ผลประกอบการเอสซีจีปี 2561 กำไรลดลงจากธุรกิจเคมิคอลส์ ขณะที่ธุรกิจแพคเกจจิ้งเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง ด้านธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีแนวโน้มดีขึ้น พร้อมมุ่งเดินหน้า 2 กลยุทธ์หลักในปี 2562 เน้นสร้างเสถียรภาพทางการเงินและบริหารจัดการความเติบโตของธุรกิจในระยะยาว โดยการส่งมอบโซลูชั่นครบวงจรและโมเดลธุรกิจใหม่ ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพชั้นนำในหลากหลายภูมิภาคและสถาบันวิจัยทั่วโลก พร้อมเร่งสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้าทั่วภูมิภาค
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจีประจำปี 2561 มีรายได้จากการขาย 478,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับปี 44,748 ล้านบาท แต่ลดลงร้อยละ 19 จากปีก่อน จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งสถานการณ์สงครามการค้า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวน และเงินบาทแข็งค่า จึงส่งผลต่อภาพรวมผลประกอบการของเอสซีจี
โดยปี 2561 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 184,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 39 ของยอดขายรวม โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 4,674 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวม
สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2561 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 117,223 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของตลาดในประเทศของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดยมีกำไรสำหรับงวด 10,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากไตรมาสก่อน จากเงินปันผลรับจากเงินลงทุนของธุรกิจเคมิคอลส์และการลงทุนในธุรกิจอื่น แต่ลดลงร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ลดลง ทั้งนี้ เอสซีจีมีรายได้จากการส่งออก 130,895 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับผลการดำเนินงานของเอสซีจี นอกเหนือจากประเทศไทยในปี 2561 เอสซีจีมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 118,014 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของรายได้จากการขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปีก่อน และมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอื่น ๆ 86,155 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 รายได้จากการขายรวม
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีมูลค่า 589,787 ล้านบาท โดยร้อยละ 28 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
ผลการดำเนินงานในปี 2561 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
- ธุรกิจเคมิคอลส์ ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 221,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปีก่อน จากปริมาณการขายและราคาขายของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับปี 29,166 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29 จากปีก่อน จากวัฏจักรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่อ่อนตัวลง รวมถึงการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมลดลง ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 53,905 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน จากราคาขายของผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 5,415 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 43 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมลดลง และมีการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ
- ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 182,952 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อน ตามการขยายตัวของความต้องการใช้ซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงการฟื้นตัวของโครงการอสังหาริมทรัพย์ และการขยายตัวของการก่อสร้างในภูมิภาค โดยมีกำไรสำหรับปี 5,984 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากปีก่อน สาเหตุหลักจากการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ทั้งนี้ เมื่อไม่รวมการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี กำไรสำหรับปีจะเท่ากับ 7,304 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 45,728 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของการก่อสร้างในประเทศไทยและในภูมิภาค โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 488 จากไตรมาสก่อน ผลจากการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นในไทยและภูมิภาคอาเซียน
- ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 87,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับปี 6,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากปีก่อน จากโครงการลดต้นทุนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เติบโตต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 21,283 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายที่ลดลงทั้งในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจเยื่อและกระดาษ โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,492 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า “ปี 2562 นี้ เอสซีจียังคงเน้น 2 กลยุทธ์หลัก คือ การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน (Stability) ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของเอสซีจีโดยรวมในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับผลประกอบการของอุตสาหกรรมในภาพรวม อีกทั้งฐานะทางการเงินยังคงแข็งแกร่งเช่นกัน โดยมีสัดส่วน Net Debt to EBITDA อยู่ที่ 1.7 เท่า ขณะที่เงินกู้เกือบทั้งหมดเป็นเงินบาทและเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่กว่าร้อยละ 90 ส่วนกระแสเงินสดมีเสถียรภาพจากผลการดำเนินงานของธุรกิจหลักที่มั่นคง
อีกกลยุทธ์ คือ การบริหารจัดการความเติบโตของธุรกิจในระยะยาว (Long-term Growth) โดยนอกจากจะให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างยั่งยืนแล้ว ปีนี้เอสซีจีจะมุ่งเน้นการส่งมอบโซลูชั่น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แบบเบ็ดเสร็จ ครบครันยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซลูชั่นของธุรกิจเคมิคอลส์ เช่น การให้บริการสารเคลือบเตาเผาเพื่อประหยัดพลังงานสำหรับอุตสาหกรรม และการให้บริการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ ติดตั้ง และบริการหลังการขาย ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ที่มุ่งเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร พร้อมขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น การให้บริการออกแบบบรรจุภัณฑ์ร่วมกับลูกค้า กระทั่งการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตซ้ำอีกครั้ง และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เช่น โซลูชั่นการก่อสร้าง (Construction Solutions) ที่ผนวกความเชี่ยวชาญด้านการผลิตสินค้าคุณภาพสูง พร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัย มาพัฒนาเป็น 9 โซลูชั่นหลัก เช่น Life-time Solution ที่ให้บริการสำรวจความเสียหายโครงสร้างอาคารด้วยอุปกรณ์ทางวิศวกรรมที่แม่นยำ ก่อนออกแบบวิธีการ ดำเนินการต่อเติม และเสริมกำลังโครงสร้างให้เบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ เอสซีจียังมุ่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ทันความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย
สำหรับการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ นั้น เอสซีจีจะมีทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า, Blockchain ซึ่งเป็นระบบดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินและคู่ค้าโดยอัตโนมัติ ให้สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ, การพัฒนา Robotic Process Automation (RPA) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของระบบการผลิต ให้สินค้าผลิตออกมาอย่างมีคุณภาพและทันความต้องการของตลาด และการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep technology) ที่ตอบโจทย์เทรนด์อนาคต เช่น New advanced materials, Clean technology เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตตลอด Value chain ให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนได้มากขึ้น และเป็นแนวทางไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการมุ่งพัฒนาศักยภาพพนักงานภายใน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ผสานการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Agile Organization) การส่งเสริมกระบวนการคิดเพื่อออกแบบสินค้าและบริการด้วย Design Thinking ตลอดจนการส่งเสริมการทำงานแบบสตาร์ทอัพ เพื่อช่วยให้เข้าใจปัญหาของลูกค้าอย่างลึกซึ้งและรวดเร็ว ผ่านโครงการ “Internal Startup” ซึ่งช่วยพัฒนาผู้มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าและธุรกิจที่มีกว่า 100 ทีม ให้สามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจให้ตรงความต้องการของตลาดได้แล้วกว่า 40 ทีม เช่น การทำแพลทฟอร์มรวบรวมกล่องอาหารเดลิเวอรี่พร้อมบริการสั่งทำโลโก้ที่เหมาะกับทุกรูปแบบธุรกิจ หรือระบบบริหารลูกค้าและติดตามการขายสำหรับร้านวัสดุก่อสร้าง
อีกด้านหนึ่ง คือ การมุ่งสร้างความร่วมมือกับภายนอก (Open Collaboration) ทั้งการลงทุนในสตาร์ทอัพชั้นนำ ในหลากหลายภูมิภาค ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมสอดคล้องกับ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ผ่าน “AddVentures” พร้อมเข้าไปเสริมศักยภาพให้สตาร์ทอัพที่ลงทุนไปแล้ว ทั้งการลงทุนโดยตรงในสตาร์ทอัพ 10 ราย เช่น แพลทฟอร์มที่ช่วยค้นหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเพื่อมาต่อยอดธุรกิจด้านดิจิทัล หรือบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนการลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพต่างๆ รวมถึงการต่อยอดโครงการร่วมมือเชิงพาณิชย์กับบริษัทด้านเทคโนโลยีเกือบ 100 โครงการ เพื่อนำนวัตกรรมของสตาร์ทอัพเหล่านั้นมาต่อยอดกับธุรกิจหลักหรือสร้างเป็นธุรกิจใหม่ของเอสซีจี ตลอดจนการร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนา (R&D) ทั่วโลก โดยมี Open Innovation Center เป็นศูนย์กลางให้เกิดเครือข่ายการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในระยะยาว เอสซีจีจะยังเดินหน้าขยายโอกาสส่งออกนวัตกรรมสินค้าและบริการ ตามทิศทางตลาดโลกเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้ในอนาคต ทั้งตลาดอาเซียนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ตลอดจนตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและเติบโตรวดเร็ว เช่น การส่งออกสินค้า เคมีภัณฑ์ไปยังตลาดจีน และการรุกธุรกิจค้าปลีกและโลจิสติกส์ในภูมิภาคต่างๆ ด้วย”
อนึ่ง คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2561 ในอัตราหุ้นละ 18.00 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48 ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตราหุ้นละ 8.50 บาท เป็นเงิน 10,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 9.50 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 11,400 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2562 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพุธที่ 3 เมษายน 2562) โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2562 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี