นวัตกรรม “ห้องไอซียูโมดูลาร์” ตอบโจทย์รองรับผู้ป่วยวิกฤต ประคองชีวิตลดการสูญเสีย พร้อมพื้นที่ปลอดภัยเพิ่มความมั่นใจ ในการทำงานให้บุคลากรทางการแพทย์

ในสถานการณ์ที่วิกฤตขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนได้จากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ในแต่ละวันที่เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้โรงพยาบาลหลักทุกแห่ง หรือแม้แต่โรงพยาบาลสนามในกรุงเทพมหานครมีเตียงไม่เพียงพอรองรับ และที่สำคัญผู้ป่วยฉุกเฉินอาการหนักที่ต้องนอนในไอซียูมีจำนวนมากขึ้น ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นด่านหน้าสำคัญมีกำลังอ่อนล้าลงจนพลั้งพลาดติดเชื้อผู้ป่วย ทำให้ต้องกักตัวและหยุดทำงาน

การเร่งสร้างนวัตกรรม “ห้องไอซียูโมดูลาร์” (MODULAR ICU) จำนวน 4 อาคาร 40 เตียง ภายในเวลาอันรวดเร็ว ณ ศูนย์แพทย์ศาสตร์และการเรียนรู้เพื่อผู้สูงอายุ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา กทม. ถือเป็นภารกิจท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนเตียงไอซียูในพื้นที่ กทม. จะเป็นการช่วยประคองชีวิต ลดความตายให้กับผู้ป่วยในภาวะวิกฤต และสร้างความอุ่นใจให้คนไทยก้าวข้ามความยากลำบากครั้งนี้ ที่สำคัญยังช่วยสร้างความมั่นใจลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

การผลิตห้องไอซียูโมดูลาร์จะช่วยเสริมปริมาณเตียงไอซียูใน กทม. ที่มีอยู่ประมาณ 400 เตียง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤตได้ทันท่วงที ซึ่งเป็นงานที่สำคัญและท้าทายอย่างยิ่งที่ต้องเร่งสร้างและติดตั้งโดยเร็วที่สุดด้วยระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นการทำงานแข่งกับเวลา เราทำในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ให้เป็นไปได้ เพื่อปกป้องชีวิตผู้ป่วยวิกฤตโควิด และเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ด้วยการระดมสมอง วางแผนการทำงานอย่างรัดกุม โดยใช้ประสบการณ์ ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิดร่วมมือกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลต่าง ๆ พัฒนาและออกแบบนวัตกรรมที่รวดเร็วและสามารถใช้งานได้ทันทีนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าว

โดยเสียงสะท้อนจากประชาชนยอมรับว่า สถานการณ์โควิด 19 ที่มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนโรงพยาบาลไม่มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วย ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังรู้สึกกังวลว่าหากไปติดโควิดมาแบบไม่ตั้งใจจะสามารถหาเตียง หรือโรงพยาบาลในการรักษาได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อทราบถึงการมีโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเสริมเตียงไอซียูโมดูลาร์ที่สร้างโดยเอสซีจีใน กทม. ก็รู้สึกขอบคุณอย่างมาก ถือเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยในยามยากลำบาก ตอนนี้อยากให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน เพื่อให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปได้โดยที่มีการสูญเสียชีวิตน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทุกวันนี้รู้สึกเศร้ามากที่ได้รับข่าวมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 มีจำนวนสูงขึ้นทุกวัน

“โควิดบั่นทอนทั้งเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต เชื่อว่าไม่มีใครอยากติดเชื้อ แต่ทุกคนต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้น การ์ดต้องสูง เพื่อไม่ให้ติดเชื้อไปเพิ่มภาระให้กับสังคม ตอนนี้คุณหมอและพยาบาลก็อ่อนล้าเกือบหมดแรง โรงพยาบาลแต่ละแห่งวิกฤตหนักไม่เพียงพอรองรับ รู้สึกหดหู่มาก กำลังใจตอนนี้มาจากการที่เห็นคนไทยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างกรณีที่เอสซีจีเข้ามาช่วยสร้างอาคารไอซียูช่วยรองรับผู้ป่วยวิกฤติ ถือเป็นตัวช่วยที่ดีมาก สามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับผู้ป่วย ช่วยประคองชีวิตและที่สำคัญช่วยลดการตายลงได้อย่างแน่นอน จึงอยากขอบคุณแทนประชาชนทุกคน”  เสียงสะท้อนจากประชาชน

ICU ZONE สำหรับเตียงผู้ป่วยพร้อมบอกตำเเหน่งระบบยังชีพที่เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล

ขณะที่เสียงจากบุคลากรทางการแพทย์ผู้เป็นด่านหน้าสะท้อนว่า ผลกระทบจากโควิด 19 ในระลอกนี้หนักกว่าครั้งที่ผ่านมา การได้เห็นผู้เสียชีวิตมากขึ้นเป็นเรื่องทรมานใจมาก เชื่อว่าคนส่วนใหญ่พยายามป้องกันตัวเอง แต่บางคนก็ขาดความรู้และทุนทรัพย์ ในฐานะคนทำงานคิดว่าทุกคนเหนื่อยเหมือนกันหมด พร้อมที่จะช่วยกันทำงานอย่างเต็มกำลัง แต่สิ่งสำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องการ คือ ความปลอดภัยจากติดเชื้อ ซึ่งดีใจมากที่เอสซีจีมาสร้างอาคารไอซียูโมดูลาร์ ทำให้มีสถานที่ดูแลผู้ป่วยที่ปลอดภัย ทำให้คนไข้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ที่สำคัญช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างแน่นอน ถือเป็นหนึ่งกำลังใจของทั้งคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์

“ต้องขอบคุณเอสซีจีที่ใช้เวลาอย่างรวดเร็วในการเนรมิตอาคารไอซียูโรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ขึ้นมา ซึ่งมีความทันสมัย และปลอดภัย มีทั้งห้องแรงดันลบ ห้องแรงดันบวก มีระบบกรองอากาศสะอาด ช่วยลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ทำงานของหมอและพยาบาล ใช้ระบบทางเข้าสะอาด ทางออกปนเปื้อน แยกโซนกันชัดเจน ทำงานง่าย ปลอดภัย” เสียงสะท้อนจากบุคลากรทางการแพทย์

นวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ มูลค่าโครงการ 45 ล้านบาท ซึ่งเอสซีจีให้การสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 33 ล้านบาท ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จึงเข้ามาตอบโจทย์ปัญหาเร่งด่วนของกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถสร้างได้รวดเร็วใช้เวลา 7-10 วัน สำหรับห้องไอซียูโมดูลาร์ 1 อาคาร จำนวน 10 เตียง และยังมีประสิทธิภาพความสามารถเท่าไอซียูในโรงพยาบาลใหญ่ทุกประการ โดยทั้งมีเครื่องช่วยหายใจ เครื่องติดตามสัญญาณชีพ มีการให้ออกซิเจน มีระบบสื่อสาร เปรียบเสมือนไอซียูที่อยู่ในโรงพยาบาล

NURSING STATION ZONE สำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย

ทั้งนี้ นวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ออกแบบและก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วจากการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ จากโรงงาน โดยระบบ Modular สามารถควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างตั้งแต่การออกแบบจนถึงการผลิตจากโรงงานเพื่อมาประกอบบริเวณหน้างานได้อย่างมีมาตรฐาน ถูกออกแบบตามฟังก์ชั่นการทำงานของข้อกำหนดห้อง ICU ที่มีทีมแพทย์เป็นที่ปรึกษา โดยห้องสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เหมาะสมและปลอดภัย ทั้งระบบความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM) เพื่อกำจัดเชื้อโรคและฝุ่น และระบบความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM) เพื่อจำกัดการแพร่กระจายและลดเชื้อไวรัสออกสู่ภายนอกอาคาร

พื้นที่การใช้งานแบ่งเป็น 5 ส่วน

  1. ICU ZONE สำหรับเตียงผู้ป่วยพร้อมบอกตำแหน่งระบบยังชีพต่าง ๆ ที่จะเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM)
  2. NURSING STATION ZONE สำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น MONITOR ROOM สำหรับพยาบาลที่ดูแลเฝ้าระวัง และ STAND-BY ROOM สำหรับพยาบาลที่เตรียมสวมชุด PPE พร้อมสำหรับเข้าไปดูแลผู้ป่วย ICU โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM)
  3. MEDICAL PREPARATION สำหรับจัดเก็บเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วย
  4. ANTE ROOM ขาเข้าสำหรับควบคุมความดันก่อนเข้าสู่พื้นที่ ICU Zone
  5. ANTE ROOM ขาออกแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. พื้นที่ลำเลียงผู้ป่วยเข้าและออกจากพื้นที่ ICU 2. สำหรับทิ้งขยะติดเชื้อต่าง ๆ 3. ถอดชุด PPE พร้อมทางเดินไปสู่ห้องน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่
ด้านนอกนวัตกรรม ห้องไอซียูโมดูลาร์ (MODULAR ICU)

Published on: Jul 19, 2021

(Visited 2,273 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว