เห็นถุงผ้าสวยๆ กระบอกน้ำทรงแปลกๆ ก็อดใจไม่ได้ที่จะต้องมีไว้ในครอบครอง ยิ่งเทรนด์การลดขยะ ลดการใช้พลาสติกกำลังมาด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เราอยากจะแสดงความรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น
แต่ตั้งใจได้ไม่เท่าไร เผลอทีไร ถุงผ้าสวยๆ ที่มีเต็มบ้าน พอจะใช้ก็ดันลืมพกทุกที บางใบก็สวยเกินจนกลัวจะเลอะ ส่วนกระบอกน้ำก็หนักและใหญ่เกินไปจนไม่อยากพก กลับมาติดความสะดวกสบาย ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งแบบเดิมๆ
ไม่ใช่แค่ซื้อของรีไซเคิล แต่ต้องคิดให้สุดทาง
สำหรับผู้บริโภคทั่วไป สเต็ปแรกของการบริโภคที่จะเลือก ‘ซื้อ’ และ ‘ครอบครอง’ ของที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่าง ถุงผ้า กระบอกน้ำ หลอดสเตนเลส ทั้งแบบที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล และแบบที่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความท้าทายนับจากนี้ยังมีอีกหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นตอนที่จะรักษากิจวัตรประจำวันให้คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตแบบกรีน ไปจนถึงขั้นตอนเมื่อต้องทิ้งสิ่งของ จะต้องทิ้งอย่างไรเพื่อให้ขยะของเราเข้าสู่วงจรการผลิตได้อีกครั้ง
“คนมักคิดว่า ถ้าเราสร้างขยะเพิ่มแค่คนเดียวก็คงจะไม่เป็นไร ซึ่งไม่จริง การสร้างขยะแม้เพียงเล็กน้อย ท้ายที่สุดมันจะเกิดผลย้อนมาที่ตัวเรา” สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัดกรุงเทพมหานครกล่าว และยกตัวอย่างถึงเมื่อต้นปีที่เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากขยะที่ก่อให้เกิดฝุ่น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า สินค้าพลาสติกยังมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President, Polyolefins and Vinyl Business, ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า ในมุมที่เราต่างต้องช่วยกันตระหนัก ก็คือ การใช้งานพลาสติกที่ใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง เช่น หลอด ถุงอาหาร ถุงช็อปปิง ฟิล์มห่อของ ฝาขวดเครื่องดื่ม เพราะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเหล่านี้ หรือ Single Use Plastic แม้จะผ่านกระบวนการผลิตมาหลายขั้นตอน แต่ถึงเวลาที่ใช้ก็ใช้งานเพียงไม่กี่นาที ซ้ำร้ายยังยากที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่ง SCG พยายามค้นหาเทคโนโลยีในการนำ Single-Use Plastic กลับมาใช้หรือรีไซเคิลได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด
“เราต้องพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถนำพลาสติกกลับมาใช้ให้ได้มากที่สุด” ศักดิ์ชัยกล่าว เขายังเล่าถึงอีกมุมสำคัญที่เราอาจลืมกันไป ก็คือ ขยะพลาสติกที่ไม่ปนเปื้อนไม่เลอะเทอะ จะมีมูลค่ามากๆ นำมารีไซเคิลได้ แต่สำหรับส่วนที่โดนปนเปื้อนไปแล้วก็จะต้องมีกระบวนการจัดการที่ดี
สอดคล้องกับที่ สินชัย เทียนศิริ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) กล่าวว่า “ขยะก็ต้องมีอีกกระบวนการหนึ่งในการดูแลเพราะมักมีการปนเปื้อน เช่น ขวดน้ำ บางทีคนก็จะเอาขี้บุหรี่ใส่ลงไป”
เขากล่าวว่า เราควรต้องมองขยะบรรจุภัณฑ์ให้เป็น ‘วัตถุดิบ’ ไม่ว่าจะเป็นขยะกระดาษ โลหะ ขวดน้ำ และพลาสติก
มาตรการจัดการขยะ
การลดขยะ ลดการใช้พลาสติก เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการขยะด้วย ความคืบหน้าเล็กๆ ในปีนี้ กรมควบคุมมลพิษรณรงค์ให้เลิกใช้ cap seal หรือพลาสติกที่หุ้มฝาขวดน้ำดื่มพลาสติกตั้งแต่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ทำให้สามารถลดจำนวนพลาสติกนี้ได้ 2,600 ล้านชิ้นต่อปี
แต่นั่นก็เป็นเพียงความเคลื่อนไหวเล็กๆ เมื่อเทียบกับปริมาณขยะทั้งหมดที่เฉลี่ยแล้ว คนไทยผลิตขยะกันคนละมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อวัน
ขณะที่ปริมาณการก่อขยะในแต่ละวันยังมีจำนวนมาก และกระบวนการจัดการขยะก็ยังไม่มีประสิทธิภาพนัก หากดูเฉพาะสถานการณ์ในกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพฯ เผยสถานการณ์ให้ฟังว่า แม้ประเทศไทยจะกำหนดให้เรื่องการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ แต่เงื่อนไขของประเทศไทยในตอนนี้คือ เรากำหนดแต่เป้าหมาย เช่น ลดขยะให้ได้ 5% แต่ไม่ได้กำหนดแนวทาง
รองปลัดกรุงเทพฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีขยะ ‘เทกอง’ ปริมาณเยอะมาก ส่วนปริมาณขยะฝังกลบมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเพราะมีที่ไม่พอ แม้จะมีผู้แย้งว่า ขยะฝังกลบเป็นเพียงปลายทางของการแก้ปัญหา แต่ถึงอย่างไร ถ้าเทียบกันแล้ว ขยะฝังกลบย่อมดีกว่าขยะเทกองแน่นอน
กรุงเทพมหานครเองก็ยังมีความคาดหวังที่จะพัฒนาการจัดการขยะ ที่ให้สามารถตอบโจทย์แบบ Circular Value Chain หรือการแยกวัสดุให้สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการแล้วนำมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งรองปลัดสุวรรณากล่าวว่า มีตัวอย่างหลายชุมชนที่แยกขยะได้ประสบความสำเร็จ แต่ปัญหาคือ โมเดลเดียวกันนี้ไม่สามารถขยายออกไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ได้
“ที่ไม่สำเร็จหลายอย่างเพราะเราไม่ได้คิดอะไรเป็นระบบ เช่น เรารีไซเคิล เอาพลาสติกไปเป็นส่วนผสมในใยเสื้อผ้า แต่พอซักแล้ว มันออกมาเป็นไมโครพลาสติกลงทะเล เราก็ต้องมาคิดเรื่องการกรองไมโครพลาสติกในเครื่องซักผ้า” สุวรรณากล่าว
เอาพลาสติกมาสร้างถนน
คำว่า ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ หรือ Circular Economy เป็นคำที่คนพูดถึงกันมากขึ้น ซึ่งหมายถึงวงจรการใช้ทรัพยากรที่ภาคธุรกิจต่างๆ จะพยายามควบคุมให้ในกระบวนการที่ผลิตสิ่งของขึ้นมาสักอย่าง พอนำไปใช้แล้ว เมื่อต้องทิ้งไป ซากสิ่งของเหล่านั้นยังคงสามารถวนกลับมาเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ โดยที่เหลือขยะให้น้อยที่สุด เป็นวงจรที่หมุนเวียนเป็นวงกลม ผลิต-ใช้-นำกลับมาผลิตใหม่ (make-use-return) ได้เรื่อยๆ
ขณะที่เรา ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ และผู้บริโภค ต่างก็กำลังผลิตและใช้พลาสติกกันในแบบที่เลิกได้ยาก เจฟ วูสเตอร์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนของ ดาว เคมิคอล ก็เสนอไอเดียเรื่อง The Sustainable Value of Plastics คือ ขณะที่เราต่างรู้ดีว่าพลาสติกเป็นวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ยาก แล้วจะทำอย่างไรที่จะสร้างประโยชน์การใช้งานพลาสติกให้ยั่งยืน หรืออย่างน้อยก็ยาวนานกว่าเดิม แนวทางหนึ่งที่ทดลองทำแล้วและดูจะประสบความสำเร็จ คือการนำขยะพลาสติกมาสร้างถนน
ล่าสุด กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมมือกับเอสซีจี ประกาศโครงการความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสำหรับถนนจากพลาสติกรีไซเคิล” โดยจะเปลี่ยนขยะพลาสติก ให้สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำถนนยางมะตอย
โดยไอเดียนี้ เคยนำร่องทดลองมาแล้วที่อินเดีย ที่ลองทำถนนมาในเมืองบังกาลอร์และเมืองปุเณ่รวมระยะทาง 40 กิโลเมตร โดยใช้ขยะพลาสติก 100 ตัน และนำร่องที่อินโดนีเซีย โดยใช้ขยะพลาสติก 3.5 ตันสร้างถนนในเมืองเดป๊อค ความยาว 2 กิโลเมตร
โดยจากประสบการณ์ที่อินเดีย เจฟชี้ว่า เขานำขยะ 6,000 ตันมาใช้สร้างถนน ซึ่งกระบวนการนี้ยังสามารถจ้างงานคนได้ถึง 60,000 ตำแหน่ง อีกทั้งถนนที่ทำจากขยะพลาสติกนี้ยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าถนนแบบเดิมถึง 2 เท่า
ความร่วมมือครั้งล่าสุดนี้ อาจยังต้องอาศัยการจัดการขยะที่สอดรับกับการนำขยะพลาสติกไปใช้งานต่อได้ ซึ่งหากโครงการประสบความสำเร็จ ก็น่าจะช่วยบรรเทาปริมาณขยะที่ประเทศไทยมี 1.5 ล้านตันที่ทิ้งลงสู่ทะเลไทยไปได้บ้าง
เรื่องขยะพลาสติกเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องมีบทบาทในการดูแล ตัวเราเองนอกจากจะลดการใช้พลาสติกแล้ว การแยกทิ้งอย่างถูกต้องก็จะทำให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ดียิ่งขึ้น ส่วนผู้ผลิตเองต้องหานวัตกรรมที่เหมาะสมที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและหาทางนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตใหม่ให้ได้มากที่สุด