พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” เป็นแห่งที่ 8 ให้แก่โรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” เพื่อรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้โรงพยาบาลต่าง ๆ 20 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลราชบุรีถือเป็นศูนย์กลางในการรับส่งต่อผู้ป่วย 8 จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งมีผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างชาติมาใช้บริการจำนวนมากในแต่ละวัน ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยการแยกพื้นที่ระหว่างทีมแพทย์และคนไข้ห่างออกจากกัน และใช้ระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม พร้อมกับมีระบบฆ่าเชื้อ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยสามารถติดตั้งในพื้นที่จำกัดได้อย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน เพื่อให้พร้อมบริการแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนได้ทันที ยังความปลื้มปีติแก่ทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่า ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น โดยมี นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี แพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย นายแพทย์พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี และ นายแสงชัย วิริยะอำไพวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ร่วมพิธีรับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว
นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระเมตตาต่อบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลราชบุรี และพสกนิกรจังหวัดราชบุรีอย่างหาที่สุดมิได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน เพื่อรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ รวม 20 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งได้รับพระราชทานเป็นแห่งที่ 8 บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลราชบุรี และประชาชนทุกคน รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และจะนำนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดเต็มกำลังความสามารถ และเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเป็นแนวหน้า อีกทั้งเป็นกำลังหลักในการรักษาผู้ป่วยให้มีขวัญ มีกำลังใจ และมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานต่อไป”
ด้าน แพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า “สาธารณสุขจังหวัดราชบุรีพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล้วนรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีต่อการแพทย์และการสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมรับมอบห้องพระราชทานนี้ นับเป็นประโยชน์มหาศาลแก่โรงพยาบาลราชบุรีในการเพิ่มความพร้อมและสามารถรับมือกับโรคระบาดซึ่งใช้เวลาก่อสร้างอย่างรวดเร็วและใช้งานได้ทันที อีกทั้งยังสามารถปรับเป็นห้องตรวจผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจได้เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้โรงพยาบาลให้บริการสาธารณสุขที่ดีแก่ประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม
นายแพทย์พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า “โรงพยาบาลราชบุรี เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 855 เตียง ให้บริการผู้ป่วย8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และภายในจังหวัดราชบุรี และเป็นศูนย์รับ-ส่งต่อผู้ป่วยในเขตบริการสุขภาพที่ 5 ในแต่ละวันมีจำนวนผู้ป่วยมารับบริการเป็นจำนวนมากรวมทั้งชาวต่างชาติ จำนวนผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 3,251 รายต่อวัน จำนวนผู้ป่วยในเฉลี่ย 731 รายต่อวัน จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และการให้บริการแบบเดิมมีลักษณะแออัด ในบริเวณพื้นที่จำกัดของโรงพยาบาล และมีข้อจำกัดด้านปริมาณของเจ้าหน้าที่และบุคคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นอย่างยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระเมตตาต่อจังหวัดราชบุรี บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลราชบุรี อย่างหาที่สุดมิได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน เพื่อรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ รวม 20 แห่งทั่วประเทศ รวมถึง โรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งได้รับพระราชทานเป็นแห่งที่ 8 คณะผู้บริหาร และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลราชบุรี รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และจะนำนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด เต็มกำลังความสามารถ และเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเป็นแนวหน้า อีกทั้งเป็นกำลังหลักในการรักษาผู้ป่วยให้มีขวัญ มีกำลังใจ และมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานต่อไป”
ขณะที่ นายแสงชัย วิริยะอำไพวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวว่า “เอสซีจี รู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้มีส่วนร่วมในการผลิตนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) เพื่อช่วยปกป้องแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ขณะปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการตอบแทนความเสียสละและอุทิศตนของท่านทั้งหลายที่ได้ช่วยกันดูแลรักษาผู้ป่วย และยังช่วยปกป้องประชาชนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ โดยห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว พัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution ซึ่งได้ออกแบบให้มีระบบที่จะช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย มีระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล ที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ภายในอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้มากขึ้น สำหรับห้องตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลราชบุรี ได้ติดตั้งในบริเวณหน้าคลินิกแสงตะวัน เพื่อให้ขั้นตอนการตรวจคัดกรองผู้ป่วยและการตรวจหาเชื้อดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้ว่าพื้นที่ติดตั้งจะมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบ แต่ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของทางโรงพยาบาล ประกอบกับประสบการณ์และความชำนาญของทีมติดตั้ง จึงทำให้การดำเนินการต่าง ๆ สำเร็จลงภายในเวลาเพียง 3 วัน พร้อมที่จะให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนได้ในทันที”
นวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) นี้ พัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution ภายในห้องตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้ออกแบบให้มีระบบ Smart Indoor Air Quality (IAQ Smart) ที่ช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย และระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล (Air Tightness) ที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ในตัวอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี โดยทีมแพทย์จะอยู่ในห้องความดันบวก ที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องความดันลบ และมีระบบดูดอากาศเสียออกไปกำจัดอย่างต่อเนื่อง จึงป้องกันไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ทีมแพทย์ ซึ่งการเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง โดยแพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อเก็บตัวอย่าง จึงลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากผู้ที่เข้ารับการตรวจพร้อมใช้แสงยูวีเข้มข้นสูง ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) หลังจากการใช้งานในห้องทุกครั้ง ทั้งนี้ โครงสร้างกว่าร้อยละ 80 ประกอบขึ้นรูปภายในโรงงานที่มีการควบคุมคุณภาพและความสะอาดตลอดกระบวนการผลิต และยังสามารถติดตั้งได้รวดเร็ว
ทั้งนี้ โรงพยาบาล 20 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับพระราชทานนวัตกรรม “ห้องตรวจหาเชื้อ” พัฒนาโดย “เอสซีจี” ได้แก่
1. รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ 2. รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว 3. รพ.กลาง 4. สถาบันโรคทรวงอก 5. สถาบันบำราศ-นราดูร 6. รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก 7. รพ.ตำรวจ 8. รพ.นครปฐม 9. รพ.อุตรดิตถ์ 10. รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 12. รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ 12. รพ.ราชบุรี 13. รพ.พหลพลพยุหเสนา 14. รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 15. รพ.นครพิงค์ 16. รพ.อุดรธานี 17. รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 18. รพ.สุราษฎร์ธานี 19. รพ.สงขลานครินทร์ และ 20. รพ.หาดใหญ่