เกษตรกรแม่แจ่ม เปลี่ยนเขาหัวโล้น ด้วยการจัดการน้ำ เกษตรทฤษฎีใหม่ รับมือภัยแล้ง และโควิด ได้ผล

จากการประเมินของศูนย์ภัยพิบัติและแก้ปัญหาด้านการเกษตร ระบุว่า ปี 2563 สถานการณ์ภัยแล้งจะทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากฤดูฝนปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำฝนตกเฉลี่ยเพียงร้อยละ 12 ปริมาณน้ำใช้ในอ่างเก็บน้ำมีเพียงร้อยละ 22 ของความจุรวมทั้งหมด ทำให้พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนน้ำ เฉพาะพื้นที่ปลูกไม้ผลนอกเขตชลประทาน เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ 30 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 370,000 ไร่

พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม เป็น 1 ใน 21 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งอย่างหนัก ตัวเลขการประเมินสถานการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบเกือบ 40,000 รายในจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่การเกษตรอีกกว่า 200,000 ไร่

คุณมนตรี ภาสกรวงค์ อดีตพ่อหลวง ชาวตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ผู้นำชุมชนสู้ภัยแล้งต้นแบบในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง”  ผู้ที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับการรับจ้างในสังคมเมือง ไม่เคยหยิบจับการเกษตรมาก่อน แม้ว่าพื้นฐานครอบครัวจะทำการเกษตรมาโดยตลอดก็ตาม เมื่อแต่งงาน ก็ต้องการความมั่นคงให้ครอบครัว คุณมนตรีจึงลาจากสังคมรับจ้างในเมืองกลับสู่ภูมิลำเนา และเริ่มต้นการทำงานในหน้าที่ “พ่อหลวง” หรือ “ผู้ใหญ่บ้าน” จากนั้นก็ยุติบทบาทภายในระยะเวลา 9 ปี เพื่อเปลี่ยนถ่ายให้ผู้มีความเหมาะสมเข้ามาดำเนินการต่อ และมุ่งสู่การทำเกษตรกรรรมอย่างยั่งยืน ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ได้ไปเรียนรู้จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. โดยมีเครือข่ายแม่ละอุป และมูลนิธิรักษ์ไทย ช่วยเป็นพี่เลี้ยง และพยายามผลักดันการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนในชุมชน แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว

คุณมนตรี ภาสกรวงค์ ผู้นำชุมชนสู้ภัยแล้งต้นแบบในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง”

จุดนั้นเอง ทำให้คุณมนตรี บอกตัวเองว่า ถึงเวลาแล้วที่ตนเองต้องทำการเกษตรเต็มตัว และต้องเป็นเกษตรกรรมที่มีความมั่นคง ไม่ใช่เพียงเพื่อเลี้ยงตัว แต่ต้องเลี้ยงครอบครัว คืนประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเป็นผู้ริเริ่มรายแรก แม้จะเริ่มต้นด้วยการไม่ได้รับการยอมรับก็ตาม

พื้นที่ 27 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรแบ่งปันมาจากพ่อแม่ ซึ่งเดิมไม่ได้รับการเหลียวแล เพราะอดีตคุณมนตรีให้ความสำคัญกับสังคมเมือง และการทำงานกับผู้คนในตำแหน่ง “พ่อหลวง” มาโดยตลอด ทำให้ถูกทิ้งไว้เป็นพื้นที่รกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดินบริเวณดังกล่าวเป็นดินไม่สมบูรณ์ ขาดแร่ธาตุที่เหมาะสมกับพืช และไม่กักเก็บน้ำ หากต้องทำการเกษตร “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญหลัก ดังนั้นจะทำการเกษตรได้อย่างไร เมื่อสภาพที่คุณมนตรีเห็นเป็นสภาพที่ดินทำกินแบบ “เขาหัวโล้น”

นั่นคือวันแรกที่คุณมนตรีเอ่ยความรู้สึกให้ฟัง แต่วันนี้ ภาพที่เห็นในพื้นที่ 27 ไร่ของคุณมนตรี ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว

สภาพเขาหัวโล้นอีกด้าน ที่ยังไม่ได้เข้าไปปรับสภาพพื้นที่

จากมุมสูง พอให้เห็นภาพได้ว่า สภาพเขาหัวโล้นยังหลงเหลืออยู่บางส่วน เนินเขาส่วนหนึ่งถูกปรับสภาพดินไว้รอพืชลงปลูก สีน้ำตาลจากซากต้นไม้ที่แห้งแล้งเพราะแดดเผาบริเวณพื้นที่ลุ่ม เปลี่ยนเป็นสีเขียวชะอุ่ม สะท้อนความชุ่มชื้นได้อย่างสดชื่น และมีบ่อน้ำที่มีน้ำกักเก็บไว้อย่างสมบูรณ์ถึง 2 บ่อ

“ที่เห็นนี่ ผมทำไป 3 ปีกว่าเท่านั้น ต้นไม้ผมยังลงไม่หมดเลยครับ ค่อยๆ ขยายพื้นที่ไปทีละส่วน ทำเท่าที่มีเงินลงทุน เพราะผมเริ่มจากไม่มีเงินทุน ก็ต้องปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามที่คนอื่นทำ เพื่อให้ได้ต้นทุนนำมาต่อยอดลงทุนอย่างอื่น”

ด้วยสภาพปัญหาภัยแล้งที่กำลังคุกคามอย่างต่อเนื่อง ปัญหาแหล่งน้ำสำคัญมากสำหรับการทำการเกษตร ปัญหาเงินทุนที่เริ่มต้นจากศูนย์ ปัญหาสภาพดินที่เป็นเรื่องยากต่อการแก้ไข ทำให้ชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียง เลือกปลูกเฉพาะพืชไร่ที่ให้ผลผลิตพอจะเก็บเกี่ยวจำหน่ายเป็นรายได้ หากจะปลูกพืชชนิดอื่น โอกาสขาดทุนจะสูงกว่า

การทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นสิ่งที่คุณมนตรียึดถือมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มเรียนรู้จากการไปฝึกอบรมโดยหน่วยงานที่มีความชำนาญ หรือ เข้าศึกษายังพื้นที่ต้นแบบ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น ทำให้คุณมนตรีเรียนรู้จนถ่องแท้แล้วว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทำการเกษตร เป็นสิ่งที่ต้องมีและขาดไม่ได้ หากต้องการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน

บ่อน้ำที่ขุดไว้ ขนาด 15×25 เมตร

เมื่อแหล่งน้ำจำเป็นมากในการทำการเกษตร การกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

คุณมนตรี จึงเริ่มต้นด้วยการขุดบ่อ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และพร้อมรับภัยแล้งที่กำลังคืบคลานมา แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดินไม่กักเก็บน้ำ การนำประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นพ่อหลวงและเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่การเกษตรมาใช้จึงจำเป็น

บ่อเล็กๆ ถูกขุดขยายพื้นที่ เป็นขนาด 15×25 เมตร ลึก 3 เมตร จำนวน 2 บ่อใหญ่ คุณมนตรี นำปูนซีเมนต์เทก้นบ่อ เกลี่ยให้ทั่วบ่อ ผลที่ได้คือ ปริมาณน้ำในบ่อเพิ่มมากขึ้น และด้วยพื้นที่ที่เคยเป็นร่องภูเขาไฟมาก่อน ทำให้สภาพน้ำที่ได้เป็นน้ำปูน ไม่เหมาะสำหรับทำการเกษตร แต่คุณมนตรีก็ใช้ประสบการณ์จากการเรียนรู้มาปรับสภาพน้ำ โดยการนำอินทรีย์วัตถุ ปุ๋ยยูเรีย เทลงบ่อ เพื่อให้น้ำปรับสภาพ ใช้ประสบการณ์วัดค่าน้ำ เมื่อเห็นว่าเหมาะสมจึงซื้อลูกปลากินพืชหลายชนิดมาปล่อย เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาไน มาปล่อยไว้จำนวน 30,000 ตัวต่อบ่อ ระยะแรกปลาที่ปล่อยเลี้ยงไว้ตายไปเกินกว่าครึ่ง เพราะสภาพน้ำยังไม่ดีพอ อีกทั้งมีงู นก นาก ที่คอยจับปลากิน แต่คุณมนตรี บอกว่า เป็นเรื่องดี เพระทำให้เรารู้ว่า ปลาชนิดไหน เหมาะสำหรับแหล่งน้ำที่เรามีอยู่

“ผมสังเกต ปลาลอยขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำจำนวนมาก หมายถึงออกซิเจนในน้ำน้อย ถ้าแบบนั้นไม่นานคงทยอยตาย จึงใช้ท่อขนาด 4 นิ้ว ทำระบบน้ำหมุนเวียนเติมลงในบ่อ เมื่อน้ำกระเพื่อมก็เท่ากับเป็นการเติมออกซิเจนเข้าบ่อ เมื่อปลามีออกซิเจนหายใจ ปลาก็ไม่ตาย”

ท่อขนาด 4 นิ้ว เป็นท่อสำหรับเติมออกซิเจนในน้ำ

แนวคิดเรื่องการวางระบบน้ำแบบหยด ถูกนำมาใช้เพิ่มเติม คุณมนตรี บอกว่า เมื่อดินที่นี่ขาดแร่ธาตุ จึงจำเป็นต้องปรับสภาพดินก่อนลงปลูกพืช ดังนั้น จึงเตรียมแปลงโดยการนำมูลสัตว์เท่าที่หาได้ในพื้นที่มาเติมลงดิน เพิ่มสารอินทรีย์ให้ดิน ก่อนจะลงปลูกพืชที่ต้องการ ส่วนระบบน้ำที่ใช้ในระยะแรก เริ่มจากระบบน้ำหยด เพื่อให้น้ำซึมไปตามร่องดินที่เก็บน้ำไม่อยู่ผ่านไปสู่พืช และให้มีน้ำหล่อเลี้ยงพืชได้ตลอดเวลา และมองระยะไกลถึงการติดตั้งสปริงเกลอร์ ให้พืชได้รับน้ำอย่างทั่วถึง ไม่เช่นนั้นภัยแล้งที่กำลังคุกคามจะทำให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้ไม่รอด จึงถือเป็นการเตรียมรับมือภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นภาพชัด

จากนั้น คุณมนตรีได้เริ่มติดตั้งแทงก์เก็บน้ำไว้ที่สูง สำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง และเป็นระบบการจัดการน้ำในพื้นที่ โดยใช้แรงดันน้ำดันให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เมื่อเปิดให้ระบบน้ำหยด แต่การดึงน้ำไปเก็บยังแทงก์ทำได้เพียงการใช้เครื่องสูบน้ำ ทำให้ต้นทุนการทำการเกษตรสูง เนื่องจากเครื่องสูบน้ำต้องใช้น้ำมันใช้การเดินเครื่อง

แทงก์น้ำ กักเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง

“คงเป็นความโชคดีของผม เมื่อสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรทราบว่าผมกำลังพยายามปรับพื้นที่แห้งแล้งให้มีความชุ่มชื้น แต่ประสบปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ จึงนำโซลาร์เซลล์มาติดตั้งให้ ซึ่งช่วยผมได้มาก ทำให้ประหยัดต้นทุนการใช้น้ำ ผมไม่ต้องหมดเงินไปกับน้ำมันของเครื่องสูบน้ำ แต่โซลาร์เซลล์เป็นต้นกำเนิดของพลังงานและนวัตกรรมที่ช่วยให้ระบบน้ำที่ผมออกแบบไว้ดำเนินไปได้ด้วยดี”

สภาพพื้นที่ถูกปรับให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ขยับไปทีละส่วน จนเริ่มเพาะปลูกได้ โดยลำดับการปลูกพืชในใจของคุณมนตรี คือ การปลูกผักใบ เพราะแร่ธาตุในดินบริเวณที่ดินทำกิน เป็นแร่ธาตุที่ให้การเจริญเติบโตของลำต้นและใบดี นอกจากนี้ ยังตั้งใจปลูกไม้ผลอีกหลายชนิดตามมาและเลี้ยงสัตว์ ตามสัดส่วนของพื้นที่

แต่ด้วยปัจจัยต้นทุนที่มีน้อย ทำให้คุณมนตรี ไม่สามารถทำไปพร้อมกันทั้งหมด 27 ไร่ได้ แต่ละพื้นที่จึงลงปลูกพืชไม่พร้อมกัน ปัจจุบันมีพืชผักสวนครัวชนิดใบ ปลูกหมุนเวียนไป เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เป็นต้น ผักต่างๆ เหล่านี้ใช้ระยะเวลาปลูกสั้น เมื่อเก็บเกี่ยวนำไปจำหน่ายทำให้มีรายได้ระยะสั้นเข้ามา ตามลำดับที่คุณมนตรีวางไว้

พื้นที่ถูกจัดสรรเป็นแปลงสำหรับพืชแต่ละชนิด

ระยะสั้น เป็นการปลูกผักสวนครัวชนิดใบ เก็บจำหน่ายได้เงินเป็นรายเดือน เมื่อหมุนเวียนผัก จะทำให้มีรายได้ต่อเนื่องตลอด ระยะกลาง เป็นการปลูกไม้ผล เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ เสาวรส มะพร้าว เป็นต้น ซึ่งไม้ผลจะมีรอบการผลิตปีต่อปี รายได้รายปีจึงเกิดจากไม้ผลส่วนใหญ่ ระยะยาว เป็นการปลูกไม้ยืนต้น เช่น ไม้สัก ไม้มะค่า ไม้มะฮอกกานี หรือไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่ใช้ระยะเวลาการเจริญเติบโต

“ในขณะที่ชุมชนโดยรอบ เลือกทำการเกษตรโดยปลูกพืชไร่ เหตุผลเพราะสภาพดินไม่เหมาะแก่การปลูกพืชชนิดอื่น แต่สำหรับคุณมนตรีแล้ว พืชไร่ที่เกษตรกรทั่วไปปลูกเป็นเพียงพืชที่ช่วยสร้างเงินต้นทุน เพื่อนำมาต่อยอดในการปลูกพืชชนิดอื่น”

เสาวรส หนึ่งในไม้ผลที่สร้างรายได้ให้กับคุณมนตรี

นอกเหนือจากพืชทั้ง 3 ระยะที่คุณมนตรีลงมือปลูก การเลี้ยงปลา ยังสร้างรายได้จากการจับปลาจำหน่าย ทั้งยังเลี้ยงหมูป่าที่ให้ลูกปีละ 2 คอกเป็นประจำ สามารถจำหน่ายได้ครอกละ 10,000 บาท และมีแพะที่เสมือนเครื่องตัดหญ้า เพราะสามารถปล่อยให้กินหญ้าในสวน และขายเนื้อเมื่อน้ำหนักได้ที่ ซึ่งสัตว์ทั้ง 3 ชนิดนี้ ไม่มีต้นทุนด้านอาหารแม้แต่น้อย เนื่องจากคุณมนตรีนำผลผลิตภายในสวนไปแปรรูปเป็นอาหารแทนการซื้ออาหารเม็ดสำเร็จรูป

ปัญหาหนักเช่นภัยแล้ง จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับคุณมนตรีต่อไป เพราะการวางระบบน้ำภายในแปลงได้ดี มีขั้นตอนการเก็บกักน้ำไปยังแทงก์น้ำ โดยไม่สิ้นเปลืองต้นทุนผ่านโซลาร์เซลล์ และดึงน้ำมาใช้โดยการวางระบบน้ำหยด การติดตั้งสปริงเกลอร์ แต่สำหรับปัญหาที่จับต้องได้ในเวลานี้ และเริ่มแพร่ระบาดไปหลายพื้นที่ คือ ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

เครื่องตัดหญ้าภายในสวน

คุณมนตรี ให้ความเห็นในฐานะเกษตรกรไว้ว่า ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมกำลังตามมา ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการดำรงชีพจะเริ่มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาคเกษตรเป็นหัวใจหลักในการผลิตวัตถุดิบและแหล่งอาหารสำคัญ ดังนั้น การที่มีแหล่งอาหารภายในพื้นที่ของตนเอง จะช่วยลดภาวะการขาดแคลนความมั่นคงทางอาหารในสภาวะโรคระบาดลงได้

“ไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่ว ปัญหาการกักตุนสินค้าเริ่มขยายวงกว้าง ผมอยู่แบบนี้ ถึงจะต้องประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ผมมั่นใจว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่และการทำการเกษตรตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่จะช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งที่ตามมา ผลผลิตที่ได้ก็กินและใช้ในครัวเรือน เหลือก็จำหน่าย ไม่ต้องซื้อเพิ่มหรือกักตุนเหมือนคนอื่น ผมคิดว่าไม่ช้าเกินไปหากชุมชนจะเริ่มมองการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างเป็นระบบ และสร้างแหล่งอาหารให้ตนเอง ก็จะผ่านพ้นวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นไปได้อย่างแน่นอน”

เรื่องราวจากเว็บไซต์ เทคโนโลยีชาวบ้าน.com

(Visited 1,453 times, 1 visits today)