เอสซีจีสานพลังประชารัฐ ผ่าทางตันชุมชนบึงบางซื่อ โมเดลการพัฒนาที่ชุมชนออกแบบเอง [Advertorial]

Photo: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

จากบ่อฝรั่ง สู่ บึงบางซื่อ

‘บึงบางซื่อ’ บึงน้ำขนาดใหญ่กลางเมือง แออัดไปด้วยบ้านเรือน ไม่มีถนนเข้า-ออกแห่งนี้ เป็นที่อาศัยของผู้คนกว่า 250 ครัวเรือน รวมประมาณ 1,300 คน

ย้อนไปเมื่อ 103 ปีก่อน บริเวณตรงนี้เป็นแหล่ง ‘ดินดำ’ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปูนซีเมนต์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตั้งโรงงานบางซื่อ เริ่มขุดดินดำจากบึงบางซื่อเป็นวัตถุดิบ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2458 สมัยนั้นต้องใช้ชาวต่างชาติเป็นวิศวกร โดยมีคนงานเป็นคนไทย พื้นที่รอบบึงจึงเป็นที่พักอาศัยให้กับคนงานและครอบครัว ซึ่งพวกเราเรียกมันว่า ‘บ่อฝรั่ง’

 

หลังเลิกใช้งานบึงบางซื่อ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2511 ชุมชนดั้งเดิมก็คือครอบครัวคนงานที่เคยทำงานกับเอสซีจียังคงอยู่อาศัยต่อจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งมีคนต่างถิ่นทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดอพยพเข้ามาอยู่ จากที่พักคนงานกลายเป็นชุมชนแออัดในพื้นที่ตาบอด

พัฒนาไม่ได้ ถ้าไม่ร่วมใจกันสานพลัง

เอสซีจีมีนโยบายชัดเจนแต่ต้นว่าอยากพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยชุมชน และบึงน้ำสวนสาธารณะ แต่สิ่งที่องค์กรธุรกิจขาดไม่ใช่เงิน แต่คือความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่ชุมชนและอำนาจภาครัฐ

ช่วงแรกจึงเหมือนเจอทางตันตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากเส้นทางเข้าออกชุมชนเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งผลไปถึงการวางระบบไฟฟ้า ประปา  นอกจากนี้ยังต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานภาครัฐในเรื่องการขออนุญาตและการดำเนินงานต่างๆ

 

แต่แล้วประตูบานแรกก็ถูกเปิด เมื่อเอสซีจีได้รับคำแนะนำจาก พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้นำแนวทางของสานพลังประชารัฐมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ เกิดเป็น ‘โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ’ รวมพลังองค์กรภาครัฐที่เคยกระจัดกระจายมาร่วมเป้าหมายเดียวกัน มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ให้การสนับสนุนสินเชื่อชุมชน

ทางเข้า-ออกที่เคยเป็นปัญหาก็ถูกอนุญาตให้เช่าโดย รฟท.

ขณะที่การขออนุญาตและการพัฒนาต่างๆ ก็ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตจตุจักร และกรุงเทพมหานคร

ประตูกลไกรัฐที่เคยฝืดติดขัดถูกเปิดออกแล้ว เหลือเพียงประตูบ้านของคนในชุมชนที่เอสซีจีต้องแสดงความจริงใจเพื่อให้พวกเขาเปิดต้อนรับ

โมเดลพัฒนาชุมชน คนในชุมชนต้องออกแบบได้

“เอสซีจีจะมายึดที่คืนแล้ว!” คือสิ่งที่คนในชุมชนส่วนใหญ่พูดออกมาเมื่อเอสซีจีเริ่มเข้ามาสำรวจพื้นที่

Photo: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

ป้าเล็ก-ปราณี สินปรุ แกนนำชุมชน เล่าให้เราฟังถึงความยากลำบากในการสร้างความเชื่อใจและเข้าใจกับคนในชุมชนกว่า 5 ชุมชน ว่าทำได้ยากมาก เพราะตอนแรกแทบไม่มีใครเชื่อ

สิ่งที่ป้าเล็กทำคือ รวมคนส่วนน้อยทำให้คนส่วนใหญ่เห็น

ป้าเล็กรวมกลุ่มชาวบ้านที่เข้าใจและเชื่อมั่นในโครงการสานพลังประชารัฐกลุ่มแรก 12 หลัง ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ โดยต้องออมเงินเข้ากองทุนสหกรณ์ชุมชนให้ได้อย่างน้อย 10% ของวงเงินกู้ หรือประมาณ 30,000 บาท ทาง พอช. จึงจะอนุมัติวงเงินมาสร้างบ้านให้

 

บ้าน 12 หลังใหม่ถูกสร้างขึ้นในโซนเดียวกันบนพื้นที่ส่วนหนึ่งริมคลองบางซื่อ โดยทุกคนยอมรื้อบ้านเดิมที่กระจายกันตั้งอยู่ตามส่วนต่างๆ ของพื้นที่ริมคลอง

บ้านเก่าชุดแรกทั้ง 12 หลังถูกรื้อทิ้งไปพร้อมกับข้อกังขาคาใจของผู้คนในชุมชน วงประชุมขยายใหญ่ขึ้นจนสมาชิกครอบคลุมกว่า 95% ของครัวเรือนในชุมชน

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี บอกถึงเบื้องหลังการออกแบบชุมชนว่า เอสซีจีเป็นเพียงผู้เปิดพื้นที่ให้ชุมชนมาร่วมกันออกแบบตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง ตั้งแต่การออกแบบบ้านที่เหมาะสมกับจำนวนสมาชิก การวางผังบ้านที่ให้ความเป็นธรรมในเรื่องทำเล การประกอบอาชีพ และข้อจำกัดส่วนบุคคล รวมถึงหลักการการใช้พื้นที่ในเมืองซึ่งมีจำกัดอย่างคุ้มค่า

สิ่งที่ได้คือ ชุมชนออกแบบให้มีบ้านส่วนกลางสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้และคนดูแล โดยทุกคนยอมเสียสละเงินสมทบกันสร้างขึ้น รวมไปถึงรายละเอียดเล็กๆ ของการอยู่ร่วมกัน เช่น พื้นที่จอดรถส่วนกลาง พื้นที่ส่วนกลางไว้เก็บอุปกรณ์สำหรับอาชีพค้าขาย มีครัวกลาง มีลานกีฬา และพื้นที่สีเขียว

การสร้างที่อยู่อาศัยก็มีทั้งบ้านทาวน์เฮาส์ 60 ยูนิต และอาคารชุด 4 ชั้น 3 อาคาร รวม 133 ยูนิต มีการจัดโซนที่อยู่อาศัยก็ใช้ระบบตกลงกันให้กลุ่มชุมชนเดิมได้อยู่ใกล้กันเพื่อรักษาโครงสร้างและความผูกพันทางสังคมเดิมและเครือญาติไว้ และป้องกันความขัดแย้งในการแย่งพื้นที่ ขณะที่เงื่อนไขในการกู้เงินยังคงเดิมคือต้องออมเงินเข้าสหกรณ์อย่างน้อย 10% ของวงเงินกู้ โดยในช่วงเวลา 1 ปี 8 เดือน ชุมชนออมได้แล้วกว่า 6 ล้านบาท

ส่วนพื้นที่บึงน้ำขนาดใหญ่ จะพัฒนาเป็นบึงน้ำสวนสาธารณะตามแนวคิดการแบ่งปันพื้นที่ให้กับชุมชนและสังคมโดยรอบ ให้มีความเป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกายสำหรับคน กทม.

โมเดลพัฒนาชุมชนบางซื่อ ถือเป็นผลงานรูปธรรมของโครงการสานพลังประชารัฐ ที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมไทย ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยการรวมพลังเครือข่ายภาครัฐ และสามารถใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนเมืองในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้อย่างแท้จริง

โดย พลวุฒิ สงสกุล

(Visited 2,421 times, 1 visits today)