เปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างไร โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลง และยุคโลกเดือดมาถึงแล้ว” คำประกาศเตือนเมื่อไม่กี่เดือนก่อนจากเลขาธิการสหประชาชาติ ถือเป็นสัญญาณไซเรนต่อทุกคนว่า โลกกำลังเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วยิ่งกว่ายุคโลกร้อน ซึ่งจะกลายเป็น “ภาวะปกติใหม่” ที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวรับมือไปพร้อมกัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นรวดเร็วและต่อเนื่อง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งเอสเอ็มอี เกษตรกร ชุมชน และภาคแรงงาน ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดในสถานการณ์นี้อย่างไร เพราะหากไม่ปรับตัวหรือปรับตัวช้าเกินไป ก็อาจจะไม่ทันการณ์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการจัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ Just Transition ร่วมเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน…สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ส่วนหนึ่งของงาน ESG Symposium 2023: ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเอสซีจีชวนทุกภาคส่วน มาร่วมระดมสมองในเรื่องนี้ มีวิทยากรหลายท่านร่วมแบ่งปันข้อเสนอและทางออกต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนที่กำลังปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลก

เวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Just Transition ร่วมเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน…สู่สังคมคาร์บอนต่ำ”

เปลี่ยนก่อน รอดก่อน

นายพิชาญ ทิพวงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่าภูถ้ำ จ.ขอนแก่น ตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่เริ่มปรับตัวรับมือวิกฤติโลกเดือดแล้ว เล่าที่มาที่ไปว่า ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความแห้งแล้ง เกษตรกรขาดน้ำไม่สามารถทำมาหากินได้ แต่เมื่อฤดูฝนมาถึงก็ตกหนักจนไม่มีที่เก็บน้ำ ซึ่งถือปัญหาใหญ่ จนกระทั่ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และเอสซีจี เข้ามาให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้สามารถหาวิธีเก็บน้ำ 2 ปี ข้ามแล้ง 4 ปีได้ ด้วยการทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ทำให้ป่าเสื่อมโทรมกลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นทั้งแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ แหล่งพลังงาน แหล่งหาของป่าเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน เพิ่มพื้นที่สีเขียว และฟื้นคืนป่าต้นน้ำ

พิชาญเล่าต่อว่า เมื่อจัดการปัญหาป่าต้นน้ำได้แล้ว ก็ดำเนินการต่อในการเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ด้วยการสนับสนุนจากเอสซีจี ผ่านโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ทำให้สามารถเก็บน้ำข้ามแล้ง 4 ปี

“ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน พื้นที่ผมไม่เคยแล้ง ไม่เคยขาดน้ำ จากการจัดการน้ำแบบนี้ ตอนนี้มีน้ำทุกที่ น้ำเต็มทุกบ่อ”

สำหรับสิ่งที่ภาคเกษตรอยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ พิชาญเผยว่า อยากได้รับการสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น เครื่องมือทางการเกษตรที่เทคโนโลยีทันสมัย และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ขณะเดียวกันยังเห็นว่า รัฐควรมีนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม วนเกษตร เป็นต้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกเดือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายพิชาญ ทิพวงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่าภูถ้ำ จ.ขอนแก่น

สนับสนุนเกษตรด้วย “การจัดการน้ำ”

หนึ่งในองค์การมหาชนที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาคการเกษตรเพื่อรับมือกับภาวะโลกเดือด คือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์การจัดการน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย

ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ระบุว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพราะเพิ่มน้ำเท่ากับเพิ่มป่า และยังเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เศรษฐกิจยั่งยืน

ดร.รอยบุญ เสริมว่า ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมีความแปรปรวน เกิดน้ำท่วมมากขึ้น ทั้งมีฝนทิ้งช่วง “การมีข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำ” จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือปัญหาโลกร้อน สสน.มีความพร้อม เพราะมีคลังข้อมูลจาก 52 หน่วยงาน ซึ่งมากพอที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ ตั้งใจที่จะช่วยเหลือภาครัฐและคนไทยทุกคน ด้วยการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ และพร้อมที่จะดำเนินการกับทุกฝ่ายได้ทันที

คำตอบของคาร์บอนเครดิต ปัจจัยสำคัญคือ น้ำ เพราะตอบโจทย์ไปถึงอากาศ ภาคเกษตร และป่าไม้” ดร.รอยบุญกล่าว “เราพร้อมจะถ่ายทอดความรู้และทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน”

ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

โอกาสจากการเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด

นายผจญ ศรีบุญเรือง รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมพลังงานนั้น มีทั้งด้านอุปทาน (supply side) และด้านอุปสงค์ (demand side) ในสมัยก่อนความต้องการในฝั่งผู้บริโภคมักคาดหวังเพียงว่า พลังงานจะต้องมั่นคง ต่อเนื่อง และราคาถูก ซึ่งตัวที่ตอบโจทย์ที่สุดในขณะนั้นคือ “พลังงานฟอสซิล”

แต่ปัจจุบัน กฎกติกาการค้าโลกเปลี่ยนแปลงไปมากเพื่ออิงกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ทำให้ต้องการ “พลังงานสะอาด” เพิ่มเข้ามา ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ ขณะเดียวกันก็อาจเป็น “โอกาส” ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเช่นกัน หากปรับตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น

“ถ้าเราปรับตัวได้ทัน ทำได้ดีกว่าประเทศอื่น ก็สามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันได้”

นอกจากนี้ ผจญมองว่า ไทยควรเพิ่มการกระตุ้นเตือนให้เอสเอ็มอี ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องสังคมคาร์บอนต่ำกว่าเป็นเรื่องสำคัญ

“เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ในขณะนี้ ยังไม่ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังจะมากระทบต่อธุรกิจ กระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เพราะถ้าปรับตัวไม่ทันจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน” ผจญระบุ

นายผจญ ศรีบุญเรือง รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

อัปสกิลแรงงาน รับสังคมคาร์บอนต่ำ

เมื่ออุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนมากขึ้น แรงงานก็ต้องปรับตัวเช่นกัน นายนที ราชฉวาง ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาหลักสูตรและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมแรงงานมีภารกิจในการฝึกอบรม สร้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงานแก่แรงงาน โดยจะมีหลักสูตร Green Job หรือ Green Skill ตัวอย่างเช่น หลักสูตรพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์รูฟท็อป ซึ่งจะเริ่มจากการอบรมทักษะที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการก่อน โดยจะสนับสนุนทั้งแรงงานใหม่ แรงงานเดิมที่ต้องการเพิ่มทักษะ และแรงงานนอกระบบ

“การเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาป เป็นรถยนต์ไฟฟ้า แรงงานกลุ่มนี้ต้องไม่ถูกทิ้ง โดยนำความรู้เดิมไปต่อยอด ซึ่งถือเป็นแรงงานจำนวนมากซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ” นทีระบุ

นางจันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิด แต่ระหว่างทางของการเปลี่ยนผ่าน มีปัญหารออยู่ และความสามารถในการรับมือหรือแก้ปัญหาของแต่ละคน แต่ละประเทศยังไม่เท่ากัน การแบ่งปัน สนับสนุน และความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่าน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิด โดยไม่ทิ้งให้บางกลุ่มต้องรับมือฝ่ายเดียว ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะร่วมกันพลิกภาวะโลกเดือดนี้ให้เป็น “โอกาส” ในการร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่ออยู่รอดไปด้วยกัน

นางจันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมงาน ESG Symposium 2023: ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ย้อนหลัง ได้ที่ Youtube และ Facebook ของเอสซีจี ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.scg.com/esg/highlight/esgsymposium2023/

Published on: Oct 12, 2023

(Visited 718 times, 1 visits today)