กบหม้อต้ม เสื้อหนาวที่ไม่ได้ใส่ และเป้าหมายความยั่งยืน ของ ‘รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส’ เบอร์ 1 SCG

การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และความหมายของการดำรงอยู่ในโลกธุรกิจของ SCG คืออะไร? เข้าใจเรื่องนี้ไปด้วยกันจากบทสัมภาษณ์พิเศษนี้

ไม่มีใครปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรธุรกิจ SCG หรือ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมไทยมากว่าศตวรรษ ด้วยขนาดสินทรัพย์ที่มีกว่า 8.6 แสนล้านบาท สร้างรายได้สูงถึง 5.4 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ ปี 2564) องค์กรที่เราเรียกกันติดว่า ‘ปูนใหญ่’ นี้ เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวไปข้างหน้าสอดคล้องไปกับมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เรานั่งคุยกับ ‘รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ SCG ในมุมสบายๆ ใต้ร่มไม้ใหญ่ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องหมุดหมายสำคัญในปี 2573 ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง ไปพร้อมกับความต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% จากปัจจุบัน สู่ปลายทางที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมากโดยเฉพาะกับองค์กรด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ยอมรับว่า SCG เองถือเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญที่เป็นต้นตอของก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของไทยก็เหมือน ‘กบไร้เดียงสาในหม้อต้มน้ำที่ใกล้แตะจุดเดือด’ มากขึ้นทุกทีแล้ว

อากาศทุกวันนี้กับอากาศตอนที่คุณรุ่งโรจน์เรียนจบมาใหม่ๆ ต่างกันเยอะหรือไม่?

ต่างกันเยอะนะ สมัยยังเด็ก พอช่วงวันลอยกระทงประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน จะรู้สึกเย็น เริ่มได้ลมหนาว มาเดือนธันวาคม ผมใส่เสื้อกันหนาวไปโรงเรียนแล้วนะ แต่ทุกวันนี้ผมไม่ได้ใส่เสื้อกันหนาวมา 10-20 ปีแล้ว คุณสังเกตไหมว่า บ้านเราไม่มีอากาศเย็น มีแต่ร้อนกับร้อน และมีแต่จะร้อนขึ้นและร้อนเร็ว อากาศเย็นหายไปแล้ว มีบางช่วงผมทำงานที่โรงงาน เปิดแอร์อุณหภูมิ 24-25 องศาเซลเซียส มันก็อยู่ได้แล้ว แต่ถ้าคนที่ชินกับห้องแอร์เหมือนอย่างลูกผมนะ เขาเปิดแอร์เย็นมาก ไม่รู้ว่าอยู่กันได้ยังไง

‘รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ SCG

ทุกวันนี้ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ’ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของโลก สำหรับ SCG เอง ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร?

กระทบมาก และเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเกิดขึ้นด้วย

ก็ยอมรับตรงๆ?

ใช่ เราผลิตซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง ซึ่งก็เอาทรัพยากรทางธรรมชาติมาใช้ เราทำเคมีภัณฑ์ก็เป็นไฮโดรคาร์บอนจากพลังงาน เราใช้พลังงานเยอะ อย่างซีเมนต์นี่ใช้พลังงานเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราเป็นตัวละครใหญ่ตัวหนึ่งเลยล่ะ มีคนทำตัวเลขมาบอกว่าก๊าซเรือนกระจกที่รวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนของไทยมีประมาณ 360 ล้านตัน เป็นของที่ SCG ปล่อยถึง 20-25 ล้านตัน คิดเป็น 7-8% ของทั้งหมด ยังไงเราก็ต้องเข้าไปมีส่วนแก้ปัญหาตรงนี้ให้มาก หรืออย่างน้อยก็ต้องเท่ากันหรือมากกว่าที่เราปล่อยออกไปให้ได้

SCG เราเป็นสมาชิกของ World Business Council for Sustainable Development เป็นองค์กรที่มีสมาชิกกว่าสองร้อยบริษัท ทำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง ปีที่แล้วเขาเปลี่ยนคำเป็น Climate Emergency (ความเร่งด่วนด้านสภาพภูมิอากาศ) คือไม่แก้ไขไม่ได้แล้วนะ มันเร่งด่วนแล้ว นอกจากนี้เรายังจะเจอกับธรรมชาติที่เสื่อมโทรม แหล่งน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพจะหายไป ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่เร่งให้ความเหลื่อมล้ำของรายได้รุนแรงขึ้นไปอีก

เวลาพูดเรื่องความยั่งยืน SCG จะเป็นชื่อแรกๆ ที่ถูกยกตัวอย่างถึงเสมอ คำว่ายั่งยืนในมุมของคุณรุ่งโรจน์คืออะไร?

ผมอยากจะพูดให้เห็น 2 ประเด็น ประเด็นหนึ่งคือ พื้นฐานของ SCG คือการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ธุรกิจแรกของเราเลยคือปูน จากนั้นก็เป็นวัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ กระดาษ และปิโตรเคมี ของพวกนี้มีส่วนช่วยให้บ้านเรามีการพัฒนา สร้างบ้าน สร้างถนน มีกล่องให้ใช้ขนส่งง่าย ปิโตรเคมีก็เอาไปทำได้ทุกอย่างทั้งเสื้อผ้า ขวดพลาสติก ท่อน้ำ ไปจนถึงส่วนประกอบรถยนต์ ช่วยให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แต่ขณะเดียวกัน โลกเราพัฒนาแบบนี้มา โดยไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่จะตามมา จากการที่เราเอาทรัพยากรมาใช้อย่างไม่ระมัดระวัง เวลาวัดผลประกอบการธุรกิจเราก็จะนึกถึงยอดขาย กำไร เงินปันผล แต่เราไม่เคยพูดว่า ธุรกิจนี้ทำให้ทรัพยากรหายไปอย่างไร ถ้าพูดจากมุมมองของสิ่งแวดล้อม ต้นทุนที่สำคัญคือ ต้นทุนพลังงาน เพราะเราเอามาใช้แล้วมันปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เราลืมมองอีกด้านของปัญหาไป แน่นอนการทำธุรกิจมีประโยชน์ของมันแต่ก็มีข้อเสียด้วย

อย่างที่ 2 ถ้าบอกว่าธุรกิจปูนของ SCG ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7-8% ของประเทศ สมมติบอกว่าให้รวมบริษัทแบบเดียวกันนี้อีก 2 ที่ แล้วให้กลุ่มนี้เลิกกิจการไปเลย บ้านเราก็จะลดก๊าซเรือนกระจกไปได้ถึง 20% เลยนะ ก็ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ แต่ถามว่าตอนนั้นจะเอาปูนจากไหนมาใช้  เราอาจจะบอกว่าเรานำเข้ามาก็ได้ จะปูนหรือปิโตรเคมีก็นำเข้าได้ ปูนมีทั้งโลก หายไปแค่ของเราประเทศเดียวคงไม่เป็นไร แต่ถามว่าท้ายที่สุดมันลดก๊าซเรือนกระจกของโลกลงหรือเปล่า ไม่ลดนะ เพราะมันก็ถูกผลิตที่อื่นเพิ่มขึ้น

‘รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ SCG

ถ้าอย่างนั้นแล้ว กลไกเรื่องการจัดการคาร์บอนจะต้องทำอย่างไร? การชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เป็นทางออกที่ช่วยได้หรือไม่?

ไม่พอครับ ถึงเราจะชดเชยเป็นกิจกรรมอย่างปลูกป่ามากขึ้น แต่มันไม่ใช่การแก้ปัญหา มันเป็นแค่ตัวประกอบ เราพูดว่าภายในปี 2573 เราจะเข้าสู่เป็นความเป็นกลางทางคาร์บอน และภายในปี 2593 เราจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวแค่กับตัวเรา แต่เกี่ยวกับคนที่ทำมาค้าขายกับเราด้วย ถ้ามองในแง่การค้าระหว่างประเทศ อย่าง SCG จะไปซื้อวัตถุดิบน้ำมันจากต่างประเทศ ผมก็ต้องไปขอให้ประเทศที่มาขายให้เขาลดคาร์บอนด้วยนะ

เรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นกลไกหนึ่งที่ส่งเสริมให้คนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น แต่ไม่ได้เป็นคำตอบทั้งหมด มันจะต้องมีหลายๆ อย่างประกอบกัน อย่างง่ายที่สุดที่ทำได้ คือใช้ให้น้อยลงก่อน ของที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ก็อย่าพึ่งใช้ ถ้าเราบริหารการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงนี้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 20% โดยไม่ได้ทำให้ชีวิตเราลำบากขึ้นด้วยซ้ำ

เป้าหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ SCG เป็นอย่างไร?

เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราไม่ได้คิดถึงมันจนเมื่อบ้านเราน้ำท่วมนั่นล่ะ เรื่องนี้ทุกคนมีส่วนร่วม หรือเรื่องความเร่งด่วนด้านสภาพภูมิอากาศ  ในส่วนของ SCG เราตั้งเป้าที่ปี 2573 เราจะจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% จากปีฐานคือ 2563 ถ้าหารง่ายๆ คือต้องลดลงปีละ 2% โดยเราประกาศพร้อมกันกับต่างประเทศ ที่งาน World Business Council จนมีข้อตกลงออกมาสู่เป้าหมายระยะยาว ตอนนี้ผมอายุ 60 กว่าปีแล้วอีก 20 ปีข้างหน้า ผมก็คงอายุ 80 กว่าไปแล้ว ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะจำอะไรได้หรือเปล่า (หัวเราะ)

อีกเรื่องคือองค์กรของเราตั้งบนพื้นฐาน ที่ว่าเราต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ หมายถึง เราต้องมีส่วนเข้าไปช่วยเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถ้าทำแล้วไม่ยั่งยืนก็ต้องไปหาวิธีที่ทำให้ยั่งยืนให้ได้ เราต้องทำมากกว่าการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ แต่ต้องเข้าไปมีบทบทบาทในการช่วยเหลือสังคม เราเป็นพลเมืองโลก ธุรกิจโลก ถ้าเราไม่ทำก็คงไม่มีใครมาทำ มันเป็นจุดประสงค์ของบริษัทตั้งแต่ก่อตั้ง มาเลยว่าต้องทำเรื่องพวกนี้ SCG ไม่ทำนี่ถือว่าผิดนะ

SCG จะไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างไร?

เราแบ่งเป็น 4 ส่วน เรียกว่า ESG Pathway ครอบคลุมทั้งหมดไม่ใช่แค่เรื่องโลกร้อนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย

อันแรกเป็นเรื่องปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ก็วัดกันที่ตัวก๊าซเรือนกระจกเลย พอเวลาทำจริงๆ มันมีขั้นตอนหมด ต้องใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น อย่างเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ในภาคส่วนการผลิต เรามีแผนการลดการใช้ถ่านหินลงและทด ลองทางเลือกใหม่ๆ อย่างพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานจากชีวมวลที่เกิดจากของเสียภาคการเกษตรหรืออาหาร

อีกปัญหาที่เราเจอในอดีตของภาคการผลิตคือ เราทำไกลจากโรงงานได้ไม่เกิน 50-100 กิโลเมตรเท่านั้น เพราะมีต้นทุนค่าขนส่งซึ่งก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหมือนกัน แต่ตอนนี้เราค้นพบวิธีบดอัดหรือทำให้เป็นส่วนผสมเข้มข้นที่เบาลง เพื่อสามารถขนได้ไกลขึ้น ใช้ได้มากขึ้น อย่างปัจจุบันเราใช้เชื้อเพลิงชีวมวล 30% ของการผลิตปูนซีเมนต์ และเราตั้งเป้าว่าสิ้นปี 2565 นี้ จะขยายเป็น 50% ทั้งปีเฉลี่ยการใช้งานให้ได้ 40% ทำให้เราเชื่อว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ในปี 2573 ได้

เรื่องที่ 2 คือ Go Green กับทั้งสินค้าและบริการ อย่างการก่อสร้างโดยปกติจะมีของเสีย 20-30% ทุกอย่างเผื่อก่อน พอจบงานก็เหลือทิ้งหมด เพราะขนกลับไปก็มีต้นทุน เราจึงใช้การวางแผนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล คำนวณปริมาณวัสดุและรูปแบบที่ต้องใช้แบบเสมือนจริง หรือธุรกิจเคมีภัณฑ์ จากปกติที่ใช้เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ 100% เราก็คิดค้นเทคโนโลยีที่เพิ่มสารผสมไปได้ ทำให้เอาของเสียมาใช้ได้มากขึ้นก็จะช่วยลดการใช้ของที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมลงมาได้

เรื่องที่ 3 เป็นการลดความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับสังคมค่อนข้างมาก อย่างยุคโควิด-19 จะเห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบนั้นต่างกัน อย่างคนหาเช้ากินค่ำนี่ลำบากกว่ามาก ที่เรามองคือการให้อาชีพ ทุกปีเรามีการอบรมให้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก ผ่านแพลตฟอร์มเกี่ยวกับช่าง ผู้รับเหมา เพื่อให้ลูกค้าก็สามารถมาใช้บริการหรือเรียกซ่อมบ้านได้ ผมว่าเรื่องนี้เป็นเทรนด์ที่อยู่ยาวแน่ๆ แนวโน้มการมีบ้านใหม่น้อยลง คนก็ต้องซ่อม คนทำงานไม่มีเวลาจะมาซ่อมบ้านเองก็ต้องการตรงนี้มากขึ้น

เรื่องที่ 4 คือความร่วมมือกับคนอื่น เมื่อ 3-4 ปีก่อน เราจัดงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หลังจบงานก็ประชุมกับกลุ่มบริษัททั้งหลาย แล้วสร้างเป็นชมรมขึ้นมาเพื่อคุยกันว่าจะทำอะไรที่เป็นรูปธรรมต่อจากนี้ได้ เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ก่อน ตัวอย่างคือขยะที่เกิดขึ้นจากการทำเสาเข็ม ปกติเสาเข็ม 20 เมตร เราก็ทำเผื่อมา 30 เมตร ส่วนที่ตัดไปเราก็เอาไปรีไซเคิลได้

จากนั้น ก็ขยายต่อไปกับคนที่เขาสร้างอาคารว่า มาทำเรื่องการจัดเก็บของเสียในอาคารสำนักงานกันดีไหม ตั้งแต่การแยกขยะ ที่ SCG เราแยกเป็น 6 ถังด้วยซ้ำ แม้กระทั่งขวดพลาสติกยังต้องแยกระหว่างตัวขวด ฝา และฉลากออกจากกัน เพราะขยะที่คัดแยกแล้วคือขยะที่มีค่ามากที่สุด พอบอกว่าเราทำเรื่องนี้นะ หลายบริษัทก็อยากทำด้วย ตอนนี้ก็คุยกันเรื่องการสร้างมาตรฐานใหม่ การให้ความรู้กับคนเรื่องสินค้าหรือการก่อสร้างสีเขียว นี่เป็นความร่วมมือที่ทำให้สังคมดีขึ้นได้

โจทย์ที่ใหญ่เรื่องหนึ่งคือการลดขยะพลาสติก เราจะแบ่งปันข้อมูลกัน เพราะเรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ถ้าร่วมมือกันได้จะช่วยกันได้มากขึ้น เราแชร์เทคโนโลยีกันฟรี เพื่อให้สามารถทำงานด้วยกันได้ เพราะเรารู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าเหมือนกับกบในหม้อต้ม จะรอให้ร้อนก่อนก็คงตายกันหมดพอดี

 ‘รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG

ตอนนี้หม้อต้มของประเทศไทย น้ำใกล้เดือดแล้ว?

ถูกต้อง ผมบอกแบบนี้ เมืองไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงติดอันดับ 20 ของโลกเพราะเราเป็นประเทศส่งออก ผลิตเยอะ แต่เรากลับเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบติด 1 ใน 10 ของโลกเลย คือแย่กว่าอีก มันแสดงให้เห็นว่าถึงเราลดการปล่อยคาณ์บอนเป็น 0% หมด เราก็ยังได้รับผลกระทบอยู่ดี

SCG ทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกจำนวนมาก แล้วโครงการไหนที่คุณรุ่งโรจน์เห็นแล้วรู้สึกภูมิใจมากที่สุด?

มี 2-3 อย่างที่ผมไปมีส่วนร่วม อย่างโครงการรักษ์น้ำที่เราทำฝายตอนนี้มีแสนกว่าจุดแล้ว ทำให้คนเห็นความสำคัญของเรื่องน้ำ ไม่ใช่การกักเก็บน้ำอย่างเดียว ทำให้ SCG เองได้เห็นว่าการทำงานร่วมกับภาคสังคมเป็นอย่างไร เราช่วยเหลือสังคมได้มากกว่าที่เราคิด อย่างโครงการที่ลำปาง เดิมปัญหาคือเขาจะเผาของเสียจากภาคการเกษตรกัน คนสูงอายุในพื้นที่เล่าว่า สมัยเขาทำนาทำไร่ ปีหนึ่งทำได้ 8-9 เดือน แย่ที่สุดทำได้ 3-4 เดือน ในสภาพดินที่ขาดความชุ่มชื้น พอเราไปทำโครงการฝายชะลอน้ำ ชีวิตของเขาก็ดีขึ้นเพราะเราช่วยทำน้ำหมุนเวียน เก็บน้ำไว้ชั้นบนของภูเขาและปลูกพืชไล่ลงมา พอปล่อยน้ำก็ทำให้ดินชุ่มชื้นขึ้น ปลูกต้นไม้ได้อีก นอกจากนี้เราก็ติดตั้งโซลาร์เซลส์สำหรับปั๊มน้ำจากจุดล่างสุดขึ้นข้างบน ก็ไม่ต้องจ่ายค่าไฟ เราไปลงทุนให้ เขาบอกว่าตอนนี้เหนื่อยแล้วครับ มี 12 เดือน ว่างแค่เดือนเดียว เพราะมีน้ำใช้ตลอด จากเดิมเป็นหนี้ ตอนนี้เริ่มมีเงินฝาก

ผมว่าเราทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิดเสมอ สิ่งที่สำคัญคือการเริ่มต้นนี่ล่ะ

สิ่งที่ท้าทายต่อการผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำในภาคธุรกิจคืออะไร?

ผมคิดว่าเรื่องที่ยากที่สุดคือการที่หาแนวร่วม เราต้องมาคุยกันให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะเห็นบางเรื่องไม่ตรงกันซึ่งมันต้องใช้เวลา หลายเรื่องเราต้องหาจุดสมดุลกัน ต้องคำนึงเรื่องความไม่แน่นอนของเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องด้วย ยังมีเรื่องเวลา เรื่องการยอมรับของตัวลูกค้าด้วย อย่างผมทำปูนคาร์บอนต่ำไป ธุรกิจมันอยู่ไม่ได้หรอกถ้าไม่มีคนมาซื้อ ฉะนั้นลูกค้าต้องร่วมมือตรงนี้ด้วยคือการที่หาจุดร่วมที่เป็นองค์ความรู้ ความเห็นร่วมกันที่ไม่จำเป็นต้องตรงกันนะ เพื่อให้เห็นทิศทางที่สำคัญและทำร่วมกัน ทุกวันนี้ผมเองให้เวลากับเรื่องนี้ครึ่งหนึ่งของการทำงานทั้งหมดไปแล้ว

ธุรกิจของ SCG ผ่านมา 100 ปีแล้ว คุณรุ่งโรจน์อยากเห็น SCG อีก 100 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?

ผมก็ไม่รู้อนาคตนะ (หัวเราะ) แต่ผมหวังว่าเรื่องพื้นฐาน เป้าหมายขององค์กรจะยังคงเรื่องนี้อยู่ สาเหตุที่เราได้คนที่ดีๆ มีความรู้ความสามารถมาเพราะผมเชื่อว่าน้องๆที่เข้ามา เขาไม่ได้อยากทำงานที่ที่ดีหรือเติบโตดีอย่างเดียว แต่อยากทำงานที่สามารถยืดอกได้ว่าทำงานให้กับองค์กรที่มีส่วนร่วมมทำให้สังคมดีขึ้น อยากให้ DNA อันนี้คงอยู่ตลอดไป ถึงตอนนั้นจะไปทำอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว

 ‘รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG

เรื่อง มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
ที่มา National Geographic Thailand

Published on: Apr 22, 2022

(Visited 283 times, 1 visits today)