52 ชั่วโมงสุดเข้มข้น เมื่อคนร้อยคนมารวมตัวเพื่อสร้างนวัตกรรมในงาน Hackathon ของเอสซีจี

คุณคิดว่านวัตกรรมต้องใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะเกิด หนึ่งเดือน ครึ่งปี หรือนานกว่านั้น?

งาน Hackathon : Passion for Open Innovation อาจเปลี่ยนความคิดของเราใหม่ ว่าส่วนผสมของนวัตกรรมอาจไม่ใช่เวลาที่ยาวนาน หรือต้องเกิดขึ้นในองค์กรใหญ่ แต่มาจากไอเดียที่ถูกจุดและตอบโจทย์ เพราะนี่คืองาน Hackathon ที่ให้คนนำไอเดียมาขับเคี่ยวกันภายใน 52 ชั่วโมง แล้วปั้นเป็นโปรโตไทป์ที่นำขึ้นมาพิตช์เพื่อตัดสินกันว่าใครจะได้รับเลือก

เอสซีจีกำหนดโจทย์ 3 หัวข้อเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้สร้างโซลูชันในด้านต่างๆ ทั้งด้านการนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างการเติบโตให้เอสซีจีและคู่ธุรกิจ ด้วยธุรกิจ B2B รูปแบบใหม่ๆ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและพัฒนาความยั่งยืนในอุตสาหกรรม และด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้คน นับว่าเป็นสามด้านที่ครอบคลุมมิติชีวิตยุคใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงเติบโตทางธุรกิจ แต่ชีวิตและสังคมต้องดีขึ้นอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

ผู้เข้าแข่งขันจากหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งบางส่วนมาจากเอสซีจี ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ของ BIG Co-Working Space ตั้งแต่วันที่ 26-28 ต.ค. 61 ทำงาน กิน และนอนที่นั่น เพื่อปั้นไอเดียที่เจ๋งที่สุดออกมาให้ได้ภายใต้เวลาแสนจำกัด เริ่มตั้งแต่จับกลุ่มร่วมทีม ปรึกษาหารือ แบ่งหน้าที่กันไปทำงาน สำรวจตลาด และทำพรีเซนเทชันกับเดโม ในความเร็วที่แทบจะเรียกได้ว่าทั้งหมดนี้ถูกเสกขึ้นมา

เพราะไอเดียที่ถูกต้องแต่มาช้า อาจคลาดกันกับโอกาสที่จะกลายเป็นธุรกิจ

Hackathon ไม่ต้องหลับต้องนอน เมื่อไอเดียปลุกให้ตื่น

โต๊ะ 24 ตัวที่เรียงรายอยู่ในห้องเอนกประสงค์ขนาดใหญ่ คือเวทีย่อยของ 24 ทีมที่มีโอกาสได้นำไอเดียมาเสนอต่อคณะกรรมการในรอบ Exhibition เพื่อคัดเหลือเพียง 9 ทีมที่จะไปต่อในรอบ Final Pitching บนเวทีใหญ่ ในวันที่ 28 ต.ค. 61 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกิจกรรม

แต่โอกาสที่ว่านี้ก็กินเวลาเพียง 3 นาที ตัวเลขสีเขียวกระพริบเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนแทบหายใจไม่ทัน หากพูดติดขัด แสดงแนวคิดได้ไม่อยู่หมัด หรือตอบคำถามเบื้องต้นได้ไม่เคลียร์ เสียงออดบอกหมดเวลาอาจหมายถึงอวสานของแนวคิดที่ปั้นกันมาทั้ง 52 ชั่วโมง

และแล้ว 9 ทีมสุดท้ายจากโจทย์ 3 หัวข้อ ก็ได้รับโอกาสขึ้นมา Final Pitch กันอีก 3 นาทีบนเวทีใหญ่ แต่ 5 นาทีต่อมา แนวคิดที่คอนเซปต์ดีสวยหรู อาจโดนกรรมการที่เป็นผู้มีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจยิงคำถามจนพรุน เพราะแม้แนวคิดจะงดงามแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญของนวัตกรรมก็คือ จะไปต่ออย่างไร และแน่ใจหรือว่าจะมีคนใช้งานจริงๆ เช่น “จะรวบรวม Big Data มาจากไหน” “จะเชื่อมโยงและเข้าหาพาร์ทเนอร์อย่างไร” “แน่ใจได้อย่างไรว่าผู้บริโภคจะใช้งานมัน” ซึ่งบางคำถามก็ปราบเซียนจนบางทีมอาจไม่ได้ไปต่อ

และนี่คือสามทีมที่ได้รับรางวัลจากสาขาต่างๆ เพราะพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าไอเดียมาถูกทางและมีความเป็นไปได้สูง นอกจากจะได้รางวัล 200,000 บาทแล้ว ก็อาจได้รับการสนับสนุนจากเอสซีจีด้วย เพราะเอสซีจีมองเห็นโอกาสจากนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายนอกองค์กร และพร้อมสนับสนุนผลักดันให้ไอเดียเหล่านั้นได้เติบโต เกิดเป็นการผสานความร่วมมือจากภายนอกสู่ภายใน

Get Sure แพลตฟอร์มเชื่อมผู้รับเหมากับผู้ให้เช่าเครื่องจักรก่อสร้าง

Get Sure คือทีมที่มาแรงที่สุด เพราะได้ทั้งรางวัลในหัวข้อ ‘Growing business with our partners through technology’ และได้รับเลือกเป็นทีมที่ Business Unit ด้านซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในเอสซีจี อยากทำงานด้วยมากที่สุด (รางวัล Business Unit Choice : CBM)

Get Sure คือการรวมตัวกันคนจากภาคธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง การธนาคาร ตัวแทนจำหน่ายน้ำมัน นักออกแบบ UX/UI นักการตลาด และเดเวล็อปเปอร์ ที่เพิ่งมารวมทีมกันที่นี่ เกิดเป็นผลงานแพลตฟอร์มเช่าเครื่องจักรสำหรับการก่อสร้างที่มีระบบเรตติ้ง

“ปัญหาของเรื่องนี้ก็คือ ผู้รับเหมาในงานก่อสร้างต้องใช้เครื่องจักรในการก่อสร้าง บางคนถามจากคนที่รู้จัก บางคนก็เสิร์ชกูเกิลเอา แต่เขาไม่สามารถหาสิ่งที่ดีที่สุดได้ ถ้าไปเจอคนที่ร้ายๆ ก็ทำให้ขาดทุน” ธวัชชัย สุวรรณรัตน์ ผู้ที่ทำงานอยู่ในสายงานก่อสร้างที่เอสซีจีมา 10 ปีแล้ว กล่าวถึงปัญหาที่เผชิญมาด้วยตัวเอง จึงได้ชวนเพื่อนร่วมทีมมาหาทางออกด้วยกัน “แพลตฟอร์มนี้ต้องทำให้คนที่อยากจะเช่าเครื่องจักรได้เจอผู้ให้เช่าที่มีคุณภาพ และทำให้งานก่อสร้างดีขึ้น ภาพรวมงานก่อสร้างโดยรวมของประเทศไทยก็จะได้ดีขึ้น”

นอกจากนี้ Get Sure ยังช่วยทำให้เครื่องจักรต่างๆ ได้รับการใช้งานอย่างคุ้มค่า ลดเวลาที่จอดนิ่งอยู่เฉยๆ

แกน โอภาสกรกุล สมาชิกในทีม เล่าขั้นตอนการทดสอบตลาดที่เกิดขึ้นในสนามแข่งขัน “เราสร้างโปรโตไทป์ขึ้นมา แล้วใส่เข้าไปในกลุ่มไลน์ของผู้รับเหมา ปรากฏว่าเพียงแค่ 12 ชั่วโมง 30 นาที เราได้ยอดการขายถึง 180,000 บาท ส่วนในฝั่งของเจ้าของเครื่องจักร จากที่เราติดต่อไป ตอนนี้มาเข้าร่วม 137 เครื่องแล้ว” และโมเดลธุรกิจของ Get Sure ก็คือการเก็บค่าคอมมิชชันจากการจับคู่กันเหล่านี้

“เราได้ทำแบรนดิงเพจผ่าน LINE@ เพื่อให้เข้ามาในเว็บแอปฯ ของเรา หาง่ายมากเพียงเสิร์ชแค่ 2-3 ขั้นตอน ส่วนเจ้าของเครื่องจักรจะได้รับข้อมูลว่าเครื่องจักรของตัวเองมี performance เป็นอย่างไรบ้าง มียอดการเช่าเท่าไร และมีเรตติ้งจากผู้เช่า”

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในกรอบเวลาของ Hackathon โดยมีทักษะส่วนตัวและคอนเนคชันจากการทำงานของแต่ละคนเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นให้ไอเดียนี้กลายเป็นจริงได้ทันทีในเกมการแข่งขัน

แต่แน่นอนว่าอุปสรรคจากความหลากหลายนี้ก็มีบ้าง

“เนื่องจากว่าทุกคนต่างคนต่างมีไอเดียมา ก็ต้องหาทางเบลนด์ไอเดียทุกคนให้ได้ เพื่อกำหนดว่าเราจะไปทางนี้นะ ให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันก่อน” กิตติศักดิ์ พิพัฒน์ภัญโญพงศ์ อดีตพนักงานเอสซีจี แพคเกจจิ้ง ซึ่งปัจจุบันทำงานธนาคารกล่าว และแนะนำว่าสำหรับคนที่อยากสมัครเข้าร่วมครั้งหน้า “ลองคุยกับเพื่อนหรือคนใกล้ตัวว่ามันมีแนวทางไหม แล้วเริ่มทำงานบางส่วนมาก่อน จะทำให้เราตั้งตัวได้เร็วกว่าคนอื่น”

“บางคนอาจไม่กล้ามางาน Hackathon เพราะกลัวมาเจอคนไม่เห็นด้วยกับเรา แต่การที่คนอื่นเห็นแย้งกับเรามันดีมาก อย่างทีมเรา พอคิดไม่ตรงกัน เราถาม เราพูด ทำให้เรามองอีกด้าน” มนวรัตน์ มธุรพจน์วจนะ UX/UI designer กล่าว “ตอนแรกก็มองว่าเวลาแค่นี้มันจะไปทำอะไรได้ แต่ว่าพอเราคุย และมีไอเดียที่ชัดเจนมาก พูดปุ๊บ ทุกคนก็แยกกันไปทำหน้าที่ของตัวเองได้เลย”

“พอเวลากระชั้น มันเหมือนดึงศักยภาพเราออกมาเต็มที่โดยที่เราไม่รู้ตัว” กรขวัญ วุฒินันทเกษม หญิงสาวอีกคนที่เคยทำงานที่เอสซีจีในฐานะนักการตลาดอยู่ 5 ปีเต็ม กล่าวเสริม “ที่สำคัญคือการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราเชื่อ คือสิ่งที่ใช่สำหรับลูกค้าหรือเปล่า ภายในสามวันนี้ มันทำให้เรารู้ว่าเราควรคิดยังไง เทสต์ยังไง เพื่อให้รู้คำตอบ ถ้าคุณอยู่ที่บ้านแล้วคิดฟุ้งซ่านไปว่ามันจะเวิร์ก จริงๆ อาจไม่ใช่”

นอกจากรางวัล 300,000 บาท ที่ทั้งทีมได้กลับบ้านแล้ว สิ่งที่ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันคือการได้เพื่อนต่างสาขา ที่จะสามารถร่วมงานกันได้ในอนาคต

SCG Care สะกิดองค์กรมาช่วยทำ ‘โครงการเพื่อสังคม’ ให้ถูกจุด

“เคยเห็นไหม โครงการที่ถ่ายรูปว่านำลูกฟุตบอลไปมอบให้เด็ก แต่ข้างหลังเป็นห้องน้ำสังกะสีผุ มันคือความต้องการจริงๆ ของชุมชนนั้นหรือเปล่า โปรเจ็กต์ SCG Care (Social Good Care) ของเราพยายามจะระบุให้ได้ว่าสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ คืออะไร แล้วผูกตรงนั้นเข้ากับ CSR ที่ทุกองค์กรเตรียมงบประมาณเอาไว้อยู่แล้ว แต่ทำแล้ววัดผลได้จริง”

ตู้-ธนรัฐ เดเวลอปเปอร์จากเทนเซนต์ กล่าวแนะนำโปรเจ็กต์ SCG Care ของเขา ซึ่งได้รับรางวัลในหัวข้อ ‘Developing Industrial Sustainability’ โดยการสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้คนในชุมชนสามารถประกาศความต้องการของตัวเอง เช่น ต้องการสะพานลอยคนข้ามตรงถนน 8 เลน และแชร์ให้คนในชุมชนมาร่วมโหวตกัน แล้วนำความต้องการนี้ไปเชื่อมโยงกับโครงการ CSR ของบริษัทต่างๆ

“สิ่งที่สำคัญกับองค์กรคือชุมชน เราจึงเชื่อมโยงองค์กรกับโปรเจกต์ CSR ให้เกิดเป็นโครงการที่อิมแพคกับชุมชนจริงๆ และวัดผลได้ ไม่ใช่แค่ทำกิจกรรมแล้วจบกัน จากนั้นก็สร้างเป็นฐานข้อมูลและรีพอร์ตที่องค์กรนำไปใช้ได้ เปรียบเทียบกันได้ว่าคุณอยู่ตรงไหนในอุตสาหกรรม”

“ถ้าคุณเลือก ​pain ที่ผิดมันก็เหมือนฟังคนเล่านิทานที่ฟังดูไม่จริง แต่ถ้าคุณเลือก pain ที่ถูก หรือจริง สิ่งที่คุณกำลังจะทำต่อไป มันก็จะมีเส้นทางให้เดินตลอด คุณอาจจะติดปัญหาแต่มันก็จะมีวิธีแก้อยู่ดี เพราะสุดท้ายแล้วมันเป็นความต้องการจริงๆ”

รัฐนันท์ รุ่งพิทยาธร พนักงานจากเอสซีจีเอ็กซ์เพรส หนึ่งในผู้ร่วมทีม เล่าความสนุกที่ได้เข้าร่วม Hackathon เป็นครั้งแรกนี้ว่า “ผมมางานนี้แบบงงๆ เขาแจกหมอน สักพักแจกถุงนอน ก็เลยอ้อ… ต้องค้างที่นี่ใช่ไหม สนุกมากครับ ทำให้ได้รู้ว่า ที่เคยคิดๆ กันมาว่าการจะทำธุรกิจหรือโครงการสักอย่างหนึ่งนั้นต้องใช้เวลานาน จริงๆ มันไม่ใช่ วันเดียวก็เสร็จ เพียงแต่คุณต้องมีไอเดีย เวลามันบีบเราให้รีบคิด รีบแชร์ และรีบช่วยกัน เพราะทุกปัญหาคือโอกาส”

“Hackathon เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เราสามารถทดสอบศักยภาพตัวเองว่า เราเนี่ยคนจริงรึเปล่า สู้’เปล่า ใจรึเปล่า (หัวเราะ) เมื่อคืน พอสามทุ่มคุณอาจจะเลือกล้างไพ่ ปิดไฟนอน หรือคุณจะไปต่อ เพื่อให้มันมีอะไรออกมา” ธนรัฐกล่าวเสริม

Oldster สังคมสูงวัยไม่เหงา ร่วมสร้างกิจกรรมออฟไลน์ไปด้วยกัน

กลุ่มสุดท้ายที่ได้รางวัลในหัวข้อ ‘Revolutionizing Living’ ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ มากับไอเดียที่สังคมไทยขณะนี้กำลังต้องการ นั่นคือบริการสำหรับผู้สูงอายุในสังคมสูงวัย พวกเขามีแนวคิดจะสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มาสร้างอีเวนต์กิจกรรมร่วมกัน และนำกิจกรรมที่อยากให้จัดนี้ไปหาสปอนเซอร์ เชื่อมกับธุรกิจต่างๆ และเปิดโอกาสให้มี User-generated Content ในแพลตฟอร์ม ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุว่าชอบส่งรูปภาพดอกไม้ นอกจากจะอยากทักทายแล้ว พวกเขาก็ยังต้องการสังคมและเพื่อน สวนทางกับชีวิตวัยเกษียณที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน

“คิดมาตั้งแต่ตอนสมัคร เพราะเป็น pain point ที่เจอกับตัวเอง เรื่องพ่อ-แม่ อยู่บ้านกันสองคน อายุมากแล้ว มันก็เลยเป็นไอเดียที่มาจากความรักของเราจริงๆ” สมาชิกในทีมที่เป็น Creative Director ของบริษัทอมรินทร์พรินติงกล่าว แม้ไม่ได้ทำงานด้านนี้โดยตรง แต่สมาชิกคนอื่นภายในทีมที่สนใจประเด็นเดียวกันนี้ก็ตามมา ซึ่งมีทั้งเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร พนักงานออนไลน์เอเจนซี่ และเดเวล็อปเปอร์ รวมทั้งผู้ที่ทำธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงอายุจากดูแคร์ดอตโค

“เราทำเรื่องผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่เมื่อมองหากิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่ตอบโจทย์จริงๆ ปรากฏว่ายังไม่มี ก่อนมาก็ตั้งใจจะมาหาคน แต่พอเห็นเขาพิตช์ไอเดียนี้ก็เลยรีบไปจับกลุ่มกับเขา” พิมพ์ชนก วรวัฒนนนท์ กล่าว

แพลตฟอร์มที่ว่านี้ไม่ได้ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงแต่อย่างใด ทีม Oldster มองว่า ในเมื่อผู้สูงอายุคือเป้าหมายหลัก สิ่งสำคัญกว่าคือการออกแบบเครื่องมือออกมาให้เหมาะกับผู้สูงวัย

“เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้ไอเดียเป็นไปได้ แต่คำว่า ‘แพลตฟอร์ม’ มันต้องเป็นคอมมิวนิตี้ เพราะฉะนั้นจุดที่สำคัญนอกเหนือจากเรื่องเทคโนโลยี คือการมีพาร์ทเนอร์ที่จะมาช่วยกันทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น”

สมาชิกในทีมบอกว่า อุปสรรคที่เจอคือพวกเขาต้องใช้เวลาคุยกันนานมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะต้องคุยกันเพื่อตกผลึกไอเดีย แล้วค่อยลงมือทำ

“สิ่งที่เซอร์ไพรซ์ก็คือ ไม่คิดว่าทุกคนจะมานอนที่นี่กันจริงๆ คิดว่าเที่ยงคืน ตีหนึ่งคงกลับบ้าน แต่เมื่อคืนเรานั่งคุยถึงตีสี่ครึ่ง แล้วเช้านี้ก็ตื่นมาพิตช์ต่อ

“อย่างน้อยเราจะได้มาเจอคนจากต่างอินดัสตรี จะชนะหรือไม่ ก็อยากจะพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงอยู่แล้ว ซึ่งอีเวนต์ที่เราโพสต์จริงๆ จากงานนี้ ก็มีคนกดเข้าร่วมเรียบร้อยแล้ว และเราก็ต้องไปทำให้เกิดขึ้นจริง”

ผลลัพธ์อันโดดเด่นสามโปรเจ็กต์จากโครงการ Hackathon ครั้งแรกของเอสซีจีนี้ แสดงให้เห็นว่าโซลูชันใหม่ๆ อาจไม่ต้องใช้เวลานาน แต่ต้องอาศัยความหลากหลายของสายอาชีพ ทักษะ มุมมอง เข้ามารวมกันโดยอาศัยแรงดึงดูดจากแพชชันที่มีต่อเรื่องเดียวกัน สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ วัฒนธรรมของการสร้างสรรค์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง และเป็น Open Innovation ที่สังคมเองจะได้ประโยชน์

เอสซีจีถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งตลอดหนึ่งศตวรรษ ทั้งยังมีส่วนในการผลักดันและสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อร่วมเติบโตไปกับผู้คนที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ลูกค้า และการจัดกิจกรรม Hackathon ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้ไม่ได้รางวัลกลับไป แต่สิ่งสำคัญคือการได้ร่วมทำงานกับผู้คนเก่งๆ ตลอดจนได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มีช่วยติดอาวุธทางปัญญาให้ได้เป็นอย่างดี


52 ชั่วโมงสุดเข้มข้น เมื่อคนร้อยคนมารวมตัวเพื่อสร้างนวัตกรรมในงาน Hackathon ของเอสซีจี

(Visited 523 times, 1 visits today)