เรื่องเล่าจากบ้านสาแพะ ปลุกความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

เช้ามืดของวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ในแปลงเกษตรขนาดใหญ่ แสงไฟวับแวมที่มองเห็นเป็นจุดๆ ในระยะไกล คือแสงจากไฟฉายที่คาดไว้กับศีรษะของพี่ป้าน้าอาซึ่งกำลังผสมเกสรของต้นมะระ

เรามีนัดกับเกษตรกรที่บ้านสาแพะ หมู่บ้านขนาด 153 หลังคาเรือนในตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง สำหรับชาวบ้านที่บ้านสาแพะ การเกษตรคืออาชีพหลักของคนที่นี่ ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นได้หลังจากมีการบริหารจัดการน้ำที่ชุมชนแห่งนี้

กิจกรรมผสมพันธุ์พืชและพูดคุยกับชุมชนบ้านสาแพะ
กิจกรรมผสมพันธุ์พืชและพูดคุยกับชุมชนบ้านสาแพะ
กิจกรรมผสมพันธุ์พืชและพูดคุยกับชุมชนบ้านสาแพะ
กิจกรรมผสมพันธุ์พืชและพูดคุยกับชุมชนบ้านสาแพะ

เราเข้าร่วมกิจกรรมผสมพันธุ์พืชและพูดคุยกับชุมชน  ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของทริป ‘รักษ์น้ำ…จากภูผา สู่มหานที’ จัดโดยเอสซีจี (SCG) ที่เน้นเชิญเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยแนวทางหนึ่งก็คือการลงมือสร้างฝายชะลอน้ำด้วยตัวเองร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่

ก่อนหน้านี้ พื้นที่ป่ารอบโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของเอสซีจีที่จังหวัดลำปาง มักเกิดปัญหาไฟป่า ‘บวร วรรณศรี’ ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์และอนุรักษ์ธรรมชาติ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด หรือปูนลำปาง เล่าว่า เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงเป็นที่มาของการเดินทางไปศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังจากนั้น จึงมีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่ารอบโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ตั้งแต่ปี 2550 ก่อนจะขยายผลไปสู่อำเภออื่นๆ ในจังหวัดลำปาง และบ้านสาแพะก็คือหนึ่งในหลายชุมชนที่ได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำวิธีนี้

‘บ้านสาแพะ’ จากพื้นที่ขาดน้ำ สู่วิถีเกษตรประณีต

ฝายชะลอน้ำคือเครื่องมือฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในพื้นที่ต้นน้ำแบบง่ายๆ ที่ชุมชนร่วมมือทำกันเองได้

คงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ เล่าว่า บ้านสาแพะอยู่บนสันเขา ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงได้รับผลกระทบอย่างมากในฤดูร้อน เพราะขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ส่วนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคก็มีไม่เพียงพอ แต่เมื่อร่วมมือกับลูกบ้าน เราสร้างฝายชะลอน้ำเมื่อปี 2556 ช่วงเวลาเพียงสองปี สร้างฝายชะลอได้ถึง 800 ฝาย จนสามารถขุดสระพวงเพื่อเก็บกักน้ำ ทุกวันนี้ บ้านสาแพะจึงมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้สอยและทำการเกษตร ในปี 2560 ชุมชนแห่งนี้มีรายได้ถึง 18 ล้านบาท จากการทำเกษตรประณีตเพื่อขายเมล็ดพันธุ์ ทุกวันนี้ การสร้างฝายชะลอน้ำยังคงได้รับการสานต่อในพื้นที่อื่นๆ ผ่านโครงการ ‘รักษ์น้ำ…จากภูผา สู่มหานที’ ที่มีทั้งการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ส่งต่อน้ำไปสู่สระพวงเชิงเขา กระจายน้ำในพื้นที่ราบผ่านระบบแก้มลิง พร้อมกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลด้วยการสร้างบ้านปลาเพื่อเพิ่มที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็ก

เราสร้างฝายเพื่อจะเลิกสร้างฝาย

บ้านสาแพะซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ยังเป็นห้องเรียนธรรมชาติชั้นดีสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ กลุ่ม YOUNG รักษ์น้ำที่ได้ร่วมทริป ‘รักษ์น้ำ…จากภูผา สู่มหานที’ เพราะทำให้ได้เรียนรู้การสร้างฝายชะลอน้ำ และยังได้เรียนรู้วิธีและลงมือสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ น้องๆ YOUNG รักษ์น้ำได้ลองลงมือสร้างฝายด้วยตัวเอง โดยมีชาวบ้านในพื้นที่คอยให้คำแนะนำและร่วมช่วยสร้างฝายด้วย งานนี้จึงเป็นการเรียนรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติกับผู้มีประสบการณ์ตัวจริงเสียงจริง

กลุ่ม YOUNG รักษ์น้ำ
กลุ่ม YOUNG รักษ์น้ำ
กลุ่ม YOUNG รักษ์น้ำ
กลุ่ม YOUNG รักษ์น้ำ
กลุ่ม YOUNG รักษ์น้ำ
กลุ่ม YOUNG รักษ์น้ำ

นอกจากนี้ น้องๆ ยังได้รับความรู้จากคุณบวร วรรณศรี ซึ่งศึกษาเรื่องการทำฝายเพื่อแก้ปัญหาไฟป่ามาตั้งแต่ปี 2546 ก่อนจะส่งต่อความรู้ทางด้านนี้ไปสู่ชุมชนใกล้เคียง หลังจากได้เห็นผลดีที่เกิดจากการทำฝายในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมากกว่า 1,000 ไร่ซึ่งปูนลำปางทำการฟื้นฟู

“เราสร้างฝายเพื่อจะเลิกสร้างฝายให้ได้” บวรกระตุกให้คิด เพราะขณะที่ฝายถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า แต่เมื่อถึงวันที่ป่าฟื้นคืนมาแล้ว ฝายก็ไม่มีประโยชน์และไม่มีความจำเป็นใดๆ ถ้าป่ามีความสมบูรณ์ ฝายไม่มีความจำเป็น เพราะป่าคือแหล่งเก็บน้ำที่ดีที่สุด” บวรกล่าว

ความชุ่มชื้นที่คืนกำไรและวิถีชีวิตให้ชุมชน

สำหรับที่บ้านสาแพะ หลังจากทำฝายชะลอน้ำและสร้างสระพวง 7 สระซึ่งเก็บน้ำได้ 30,400 ล้านลิตร การทำเกษตรประณีตเพื่อขายเมล็ดพันธุ์ก็นำรายได้เข้าสู่ชุมชนแห่งนี้ถึง 18 ล้านบาทในปี 2560 เมื่อมีงาน มีรายได้ ตอนนี้ลูกหลานที่เคยออกไปทำงานต่างถิ่นก็เริ่มทยอยกลับบ้าน โดยผู้ใหญ่คงบุญโชติบอกว่า ตอนนี้ลูกหลานส่วนหนึ่งกลับมาที่หมู่บ้านแล้ว หลังจากเห็นว่าเกษตรประณีตสามารถสร้างรายได้ได้ตลอดทั้งปี ผลดีทางด้านเศรษฐกิจจึงส่งผลให้ครอบครัวกลับมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา

การบริหารจัดการน้ำโดยคนในชุมชน
การบริหารจัดการน้ำโดยคนในชุมชน

นอกจากแปลงเกษตรขนาดใหญ่ที่สะท้อนความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของการบริหารจัดการน้ำโดยคนในชุมชนมีส่วนร่วม ที่บ้านของ ‘แม่แก้ว’ ก็เป็นอีกตัวอย่างเล็กๆ ของสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนในพื้นที่ขนาดกะทัดรัดข้างบ้าน ผักสลัดและผักสวนครัวนานาชนิดคือแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ของแม่แก้ว หญิงชราบอกว่าเธอลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และยืนยันว่าผักทุกชนิดปลอดภัยไร้สารเคมี

แม่แก้วบอกว่ามีคนแวะเวียนมาสั่งซื้อผักอยู่เป็นประจำ และบางครั้งเธอก็ขี่จักรยานนำผักไปขายในตลาดซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน บางทียังไปไม่ถึงตลาดก็ขายผักหมดแล้ว”

ฝายชะลอน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าและชุมชนมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง

นับตั้งแต่เอสซีจีริเริ่มโครงการ ‘รักษ์น้ำ’ ในปี 2550 จนถึงวันนี้มีฝายแล้วกว่า 75,500 ฝาย ซึ่งการสร้างฝายอย่างถูกวิธี จะให้ผลดีครอบคลุมตั้งแต่ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม

ทางด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากช่วยชะลอน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าและชุมชนมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ฝายยังทำให้น้ำไม่ท่วมในหน้าฝน ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการเกิดไฟป่า รวมทั้งความชุ่มชื้นที่มีมากขึ้นก็ทำให้พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เพิ่มจำนวนมากขึ้นทางด้านเศรษฐกิจ น้ำคือที่มาของอาหาร ผู้คนในชุมชนจึงมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค และยังสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ประโยชน์เหล่านี้ ส่งเสริมประโยชน์ทางด้านสังคม เพราะความชุ่มชื้นไม่เพียงส่งผลดีแค่ต่อธรรมชาติและนำมาซึ่งงานและรายได้เท่านั้น แต่ยังเติมเต็มวิถีชีวิตให้คนในชุมชนต่างๆ มีทางเลือกในการทำงานในบ้านเกิดมากยิ่งขึ้น

(Visited 1,073 times, 1 visits today)