รู้จักหุ้น IPO ตัวใหม่ SCGP ผู้นำวงการบรรจุภัณฑ์อาเซียนที่เน้นเติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อพูดถึงบริษัท SCG หรือ ปูนซิเมนต์ไทย เชื่อว่าหลายคนจะมีภาพจำว่าเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว รายได้ของบริษัท SCG นั้นมาจากธุรกิจหลัก 3 กลุ่มธุรกิจด้วยกัน ได้แก่

  1. ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
  2. ธุรกิจเคมิคอลส์
  3. ธุรกิจแพคเกจจิ้ง

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“SCGP”) มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 23 ของ SCC โดยเมื่อดูแนวโน้มการเติบโตของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2562 จะเห็นว่ากลุ่มธุรกิจแพคเกจจิ้งมีแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจและรายได้ที่น่าสนใจ โดยที่ SCGP กำลังจะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนมาใช้ในการขยายกำลังการผลิต และเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ มุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน

รายได้จากการขายของ SCC แยกประเภทธุรกิจ

ทำความรู้จัก SCGP ว่าที่หุ้น IPO ตัวใหม่

SCGP หรือ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ประกอบด้วย 2 สายธุรกิจหลัก คือ

  1. สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร
  2. สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ

โดยรายได้จากการขายส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 84 จากสัดส่วนรายได้จากการขายทั้งหมด ส่วนอีกประมาณร้อยละ 16 ที่เหลือจะเป็นรายได้ที่มาจากธุรกิจเยื่อและกระดาษ และหากนับตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2562 รายได้จากการขายของ SCGP นั้นก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี จากการที่รายได้จากการขายในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate) จะเท่ากับ 8.50% ต่อปี โดยในครึ่งปีแรกของปี 2563 รายได้เติบโตร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

รายได้จากการขายของ SCGP แยกประเภทธุรกิจ

เจาะลึกแต่ละธุรกิจของ SCGP

1. ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร สามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่

  • บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ (PPP) เป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นในที่สัมผัสกับสินค้าอุปโภคบริโภคโดยตรง มีทั้งบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว และบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป โดยสัดส่วนรายได้จากกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมาจากผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว
  • บรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ ซึ่งจะมีทั้งบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกและบรรจุภัณฑ์กล่องพิมพ์สีเพื่อการแสดงสินค้า โดยสัดส่วนรายได้ของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมาจากบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก
  • กระดาษบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะมีทั้งกระดาษบรรจุภัณฑ์ และ ผลิตภัณฑ์กระดาษอื่น ๆ โดยสัดส่วนรายได้ของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมาจากกระดาษบรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ SCGP ยังให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในทั้งสามกลุ่ม ซึ่งจะมีศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร “อินสไปร์ สตูดิโอ (Inspired Studio)” คอยช่วยด้านการออกแบบ และการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย และหากดูสัดส่วนรายได้จากการขายของทั้งสามกลุ่ม ธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์จะมีสัดส่วนรายได้จากการขายมากที่สุด รองลงมาจะเป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ และสุดท้ายจะเป็นกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 สัดส่วนรายได้จากการขายของทั้งสามกลุ่มจะเท่ากับ 51%, 25% และ 8% ตามลำดับ

2. ธุรกิจเยื่อและกระดาษ ซึ่งสามารถแบ่งผลิตภัณฑ์ได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  • ภาชนะบรรจุอาหาร โดย SCGP จะมีแบรนด์ Fest ที่เป็นแบรนด์หลักที่นำเสนอภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ผลิตภัณฑ์เยื่อและกระดาษ ซึ่งจะมีทั้งกระดาษพิมพ์เขียน และเยื่อประเภทต่าง ๆ

โดยสายธุรกิจเยื่อและกระดาษนี้ จะมีสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากผลิตภัณฑ์เยื่อและกระดาษ นอกจากนี้ SCGP ยังได้เข้าไปลงทุนในบริษัทชั้นนำอื่น ๆ เพื่อเสริมจุดแข็งให้แก่ผลิตภัณฑ์ สร้างศักยภาพการเติบโต รวมถึงขยายตลาดไปยังทั่วทวีปเอเชีย โดยได้เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัท เช่น

  • เข้าซื้อหุ้นบริษัท Interpress Printers Sendirian Berhad (IPSB) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารในประเทศมาเลเซีย
  • เข้าซื้อหุ้นบริษัท Tin Thanh Packing Joint Stock (BATICO) ในประเทศเวียดนาม เพื่อการขยายเข้าสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวในประเทศเวียดนาม
  • เข้าซื้อหุ้นบริษัท Fajar Surya Wisesa Tbk. ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์อันดับต้น ๆ ของประเทศอินโดนีเซีย
  • เข้าซื้อหุ้นบริษัท Visy Packaging Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป

สำหรับกลุ่มลูกค้าของ SCGP นั้น ปัจจุบันมีฐานลูกค้าจำนวนมาก ตั้งแต่บริษัทชั้นนำระดับประเทศ บรรษัทข้ามชาติ ไปจนถึงผู้ค้าปลีกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งลูกค้าของ SCGP ส่วนใหญ่จะทำธุรกิจอยู่ในตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม อีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์

ทั้งนี้ รายได้จากการขายจะมาจากลูกค้าที่อยู่ในประเทศไทยเป็นหลัก โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 SCGP มีรายได้จากการขายให้แก่ลูกค้าที่มีที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 52 ส่วนอีกร้อยละ 48 ที่เหลือจะเป็นรายได้จากการขายที่มาจากลูกค้าที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย

รายได้จากการขายจำแนกตามประเทศ ครึ่งปีแรก 2563

ด้านฐานะทางการเงินของ SCGP

ในปี 2562 SCGP มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 139,513 ล้านบาท แบ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน 35,383 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 104,130 ล้านบาท ด้านหนี้สิน SCGP มีหนี้สินทั้งหมด 76,697 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน 54,014 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน 22,683 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 62,816 ล้านบาท ในขณะที่งวด Q2/ 2563 SCGP มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 144,360 ล้านบาท และในส่วนหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 78,947 ล้านบาท และ 65,414 ล้านบาท ตามลำดับ

งบแสดงฐานะทางการเงิน

ด้านอัตราส่วนทางการเงิน ในปี 2562 SCGP มีอัตราส่วนสภาพคล่อง 0.7 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 1.2 เท่า ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2562 อยู่ที่ 0.9 เท่า สำหรับไตรมาส 2 ของปีนี้ อัตราส่วนสภาพคล่องของ SCGP อยู่ที่ 0.6 เท่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 1.1 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 0.8 เท่า

อัตราส่วนทางการเงิน

ด้านผลการดำเนินงานของ SCGP

ในปี 2562 SCGP มีรายได้จากการขายรวม 89,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็น 2.1% ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากการขายในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรที่เพิ่มขึ้นมากกว่า จากทั้งปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและการรวมผลการดำเนินงานจากกิจการ Fajar และ Visy Packaging Thailand ที่ SCGP ได้เข้าไปควบรวม แม้รายได้จากการขายในกลุ่มธุรกิจเยื่อและกระดาษจะลดลงก็ตาม ขณะที่ครึ่งปีแรกของปีนี้ SCGP มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 45,903 ล้านบาท เติบโตกว่า 11% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรขั้นต้นสำหรับปี 2562 จะเท่ากับร้อยละ 19.6 แม้จะลดลงเล็กน้อยจากปี 2561 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 20.8 แต่หากดูตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2562 ก็จะเห็นว่า SCGP มีการรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็แสดงถึงความสามารถในการควบคุมต้นทุนที่ดี โดยในงวดครึ่งปีแรกของปี 2563 SCGP มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 22.5

รายได้จากการขายของ SCGP แยกประเภทธุรกิจ

ด้านกำไรสำหรับปี ในปี 2562 SCGP มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 5,269 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 13.1 ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กำไรสุทธิในปี 2562 ลดลง ก็เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมจาก SCC เพื่อเป็นเงินทุนในการควบรวมกิจการบริษัท Fajar Surya Wisesa Tbk. และการบันทึกการรวมเงินกู้ยืมของบริษัทต่าง ๆ ที่บริษัทควบรวมกิจการมา ส่วนช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ SCGP มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,636 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เปิดจุดเด่น และ ส่องศักยภาพการเติบโตในอนาคต

  1. SCGP มีรูปแบบธุรกิจแบบบูรณาการในแนวตั้งจากขั้นต้นจนถึงขั้นปลาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นต้น การผลิตบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการจัดส่งผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้า
  2. SCGP มีการขยายฐานการดำเนินงานในภูมิภาคอาเซียนด้วยกลยุทธ์การเติบโตผ่านการควบรวมกิจการ โดยมุ่งเน้นโอกาสที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงสุด และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับรูปแบบธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้
  3. SCGP มีฐานลูกค้าในหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นบรรษัทข้ามชาติและบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ SCGP สามารถกระจายความเสี่ยงไปยังหลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง
  4. SCGP ดำเนินธุรกิจอยู่ในตลาดที่มีการเติบโตด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์ จากเทรนด์การเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่ และอีคอมเมิร์ซในอาเซียน ซึ่งจะยิ่งช่วยกระตุ้นการใช้แพคเกจจิ้งเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์และไลฟ์สไตล์ของคนอาเซียน ที่มีทิศทางที่เอื้อให้ใช้แพคเกจจิ้งมากขึ้นอีกด้วย
  5. SCGP มีการมุ่งเน้นกระบวนการผลิตโดยยึดหลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” ซึ่งก็คือการใช้ทรัพยากร วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการนำกลับมาใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล ซึ่งก็สอดรับกับเทรนด์ที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มใส่ใจในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของสังคมมากขึ้น
กำไรสุทธิ

รายละเอียดการ IPO เข้าสู่ตลาดหุ้น

สำหรับเป้าหมายหลักในการเข้าระดมทุนผ่านตลาดหุ้นในครั้งนี้ ก็เพื่อต่อยอดธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการขยายกำลังการผลิตของ SCGP ให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าทั้งห่วงโซอุปทาน และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายโอกาสการเติบโตอย่างมั่นคง รวมทั้งเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ โดย SCGP จะทำการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,127.6 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 26.5 ของทุนชำระแล้ว และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น โดยที่หลังขายหุ้น IPO ไปแล้ว SCC ก็ยังจะคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SCGP

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของการเสนอขายครั้งนี้ได้จากร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่นี่

https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=282407

(Visited 14,561 times, 1 visits today)