทรงธัมจิตติ Co-Founder & CMO แห่ง GetLinks เสริมว่า บริษัทได้ทำงานร่วมกับเอสซีจีในด้านการเสริมทัพบุคลากรดิจิทัลทั้ง 3 กลุ่ม คือ นักออกแบบ ดีเวลอปเปอร์ และนักการตลาดดิจิทัล รวมทั้งใช้ AI และ Big Data Analytics เข้ามาช่วยคัดเลือก Talent หรือบุคลากรต่างชาติฝีมือดีในแต่ละภูมิภาคที่ทาง AddVentures เข้าไปลงทุน เขายังมองว่า เอสซีจีเป็น Adaptive Organization หรือบริษัทต้นแบบที่ปรับตัวสู่อนาคตได้ดีเยี่ยม

พลภัทร ทรงธัมจิตติ Co-Founder & CMO บริษัท GetLinks

ดร.จาชชัว อธิบายเสริมว่า การลงทุนนั้นใช้เวลาหลายปี สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การหาพาร์ตเนอร์ (Commercial Partnership) ที่ตรงกับโจทย์ความต้องการของกลุ่มธุรกิจของเอสซีจี เช่น การนำระบบบริหารจัดการด้านการขนส่งของ GIZTIX แพลตฟอร์มด้านโลจิสติกส์ เข้ามาเสริมธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อบริหาร ‘Spike In Demand’ หรือความต้องการของลูกค้าที่พุ่งทะยานถึงจุดพีกอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ช่วงโปรโมชันลดราคา

ทีมงาน Rudy

ความท้าทายของ Internal Startup ที่ผู้บริหารและพนักงานต้องรู้!

การสร้างสตาร์ทอัพในองค์กร นับเป็นความท้าทายทั้งสำหรับฝ่ายผู้บริหารและพนักงานเอง แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ รู้ดี (Rudy) หนึ่งในทีม Internal Startup ที่เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่พัฒนามาจนถึงระยะ ‘Walk’

Rudy คือแพลตฟอร์ม ‘ผู้ช่วย’ สำหรับการขายวัสดุก่อสร้าง ที่ส่งพนักงานขายไปพบลูกค้าที่ไซต์งาน (Onsite sales) ซึ่งจะไปนำเสนอสินค้าที่ไซต์ก่อสร้าง ให้ผู้ใช้สามารถตอบคำถามลูกค้าได้ถูกต้อง สั่งสินค้ามาหน้างานได้ครบถ้วน ลดเวลาและขั้นตอนต่างๆ ทำให้จบกระบวนการขายได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากทีมงาน Rudy ทำงานเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างมาอย่างยาวนาน จึงเล็งเห็นปัญหาและเข้าใจความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี หลังจากเก็บข้อมูลมากว่า 3 ปี เมื่อ SCG เริ่มมีโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ จึงชวนกันระดมไอเดียและพัฒนาโมเดลธุรกิจ จนมาลงตัวที่ซอฟต์แวร์ให้บริการด้านการขาย (Software as a Service: SaaS)

“ข้อดีของการทำสตาร์ทอัพภายในองค์กรคือ การทำงานโดยมีองค์กรขนาดใหญ่ซัพพอร์ตในเรื่องข้อมูล Connection และเรื่องทีมงาน ถ้าเราไม่มีเวทีนี้ และออกไปทำข้างนอกเอง เราค่อนข้างที่จะต้องเสี่ยงมากในเชิงธุรกิจ โดยที่เราเห็นกัน 95% ของสตาร์ทอัพ พบอุปสรรคและไปไม่ถึงฝั่งฝันนะครับ แค่ 5% เท่านั้นที่รอดและเติบโตได้ พอ SCG ยื่นโอกาสนี้ให้ เรามองว่า นอกจากผู้บริโภคจะได้ใช้ Software ที่รวดเร็วและดีขึ้น ในแง่ธุรกิจถือเป็นโอกาสที่ดี สามารถลดความเสี่ยงได้ ซึ่งจะนำไปสู่หนทางการเริ่มต้นธุรกิจอย่างมั่นคง”

“ทีม Rudy เรามองว่า จะทำอย่างไรให้บริการตรงนี้สามารถออกไปสู่ตลาดได้จริง และถึงมือผู้บริโภค เพราะฉะนั้นเวลาเราจะเลือกว่าจะเป็น Internal หรือ External Startup เราจะต้องคำนึงถึงการเข้าถึงข้อมูลแบบ Real Time ครบถ้วน (Big Data) นำไปบริหารได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมั่นใจได้ว่าผู้บริโภคหรือ User จะได้ประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งถ้าเราเลือกออกไปทำเอง อาจจะเป็น 95% ที่หายไปก็ได้ หรือแพลตฟอร์มอาจจะไม่แม่นยำในเรื่องของข้อมูลและเครือข่าย ดังนั้นผมมองว่า ในอนาคต พนักงานของ SCG สามารถใช้โอกาสนี้ในการมองอนาคตของตัวเอง ไม่ต้องออกไปเปิดธุรกิจของตัวเองก็ได้ แต่มองทุกคนเป็นพาร์ตเนอร์ และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่าง Win-Win ซึ่งจะทำให้เป็นสตาร์ทอัพที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน”

ทีมงานยังเสริมว่า การทำงานแบบสตาร์ทอัพ ทำให้พวกเขาได้ศึกษาสำรวจปัญหาของลูกค้า และเข้าใจความต้องการที่แท้จริง จึงยิ่งมีโอกาสคิดหาและพัฒนาวิธีแก้ไขให้ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้องทดสอบและปรับไอเดียกันตลอดเวลา

“สุดท้ายแล้วเราไม่ได้พัฒนาเฉพาะในทีมของเรา แต่เอา Know-how และประสบการณ์ไปแชร์กับเพื่อนพนักงานในธุรกิจอื่นๆ ใน SCG ด้วย”

“เคยมีคนถามว่าคนที่ทำ Internal Startup ด้วย Mindset ของคนทำงานประจำ มันจะรอดเหรอ ผมคิดว่าคนที่ทำงานเดิมๆ ซ้ำๆ มาตลอด เป็นคนที่เห็น Pain point ดีที่สุดแล้ว ถ้าเห็น Pain แล้วคิดหา Solution ได้ Solution นั้นมีโอกาสจะสำเร็จค่อนข้างสูง นี่เป็นข้อได้เปรียบในมุมมองของพนักงานบริษัท”

เรามาจับตามองกันว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า Rudy จะ Transform ไปเป็นธุรกิจแบบไหน และสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาเซอร์ไพรส์ผู้บริโภคต่อไปบ้าง

(Visited 2,023 times, 1 visits today)