เกือบ 2 ปี ที่ SCG ได้จัดตั้งหน่วยงานด้าน Digital Transformation และเปิดบริษัท AddVentures ในรูปแบบ CVC (Corporate Venture Capital) ตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพทั่วโลก ผนึกกำลังความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและองค์กรภายนอก และริเริ่มโครงการ Internal Startup บ่มเพาะพนักงานที่มีศักยภาพและ มีแพสชันในการทำธุรกิจ มีวิธีคิดและการทำงานเหมือนสตาร์ทอัพ ทั้งหมดนี้ เอสซีจีตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้งบประมาณสำหรับ Digital technology ราว 6 พันล้านบาทภายใน 5 ปี
“ความใหญ่ เงินทุน จำนวนบุคลากรไม่ใช่ความได้เปรียบอีกต่อไป ตอนนี้เป็นเรื่องความสามารถในการปรับตัวขององค์กร” คุณยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าว
คุณยุทธนายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “ถ้าไม่ทำ ก็ไม่รอด” นี่คือแผนการขยับตัวครั้งประวัติศาสตร์ของบริษัทใหญ่ในขวบปีที่ 105
บริษัทยิ่งใหญ่ ยิ่งต้องปรับเข้าหาลูกค้า
ปัจจุบันเอสซีจีมีธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เคมิคอลส์ และแพ็กเกจจิ้ง
การปรับธุรกิจทุกส่วนย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็นำไปสู่ ‘โอกาสใหม่ๆ’ เช่นกัน คุณยุทธนาเผยว่า มุ่งเน้นการทำงานใน 3 ส่วนงานหลัก คือ
- ปรับแก่นธุรกิจหลักให้ทันผู้บริโภค
ยุคนี้บริษัทต้องปรับเข้าหาความต้องการลูกค้าเป็นหลัก (Customer-Centric) ระบุกลุ่มลูกค้าและความต้องการของลูกค้าให้ได้ จึงจะพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ได้ด้วย ‘ความเร็ว’ ที่เหนือกว่าเดิม ที่ผ่านมาธุรกิจแพ็กเกจจิ้งของเอสซีจีได้อานิสงส์เติบโตจากเทรนด์การซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่กำลังมาแรง จึงต่อยอดบริการใหม่ เช่น SCG Express บริการจัดส่งพัสดุแบบเร่งด่วน โดยร่วมทุนกับ ‘แมวดำ’ หรือบริษัท Yamato Express จากญี่ปุ่น
“เมื่อไรที่เราเห็นปัญหา แสดงว่าเราสายไปแล้ว เราต้องเตรียมตัวและคาดการณ์ถึงจะได้สปีด 2-3 ปีมานี้เราปรับตัวเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค แต่อีก 5-6 เดือนข้างหน้า มันจะเปลี่ยนเร็วกกว่านี้อีก เราต้องมุ่งเข้าหาความต้องการของลูกค้าเท่านั้น”
- ปรับการทำงานสู่ Passion for Better
ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้จัดตั้งบริษัท AddVentures เป็นหน่วยงานด้านการลงทุน หรือ CVC และพัฒนาความร่วมมือแบบ Open Collaboration ตั้งแต่การร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก การลงทุนในสตาร์ทอัพไทย-ต่างประเทศ และพัฒนาความร่วมมือภายในองค์กร นำทีมโดย ดร.จาชชัว แพส ผู้อำนวยการ Digital Transformation ควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ AddVentures
“วันแรกที่ตั้งกองทุน มีคนถามว่า เราทำไปเพื่ออะไร
“สมมติฐานแรกที่เราคุยกันคือ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่รอด ตอนนี้ถ้าบริษัทไหนไม่ขับเคลื่อนเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้เร็วขึ้น อย่าว่าแต่เพิ่มยอดขายเลย ตอนนี้ทำธุรกิจให้อยู่ต่อ ไม่ถดถอยก็เก่งแล้วนะครับ” คุณยุทธนากล่าว
- ปรับวิธีคิด (Mindset) สร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ (Culture)
การพัฒนาบุคลากรถือเป็นโจทย์สุดท้าทายขององค์กรธุรกิจในยุค Disruption ให้ทันการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล ในยุคที่ธุรกิจต้องขยับตัวตลอดเวลา การทำงานตามระบบขั้นตอน หรือแม้แต่การประเมินผลแบบเดิมๆ อาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป จึงเป็นที่มาของโครงการบ่มเพาะธุรกิจสำหรับพนักงานภายในองค์กร หรือ Internal Startup ผ่านโปรแกรม Hatch Walk Fly ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ
- ระยะฟักไข่ (Hatch) – ค้นหาความต้องการของลูกค้าหรือประเด็นที่น่าสนใจ
- ระยะเดิน (Walk) – หาวิธีการตอบโจทย์ความต้องการหรือแก้ไขปัญหา
- ระยะบิน (Fly) – ขยายผลหรือ Scale Up ให้กลายเป็นธุรกิจ
โปรแกรมนี้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่อย่างเจนวายและเจนซีที่มีแพสชัน ได้มีเวทีพัฒนาไอเดียให้เป็นผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันมี Internal Startup ทั้งหมด 9 ทีม โดยตั้งเป้าว่า จะสามารถเติบโตเป็นธุรกิจได้ในอนาคต ที่สำคัญวิธีนี้จะช่วยสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ ให้พนักงานมี DNA แบบคนทำธุรกิจสตาร์ทอัพ มีลักษณะการทำงานแบบ Agile ค้นหาความต้องการของลูกค้า และวิธีตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ด้วยเครื่องมือใหม่ๆ เช่น Design Thinking
ลงทุนในอนาคตด้วยการหาพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง และกล้า Disrupt ตัวเอง
โจทย์สำคัญของหน่วยงาน Digital Transformation คือเร่งการปรับตัวให้เร็วขึ้น และสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ หรือ New S-Curve
ในฐานะหัวเรือใหญ่ ดร.จาชชัว แพส มองว่า บริษัทจะต้องคิดหาวิธีใหม่ๆ (Innovate) กล้า Disrupt ความคิดล้าสมัยของตนเอง และพัฒนาธุรกิจหลักด้วยข้อมูล (Data-centric Business) มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งภาคบริการและการผลิต
ปี 2017 บริษัท AddVentures ได้ลงทุนผ่านกองทุนชั้นนำที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ (Fund of Fund Investment) จำนวน 2 ราย คือ Wavemaker และ Vertex Ventures ทั้งยังลงทุนในสตาร์ทอัพโดยตรงอีก 9 ราย เช่น Builk แพลตฟอร์มการบริหารธุรกิจก่อสร้าง, GetLinks แพลตฟอร์มการจัดหางานโดยคนไทยที่เน้นสาย 3D (Developers, Designers, Digital Marketers) แถมยังคว้าเงินลงทุนจาก Alibaba, Adatos.ai สตาร์ทอัพสิงคโปร์-อเมริกา ผู้พัฒนาเทคโนโลยี AI และ Big Data สำหรับเกษตรกรรม ที่สำคัญ ดร.จาชชัว มองว่า ธุรกิจเหล่านี้อยู่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่น่าสนใจ มีศักยภาพพัฒนาต่อในอนาคต และสอดคล้องกับธุรกิจในเครือเอสซีจี พร้อมชี้ว่า อินเดียคือโอกาสใหม่ของธุรกิจและการลงทุน
ด้าน พลภัทร ทรงธัมจิตติ Co-Founder & CMO แห่ง GetLinks เสริมว่า บริษัทได้ทำงานร่วมกับเอสซีจีในด้านการเสริมทัพบุคลากรดิจิทัลทั้ง 3 กลุ่ม คือ นักออกแบบ ดีเวลอปเปอร์ และนักการตลาดดิจิทัล รวมทั้งใช้ AI และ Big Data Analytics เข้ามาช่วยคัดเลือก Talent หรือบุคลากรต่างชาติฝีมือดีในแต่ละภูมิภาคที่ทาง AddVentures เข้าไปลงทุน เขายังมองว่า เอสซีจีเป็น Adaptive Organization หรือบริษัทต้นแบบที่ปรับตัวสู่อนาคตได้ดีเยี่ยม
ดร.จาชชัว อธิบายเสริมว่า การลงทุนนั้นใช้เวลาหลายปี สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การหาพาร์ตเนอร์ (Commercial Partnership) ที่ตรงกับโจทย์ความต้องการของกลุ่มธุรกิจของเอสซีจี เช่น การนำระบบบริหารจัดการด้านการขนส่งของ GIZTIX แพลตฟอร์มด้านโลจิสติกส์ เข้ามาเสริมธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อบริหาร ‘Spike In Demand’ หรือความต้องการของลูกค้าที่พุ่งทะยานถึงจุดพีกอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ช่วงโปรโมชันลดราคา
ความท้าทายของ Internal Startup ที่ผู้บริหารและพนักงานต้องรู้!
การสร้างสตาร์ทอัพในองค์กร นับเป็นความท้าทายทั้งสำหรับฝ่ายผู้บริหารและพนักงานเอง แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ รู้ดี (Rudy) หนึ่งในทีม Internal Startup ที่เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่พัฒนามาจนถึงระยะ ‘Walk’
Rudy คือแพลตฟอร์ม ‘ผู้ช่วย’ สำหรับการขายวัสดุก่อสร้าง ที่ส่งพนักงานขายไปพบลูกค้าที่ไซต์งาน (Onsite sales) ซึ่งจะไปนำเสนอสินค้าที่ไซต์ก่อสร้าง ให้ผู้ใช้สามารถตอบคำถามลูกค้าได้ถูกต้อง สั่งสินค้ามาหน้างานได้ครบถ้วน ลดเวลาและขั้นตอนต่างๆ ทำให้จบกระบวนการขายได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากทีมงาน Rudy ทำงานเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างมาอย่างยาวนาน จึงเล็งเห็นปัญหาและเข้าใจความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี หลังจากเก็บข้อมูลมากว่า 3 ปี เมื่อ SCG เริ่มมีโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ จึงชวนกันระดมไอเดียและพัฒนาโมเดลธุรกิจ จนมาลงตัวที่ซอฟต์แวร์ให้บริการด้านการขาย (Software as a Service: SaaS)
“ข้อดีของการทำสตาร์ทอัพภายในองค์กรคือ การทำงานโดยมีองค์กรขนาดใหญ่ซัพพอร์ตในเรื่องข้อมูล Connection และเรื่องทีมงาน ถ้าเราไม่มีเวทีนี้ และออกไปทำข้างนอกเอง เราค่อนข้างที่จะต้องเสี่ยงมากในเชิงธุรกิจ โดยที่เราเห็นกัน 95% ของสตาร์ทอัพ พบอุปสรรคและไปไม่ถึงฝั่งฝันนะครับ แค่ 5% เท่านั้นที่รอดและเติบโตได้ พอ SCG ยื่นโอกาสนี้ให้ เรามองว่า นอกจากผู้บริโภคจะได้ใช้ Software ที่รวดเร็วและดีขึ้น ในแง่ธุรกิจถือเป็นโอกาสที่ดี สามารถลดความเสี่ยงได้ ซึ่งจะนำไปสู่หนทางการเริ่มต้นธุรกิจอย่างมั่นคง”
“ทีม Rudy เรามองว่า จะทำอย่างไรให้บริการตรงนี้สามารถออกไปสู่ตลาดได้จริง และถึงมือผู้บริโภค เพราะฉะนั้นเวลาเราจะเลือกว่าจะเป็น Internal หรือ External Startup เราจะต้องคำนึงถึงการเข้าถึงข้อมูลแบบ Real Time ครบถ้วน (Big Data) นำไปบริหารได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมั่นใจได้ว่าผู้บริโภคหรือ User จะได้ประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งถ้าเราเลือกออกไปทำเอง อาจจะเป็น 95% ที่หายไปก็ได้ หรือแพลตฟอร์มอาจจะไม่แม่นยำในเรื่องของข้อมูลและเครือข่าย ดังนั้นผมมองว่า ในอนาคต พนักงานของ SCG สามารถใช้โอกาสนี้ในการมองอนาคตของตัวเอง ไม่ต้องออกไปเปิดธุรกิจของตัวเองก็ได้ แต่มองทุกคนเป็นพาร์ตเนอร์ และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่าง Win-Win ซึ่งจะทำให้เป็นสตาร์ทอัพที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน”
ทีมงานยังเสริมว่า การทำงานแบบสตาร์ทอัพ ทำให้พวกเขาได้ศึกษาสำรวจปัญหาของลูกค้า และเข้าใจความต้องการที่แท้จริง จึงยิ่งมีโอกาสคิดหาและพัฒนาวิธีแก้ไขให้ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้องทดสอบและปรับไอเดียกันตลอดเวลา
“สุดท้ายแล้วเราไม่ได้พัฒนาเฉพาะในทีมของเรา แต่เอา Know-how และประสบการณ์ไปแชร์กับเพื่อนพนักงานในธุรกิจอื่นๆ ใน SCG ด้วย”
“เคยมีคนถามว่าคนที่ทำ Internal Startup ด้วย Mindset ของคนทำงานประจำ มันจะรอดเหรอ ผมคิดว่าคนที่ทำงานเดิมๆ ซ้ำๆ มาตลอด เป็นคนที่เห็น Pain point ดีที่สุดแล้ว ถ้าเห็น Pain แล้วคิดหา Solution ได้ Solution นั้นมีโอกาสจะสำเร็จค่อนข้างสูง นี่เป็นข้อได้เปรียบในมุมมองของพนักงานบริษัท”
เรามาจับตามองกันว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า Rudy จะ Transform ไปเป็นธุรกิจแบบไหน และสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาเซอร์ไพรส์ผู้บริโภคต่อไปบ้าง