Green Mining ในแบบ SCG ต้นแบบเหมืองที่อยู่ร่วมกับชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เหมืองสีเขียว GREEN MINING
เหมืองสีเขียว GREEN MINING

เหมืองสีเขียว (Green Mining) หลักการทำเหมืองของเอสซีจีด้วยแนวคิด “โรงงานอยู่ที่ไหน ป่าต้องเขียวที่นั่น” โดยได้นำแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอสซีจี และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในกระบวนการจัดการและดูแลสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดกฏหมาย รวมไปถึงข้อปฎิบัติสากล เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

การออกแบบการทำเหมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เอสซีจี ได้พัฒนานวัตกรรมการออกแบบการทำเหมืองรูปแบบใหม่ เรียกว่า “Semi Open Cut” ที่ผสมผสานเทคนิคการทำเหมืองแบบ Open Cut (การตัดยอด) และ Open Pit (การขุดตัก) โดยจะเว้นพื้นที่ขอบเพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียว หรือ Buffer Zone ตลอดแนวขอบเหมือง เพื่อคงไว้ซึ่งทัศนียภาพของขอบแนวเขาตามธรรมชาติ ที่ยังคงสภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์

ขั้นตอนการทำเหมือง

เอสซีจี ได้นำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยเข้ามาพิจารณาการทำเหมืองทุกขั้นตอน เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อทั้ง ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. การวางแผนการทำเหมือง (Mine Planning) โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ เพื่อวางแผนการทำเหมืองทั้งในระยะยาวและระยะสั้น เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
  2. การระเบิด (Blasting) ศึกษา ปรับปรุงรูปแบบ และเทคนิคการทำเหมืองที่จะช่วยลดผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะ ด้านเสียงและแรงสั่นสะเทือน โดยพยายามปรับรูปแบบการระเบิดให้สอดคล้องกับลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยา เพื่อให้การระเบิดมีประสิทธิภาพสูงสุดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเวลาการทำเหมือง และสื่อสารให้กับชุมชนโดยรอบได้รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งส่งพนักงานเข้าไปสังเกตการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นบริเวณชุมชนรอบเหมืองทุกครั้ง
  3. การบดย่อย (Crushing) ใช้เทคโนโลยีป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยได้ออกแบบกระบวนการบดย่อยเป็นระบบปิดทั้งหมด ทั้งปากอ่าง เครื่องย่อย ระบบลำเลียง จุดเปลี่ยนผ่าน และที่กองเก็บ อีกทั้ง ยังมีระบบสเปรย์น้ำและระบบกรองฝุ่น (Bag Filter) เพื่อดักจับฝุ่นไม่ให้ฟุ้งกระจายสู่ภายนอก
  4. การขนส่ง (Hauling) ได้ออกแบบผิวถนนบนเหมืองให้เกิดฝุ่นน้อยที่สุด และติดตั้งระบบสเปรย์น้ำอัตโนมัติ และรถบรรทุกน้ำเพื่อฉีดพรมเส้นทางขนส่ง และควบคุมความเร็วของรถทุกชนิดให้มีความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตร / ชั่วโมง

นอกจากนี้ การใช้น้ำในเหมือง ใช้จากแหล่งกักเก็บน้ำฝนในโรงงาน จึงไม่มีการดึงน้ำจากแหล่งทรัพยากรน้ำภายนอกโรงงานมาใช้ในกระบวนการทำเหมือง เช่น การรดถนน สเปรย์น้ำ และรดน้ำในแปลงฟื้นฟู อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำเหมืองยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้อีก เช่น หินปูนที่ใช้สำหรับผลิตปูนเม็ด หินปูนสำหรับผสมในการบดซีเมนต์ และหินปูนสำหรับผลิตหินก่อสร้าง

การฟื้นฟูเหมืองและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

เอสซีจีมุ่งมั่นจะเป็นต้นแบบที่ดีของการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และเปิดกว้างให้หน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำองค์ความรู้ไปปรับใช้เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้ดำเนินการดังนี้

  1. กำหนดกรอบแผนงานฟื้นฟูเหมือง ใช้หลักการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ด้วยหลักวนวัฒน์วิทยา การคัดเลือกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น หลักการพรรณไม้โครงสร้าง (Framework Species Method) ผสานกับเทคโนโลยีวิศวกรรมเหมืองแร่
  2. กำหนดแผนงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ
  • ระยะที่ 1 การสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Baseline Data) ที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดกรอบงาน
  • ระยะที่ 2 การศึกษาข้อมูลเชิงลึกของพันธุ์ไม้ท้องถิ่น เพื่อจัดทำรายละเอียดของแผนการดำเนินงานเพื่อจัดเตรียมกล้าไม้ท้องถิ่นสำหรับการฟื้นฟูเหมือง พร้อมกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญในการวัดผลสำเร็จของโครงการ
  • ระยะที่ 3 การศึกษาความสัมพันธ์ของสังคมพืชและสัตว์ เพื่อนำข้อมูลมาใช้กำหนดแผนงานฟื้นฟูเหมืองให้คืนสู่ระบบนิเวศป่าไม้อย่างครบวงจรห่วงโซ่อาหาร (Biodiversity Management Plan)

การจัดทำหนังสือการฟื้นฟูเหมืองหินปูน คณะทำงานฟื้นฟูเหมืองและความหลากหลายทางชีวภาพ เอสซีจี ได้ทำงานด้านการฟื้นฟูเหมืองมาอย่างยาวนาน โดยการศึกษาวิจัยและทดลองเทคนิควิธีการต่างๆ รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานด้านวิชาการหลายองค์กร เช่น WWF, คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) เพื่อฟื้นฟูเหมืองอย่างเป็นระบบ พร้อมกับฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านการฟื้นฟูเหมืองจัดทำเป็นหนังสือ “การฟื้นฟูเหมืองหินปูน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปองค์ความรู้ของงานฟื้นฟูเหมืองและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งปัจจัยของความสำเร็จและจุดเรียนรู้สำคัญ เพื่อเผยแพร่แก่หน่วยงานและผู้ที่สนใจ

Green Mining ในแบบ SCG ต้นแบบเหมืองยั่งยืน
Green Mining ในแบบ SCG ต้นแบบเหมืองยั่งยืน
(Visited 1,725 times, 1 visits today)