เปิดบ้าน SCG ครั้งแรก : ปลุก passion แล้วปั้นนวัตกรรมเมื่อโลกเปลี่ยน

คนเอสซีจีทำงานกันอย่างไร พวกเขาสร้างนวัตกรรมอะไรออกมาบ้าง จนทำให้เอสซีจีมีโปรดักต์มากมายในธุรกิจมากกว่าเพียงปูนซีเมนต์ วันที่ 17-18 กันยายน 2561 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 105 ปีนับแต่เอสซีจีก่อตั้งขึ้นมา ที่ได้เปิดบ้านให้บุคคลทั่วไปเข้าชมในงาน SCG Open House ที่เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ

เมื่อเข้ามาในงาน เราจะได้ wristband สีแตกต่างกันเพื่อแบ่งกลุ่ม ตามด้วยโชว์เปิดตัว SCG ambassadors ทั้ง 12 คน ซึ่งล้วนเป็นพนักงานในแผนกต่างๆ ซึ่งจะมานำทางพวกเราไปตามสถานีต่างๆ

การแสดงโฮโลแกรมและเลเซอร์พร้อมภาพโมชันกราฟิกเปิดตัวนั้น ฉายให้เห็นประเด็น 3 ข้อที่เอสซีจีเน้นย้ำในงาน Open House ครั้งนี้ ได้แก่ Innovation Driven – การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม, Sustainable Future – ไม่ลืมที่จะสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และอีกสิ่งที่สำคัญคือ Work-Life Balance – การสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตของพนักงานภายในบริษัทเอง

ปลุก passion ปั้นนวัตกรรม

ใครที่รู้จักเอสซีจีขึ้นมาอีกนิด ก็อาจพอตอบได้ว่า เอสซีจีมีกลุ่มธุรกิจแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจแพคเกจจิ้ง และธุรกิจเคมิคอลส์ มาดูกันว่า นวัตกรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นมาด้วย ‘passion’ และเอามาโชว์ในงาน มีอะไรเด่นๆ บ้าง

สไปเดอร์แมนเสี่ยงภัย

ที่เห็นกอดเสาและเคลื่อนที่ขึ้น-ลงอยู่นั้น คือ CiBot™ เป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ใช้ตรวจสอบระบบท่อของเตาเผาในโรงงานโอเลฟินส์ ซึ่งเดิมที งานตรวจสอบนี้จะต้องให้พนักงานก่อตั้งนั่งร้านขึ้นไปตรวจสอบใกล้ๆ เป็นสภาพการทำงานที่มีพื้นที่จำกัด อยู่สูงขึ้นไป 10 เมตร อากาศน้อย และอุณหภูมิร้อนจัดจากเตาเผา เรียกได้ว่าเป็นสภาพที่มีความเสี่ยงสูง แต่ CiBot™ เข้ามาทำหน้าที่นี้แทน นอกจากไม่ต้องเอาชีวิตคนไปเสี่ยงแล้ว ยังทำงานได้เร็วกว่าเดิมถึง 7 เท่า

Bridge Cable Inspection Robot

นำมาสู่หุ่นยนต์อีกตัวที่ทำหน้าที่ตรวจสะพาน อย่างสะพานแขวนที่เราเห็นว่ายิ่งใหญ่และแข็งแรง แต่เมื่อใช้งานไปนานๆ ผ่านแดดลมฝน ก็ย่อมเสื่อมสภาพ Bridge Cable Inspection Robot คือ หุ่นยนต์ตรวจสอบสภาพสายเคเบิล เก็บข้อมูลตลอดความยาวของสายเคเบิล และวิเคราะห์ได้ละเอียด สามารถพบรอยร้าวได้เล็กสุดที่ระดับ 0.05 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่สายตามนุษย์มองไม่เห็น

วัสดุเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

นอกจากหุ่นยนต์สองตัวที่เป็นไฮไลท์แล้ว นวัตกรรมของเอสซีจีในธุรกิจเคมิคอลส์ ก็ได้แก่ Emisspro® สารเคลือบเตาเผาเพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนกระจายออกไปจนเสียพลังงาน ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้ 36,500 ตันต่อปี หรือ CIERRA วัสดุเติมแต่ง สารชนิดใหม่ที่เอสซีจีพัฒนาขึ้นมาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด สร้างเป็นผลิตภัณฑ์คุณสมบัติต่างๆ กัน เช่น วัสดุป้องกันการลามไฟ (เช่น นำไปทำสายไฟ) วัสดุดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (ใช้กับยานยนต์) ฯลฯ

ส่วนในธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจีแนะนำให้รู้จักกับ FEST บรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อธรรมชาติที่ตอบโจทย์คนรักสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เพราะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และยังใส่ได้ทั้งอาหารแห้งและน้ำ หรือผลิตภัณฑ์ Easy Steam© ที่อุ่นอาหารแช่เย็นได้โดยไม่ต้องเจาะถุง รักษาความชื้นเอาไว้ให้เหมาะสม โดยการสร้างรูระบายอากาศเล็กๆ ขึ้นมาเอง และ Anti-Fog ฟิล์มหุ้มหน้ากล่องอาหารแช่แข็งที่ป้องกันไม่ให้ไอน้ำมาเกาะจนบดบังสินค้าข้างใน

ปลอดภัยไว้ก่อน

เอสซีจียังแสดงนวัตกรรมเพื่อการทำงานปลอดภัย เช่น Safe Zone ที่ใช้ระบบ image processing จับใบหน้าของคน และส่งสัญญาณเตือนหากมีพนักงานเผลอเดินเข้าไปในเขตอันตรายและการบันทึกข้อมูลด้วยเสียง เมื่อพนักงานต้องการเตือนตำแหน่งที่มีภาวะสุ่มเสี่ยง เช่น มีของร่วงลงมา ส่งต่อไปให้ฝ่ายควบคุมความปลอดภัยและเพื่อนพนักงานคนอื่นๆ ได้รู้ทันที

นอกจากนี้ Logistic Command Center ยังได้เปิดห้องให้เราเห็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่คอยควบคุมพฤติกรรมคนขับรถบรรทุกของเอสซีจี โดยนำข้อมูลจีพีเอสมาตรวจจับ 4 พฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ ความเร็วในเส้นทางปกติ ความเร็วในเขตชุมชน การขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน และการจอดรถบนไหล่ทาง

เอสซีจีต่อยอดเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับรถโรงเรียนเป็นโครงการ Smile Kid School Bus ที่หลังๆ มีข่าวว่าเด็กถูกลืมไว้ในรถ ระบบดังกล่าวจะส่งสัญญาณแตรเตือนต่อเนื่อง พร้อมกับส่งข้อมูลไปยังแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน

ความต้องการที่จัดการได้

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง นำเสนอนวัตกรรมที่ต่อยอดไปแบบก้าวกระโดด คือการนำความต้องการของลูกค้าไปใส่ในโลกดิจิทัล เกิดเป็นแอปพลิเคชันช่วยสร้างบ้านต่างๆ ตั้งแต่การซื้อ แนะนำการออกแบบ หาผู้รับเหมา จัดการสต็อกของร้านขายปลีก ฯลฯ ตอบโจทย์คนอยากสร้างบ้านที่เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่นับหนึ่ง

หรือนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย เช่น Active AIRflow™ System ระบบควบคุมการถ่ายเทอากาศ และ Well AIR ควบคุมคุณภาพอากาศ ซึ่งสองอย่างนี้ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา แต่จะทำงานเมื่อถูกกระตุ้น จึงช่วยประหยัดพลังงาน แต่ทำให้บ้านสบายกว่าเดิม

สตาร์ตอัปภายใน กองเรือเล็กในเรือลำใหญ่

อะไรที่ทำให้องค์กรใหญ่และทำธุรกิจมายาวนานอย่างเอสซีจีปั้นนวัตกรรมใหม่ออกมาได้ตลอด พนักงานเอสซีจีตอบว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการสร้างวัฒนธรรมแบบสตาร์ตอัปขึ้นมาภายใน

โจชัว พาส (Joshua Pas) ผู้อำนวยการ Digital Transformation Office แห่งเอสซีจี กล่าวว่า หน่วยงานของเขาดูแลอยู่สามส่วน ได้แก่ AddVentures ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือกับสตาร์ตอัปภายนอก เป็นเหมือนความร่วมมือทางธุรกิจที่มีระหว่างกัน เพราะเขาตระหนักดีว่า “มีคนเก่งอยู่นอกเอสซีจี มากกว่าข้างในเอสซีจีแน่นอน” อย่างที่สองคือการสร้าง Startup Studio ที่ปั้นคนมีแพสชันในองค์กร อนุญาตให้ผละจากงานที่ทำอยู่ ขึ้นมาพิตช์ไอเดีย หากได้เข้าโครงการ ก็จะได้รับทุนมาทำสตาร์ตอัปของตัวเองต่อภายในเอสซีจี

“เราเป็นเหมือนเรือลำเล็กๆ มากมายที่ออกไปหาธุรกิจใหม่ๆ (new business) ภายในเรือลำใหญ่ที่มั่นคงอย่างเอสซีจี กองเรือลำเล็กๆ นี้ต้องยอมรับการล้มเหลวบ้าง อาจจะมีอัตราส่วนการอยู่รอดเพียง 1 ใน 10” โจชัวกล่าว

‘ธุรกิจใหม่ๆ’ ที่เอสซีจีนำมาโชว์ มีตั้งแต่แอปฯ ที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านที่เราเห็นไปแล้ว ไปจนถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวกันเลยอย่างการขายทุเรียน แอปฯ ตรวจสอบความชื้นและควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเกษตร หรือการสร้างแพลตฟอร์มชุมชนในคอนโดมิเนียม ที่มีธุรกิจหลากหลายแบบนี้ เพราะแต่ละคนเลือกเรื่องที่พวกเขาหลงใหลและสนุกกับการแก้โจทย์เรื่องนั้นจริงๆ

เรือเล็กในเรือลำใหญ่นี้ เหมือนการนำสองจุดแข็งมาเจอกัน สตาร์ตอัปกล้าคิดกล้าลองสิ่งใหม่ๆ ระบบงานคล่องตัวและไม่ต้องผ่านลำดับงานหลายชั้น เหมาะกับการสร้างสรรค์เทคโนโลยี แถมเมื่อคิดออกมาแล้ว ถ้าใช้ได้ดี ก็ยังเข้าไปเสริมศักยภาพของผลิตภัณฑ์ บริการที่มีอยู่แล้วในองค์กรใหญ่อย่างเอสซีจี และหากประสบความสำเร็จ สตาร์ตอัปเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและสังคมทั่วๆไปด้วยเช่นกัน

อยู่ไปนานๆ ทั้งพนักงานและสิ่งแวดล้อม

การที่คนเราจะมีแพสชันมาสร้างนวัตกรรมได้ อย่างน้อยก็ต้องมองเห็นว่าปลายทางคือ อนาคตที่ยั่งยืน และการรักษาสมดุลชีวิต

หลายๆ นวัตกรรมสร้างสรรค์ออกมาเพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น ส่งผลกระทบกับธรรมชาติให้น้อยลง เช่น นวัตกรรม green carton ที่นำมาผลิตแพ็คเกจจิ้งสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ ทั้งทำจากวัสดุรีไซเคิลและมีน้ำหนักเบาซึ่งช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการขนส่ง

เอสซีจียังมีโครงการเพื่อความยั่งยืน อย่าง โครงการบ้านปลา ที่นำผลิตภัณฑ์ท่อพีอีที่เหลือจากการทดสอบขึ้นรูปมาเป็นที่อยู่อาศัยให้ปลาในทะเล หรือการนำวัสดุคอนกรีตเหลือทิ้งจากการก่อสร้าง (ซีเมนต์มอร์ตาร์) มาพิมพ์สามมิติเพื่อทำวัสดุเพื่อการยึดเกาะตัวอ่อนปะการัง เปลี่ยนขยะให้เป็นคุณค่า

ส่วนในด้านคุณภาพชีวิตพนักงาน เอสซีจีแอมบาสเดอร์พาเราไปชม Health Center เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีระบบดูแลสุขภาพพนักงาน ตั้งแต่ชั้น 1-2 ที่มีแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดีมาอยู่ประจำ ให้บริการทั้งรักษาทั่วไปและเฉพาะทางโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และฟิตเนสที่ชั้น 3-5 ซึ่งมีเทรนเนอร์ที่จบจากวิทยาศาสตร์การกีฬาคอยให้คำแนะนำ

ยังมีแอปพลิเคชันสำหรับพนักงานที่บอกข้อมูลจำนวนที่จอดรถว่าง ความหนาแน่นของคนในโรงอาหารแต่ละแห่ง ระบบที่เชื่อมโยงกับสวัสดิการและเรื่องทรัพยากรบุคคลในด้านต่างๆ และถาม-ตอบปัญหาด้านการบุคคลด้วย HR Chatbot ฯลฯ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ มาช่วยให้พนักงานจัดการชีวิตตัวเองได้ดีขึ้นด้วย

จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมต่างๆ ก็คือคนที่ใส่ใจกับงานและมองหาหนทางแก้ปัญหาด้วยความสนุก มองเป็นเรื่องท้าทาย และเสพติดการเปลี่ยนแปลง

และวัฏจักรการค้าในโลกก็ได้ทำให้เราเห็นแล้วว่า ธุรกิจเดิมๆ ที่มั่งคั่งขึ้นจากทรัพยากรบางอย่างที่ใช้แล้วหมดไปนั้นไม่ยั่งยืน คนที่ยังยืนหยัดและจะพุ่งไปข้างหน้าในอนาคต คือคนที่พลิกวิธีคิดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร ซึ่งต้องมาพร้อมกับมายด์เซ็ตที่รับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า และสร้างคนทำงานที่แสวงหาโอกาสและความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาในองค์กร

การเปิดบ้านครั้งแรกของเอสซีจีในครั้งนี้ อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่าองค์กรที่ขับเคลื่อนนวัตกรรม ไม่ได้ทำเพียงเรียกร้องให้พนักงานมีแพสชันแต่ต้องสนับสนุนให้พวกเขามีชีวิตการทำงานที่ดี พร้อมที่จะปั้นความฝันนั้นให้ได้ไปต่อด้วย

เอสซีจียังหวังว่าผู้ที่มางาน จะได้รับพลังและแพสชันจากงาน Open House ครั้งนี้ เพื่อให้กลับไปทำงานได้อย่างมีไฟมากขึ้น

เปิดบ้าน SCG ครั้งแรก : ปลุก passion แล้วปั้นนวัตกรรมเมื่อโลกเปลี่ยน

(Visited 1,010 times, 1 visits today)