สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ผนึกกำลัง 5 กระทรวง และ 16 หน่วยงาน ร่วมส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อย CO2

ภาวะก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษยชาติทั่วโลก ความร่วมมือดำเนินการจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถชะลอและลดผลกระทบ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้  อีกทั้งยังสามารถร่วมกับประชาคมโลกช่วยควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดโลกร้อน (Global Warming)

ภายใต้แผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังกับ 5 กระทรวง และ 16 หน่วยงานจากภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา แสดงเจตจำนงขับเคลื่อนร่วมกัน ภายใต้แนวคิด “TOGETHER  FOR OUR WORLD ” รวมพลังเพื่อโลกของเรา และร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจ “การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์: มาตรการทดแทนปูนเม็ด” โดยมุ่งหวังบรรลุลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน CO2   ภายในปี พ.ศ. 2565 ด้วยการส่งเสริม สนับสนุน และเพิ่มการใช้งานปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ได้มาตรฐาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อย CO2

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กล่าวสนับสนุน…“ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จากภาวะก๊าซเรือนกระจกเป็นความท้าทายระดับโลก โดยประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 12 ของโลกในประเภทของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาก (Extreme Risk) ที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ และบรรจุประเด็นดังกล่าวไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ค. 2558 – 2593 ซึ่งเป็นกรอบระยะยาวในการกำหนดทิศทางดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ดังนั้น ความร่วมมือดำเนินการจากทุกภาคส่วนในทุกระดับจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก และการบริหารจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมสนับสนุน และร่วมขับเคลื่อนมาตรการทดแทนปูนเม็ด เพื่อความสำเร็จของการลดการปล่อย CO2 ได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งจะลดผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นต่อประชาชนในประเทศในระยะยาว ลดความเสี่ยงภัยของประเทศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

กล่าวสนับสนุน…“กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ การส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรโดยการหมุนเวียนนำกากอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์ ‘มาตรการทดแทนปูนเม็ด’ เป็นหนึ่งในมาตรการหลักภายใต้แผนปฏิบัติการของสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผลักดันให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับปูนซีเมนต์ที่มีสัดส่วนปริมาณปูนเม็ดที่ต่ำลง และผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่นำปูนซีเมนต์ชนิดดังกล่าวไปเป็นส่วนประกอบการผลิต ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ซีเมนต์ไฮดรอลิก (มอก.2594-2556) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จฉบับใหม่ (มอก.213-2560) กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งเป็นปูนซีเมนต์ที่มีสัดส่วนปริมาณปูนเม็ดต่ำลง และผลิตภัณฑ์คอนกรีตคาร์บอนต่ำ ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการปรับปรุงบัญชีรายการผลิตภัณฑ์ ภายใต้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว ซึ่งเป็นการสร้างตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก”

ความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กระทรวงคมนาคม โดย นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม

กล่าวสนับสนุน…“กระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากการปล่อย CO2 ทั้งจากสาขาคมนาคมขนส่ง และสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ จึงยินดีร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อน ‘มาตรการทดแทนปูนเม็ด’ ด้วยการส่งเสริมให้หน่วยงานของกระทรวงฯ ปรับปรุงข้อกำหนดหรือมาตรฐานต่างๆ ให้สามารถใช้วัสดุก่อสร้าง ประเภทปูนซีเมนต์ที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในการก่อสร้างประเภทต่างๆ  ของกระทรวงฯ เพื่อเป็นการสนองตอบต่อนโยบายสำคัญของประเทศ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม รวมทั้งเป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมนำมาซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า การบูรณาการความร่วมมือผู้เกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วนในวันนี้ จะทำให้ ‘มาตรการทดแทนปูนเม็ด’ สำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างแน่นอน”

กระทรวงมหาดไทย โดย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย

กล่าวสนับสนุน…“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์เป็นอย่างมากกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยที่เกิดจากภัยธรรมชาติ การลดความเสี่ยงและความเสียหายจากภัยพิบัติ การเตรียมความพร้อมของชุมชนในการปรับตัว การจัดทำผังเมือง การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เพื่อความมั่นคงต่อระบบพลังงานของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม

‘มาตรการทดแทนปูนเม็ด’ เป็นการมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ที่ลดการปล่อย CO2 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ใช้วัสดุในการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับการวางแผน ออกแบบพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างยั่งยืน (New Urban Agenda) เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสนองตอบต่อทิศทางการพัฒนาของโลกที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการปรับแก้ไขมาตรฐานด้านวิศวกรรม เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานในโครงการก่อสร้างภาครัฐได้ รวมทั้งจะจัดให้มีโครงการนำร่องการใช้งาน พร้อมส่งเสริมขยายการใช้งานไปยังหน่วยงานต่างๆ ต่อไป”

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กล่าวสนับสนุน…“ภาคเกษตรเป็นภาคที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งการเกษตรกรรมของไทยยังคงพึ่งพาสภาพภูมิอากาศเป็นหลัก จึงจะมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงความสำคัญ จึงมีนโยบายร่วมกับทุกหน่วยงานขับเคลื่อน ‘แผนการดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร’ ครอบคลุมด้านพืช ด้านดิน ด้านน้ำ ด้านปศุสัตว์และการประมง และด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยินดีสนับสนุนการดำเนินการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ที่ได้มาตรฐานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  เช่น ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งช่วยลดการเกิดภาวะก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ภาพรวมความสำคัญของการร่วมขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย โดย ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ได้มีการจัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021 – 2030) เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเป้าหมายและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกใน 3 สาขา ได้แก่ 1) สาขาพลังงานและคมนาคมขนส่ง 2) สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และ 3) สาขาการจัดการของเสีย

‘มาตรการทดแทนปูนเม็ด’ เป็นหนึ่งในมาตรการหลักที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เพื่อ   ลดก๊าซเรือนกระจกในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นแนวทางการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูง มีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนให้มีการใช้งานผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากยิ่งขึ้น จะช่วยให้ศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นได้ถึง 850,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”

ความร่วมมือสู่ความสำเร็จ โดย นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“การลดก๊าซเรือนกระจกไม่ได้เป็นเรื่องการดำเนินการเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องของทุกคน/ ทุกภาคส่วน ต้องดำเนินการร่วมกัน ทั้งนี้ อยากให้มองว่า การดำเนินการในวันนี้ ท้ายสุดแล้วเป็นผลดีต่อเราทุกคน ลูกหลานของเรา และคนรุ่นต่อๆ ไป …TOGETHER FOR OUR WORLD…

สำหรับ ‘มาตรการทดแทนปูนเม็ด’ ในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ นั้น ด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนที่จะร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมให้มีการใช้งาน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา รวมกันดำเนินการในด้านต่างๆ จะเป็นสิ่งที่จะทำให้เราสามารถลด
การปล่อย CO2ได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ ในปี พ.ศ. 2565 ตามเป้าหมาย”

ความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ภาครัฐ:

  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการผลิตให้ความสำคัญตลอดกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
  • จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์คอนกรีต
    ที่ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในบัญชีจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
  • ส่งเสริมการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม
  • จัดทำระบบรายงาน และการทวนสอบข้อมูลการลด CO2 (Monitoring, Reporting, Verification: MRV)

ภาคอุตสาหกรรม:

  • การนำเทคโนโลยี/ นวัตกรรมมาปรับใช้กระบวนการผลิต ด้วยการส่งเสริมการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลด
    การปล่อย CO2 เช่น ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก และผลิตภัณฑ์คอนกรีตประเภทต่างๆ

ภาควิชาชีพ:

  • เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ การใช้งาน และประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ภาคการศึกษา:

  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัย พัฒนา
(Visited 1,356 times, 1 visits today)