เอสซีจี โชว์ศักยภาพ R&D ตอบโจทย์ตลาดโลก

การบำรุงรักษาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ

ระยอง (8 มีนาคม 2561): กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ในเอสซีจี ทุ่มงบกว่า 3,600 ล้านบาท ผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ รวมถึงโซลูชั่นใหม่ ๆ ล่าสุด จัดทัพนวัตกรรมพลาสติก และ Non-Petrochemicals สู่ตลาดโลก เชื่อมั่นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้า และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างยั่งยืน

นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า “กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ มุ่งสร้างความแตกต่างด้านสินค้าและบริการ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร ด้วยกระบวนการค้นหาความต้องการเชิงลึกของลูกค้าและผู้บริโภค เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างแท้จริง

ทีมผู้บริหารกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ในเอสซีจี

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ได้นำการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA (High Value Added Products and Services) โดยการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง และการร่วมมือกับลูกค้าในเชิงลึกเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ ยังได้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ (Eco-Innovation) ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับสถาบันชั้นนำระดับโลก”

ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์

นายชลณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปี 2018 นี้ กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ตั้งงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนากว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก โดยเรามีการวิจัยและพัฒนาที่หลากหลายทั้งนวัตกรรมพลาสติก และ Non-Petrochemicals เช่น การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ หรือ Floating Solar Farm ในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร เป็นรายแรกของประเทศไทย โดยเล็งเห็นว่าพื้นที่ผิวน้ำในประเทศไทยมีประมาณ 14,600 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 3 ของพื้นที่ประเทศ หากนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลูกค้าก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งโซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำให้ประสิทธิภาพสูงกว่าการติดตั้งบนพื้นดิน และบนหลังคา เนื่องจากอาศัยธรรมชาติของน้ำในการระบายความร้อน (cooling effect)”

การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยการนำเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษมาออกแบบและพัฒนาเป็นทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์ ซึ่งติดตั้งง่าย รวดเร็ว และ ประหยัดพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ ทุ่นลอยน้ำยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 25 ปี ใกล้เคียงกับอายุการใช้งานของแผงโซลาร์

โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ
โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ

“เราพัฒนาตัวทุ่นให้ตอบโจทย์สภาพการใช้งานบนผิวน้ำที่หลากหลาย และต่อยอดไปสู่ธุรกิจโซลูชั่นแบบครบวงจรเป็นรายแรกในประเทศไทย โดยสามารถให้บริการตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิตทุ่น การติดตั้งและระบบยึดโยงตัวทุ่น ไปจนถึงการดูแลรักษา ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรน้ำจากการระเหย และช่วยเพิ่มพื้นที่ผลิตพลังงานทดแทนให้กับประเทศอีกด้วย” นายชลณัฐ กล่าว

สำหรับการบำรุงรักษานั้น เราได้เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับความปลอดภัยในการทำงานโดยใช้ “โดรน” (Drone) บินสำรวจและตรวจสอบค่าความร้อนโดยสามารถบันทึกภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์ได้ นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ดำน้ำ (Underwater Visualizer Robot) เพื่อตรวจสอบทุ่นและโครงสร้างที่อยู่ใต้น้ำ

การบำรุงรักษาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ

นอกเหนือจากนวัตกรรมเพื่อพลังงานทดแทนแล้ว เรายังมีนวัตกรรมสารเคลือบเตาเผาอุตสาหกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานสำหรับโรงงาน ภายใต้ชื่อ “อิมิสโปร” (emisspro®) ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้ซึ่งเป็นโรงงานปิโตรเคมีและโรงกลั่นชั้นนำในเอเชีย ล่าสุด ได้เปิดตัวสินค้า “อิมิสโปร       ไฮเท็ม” (emisspro HT®) สำหรับการใช้งานในเตาเผาอุตสาหกรรมที่ใช้อุณหภูมิสูงเกินกว่า 1,200 องศาเซลเซียส เช่น โรงงานผลิตเหล็ก เป็นต้น โดยสามารถลดการใช้พลังงานได้กว่าร้อยละ 2-6

ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ มีทีมงานวิจัยประมาณ 630 คน ในจำนวนนี้เป็นนักวิจัยระดับ Ph.D. คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม หรือ ASTEC (Advanced Science and Technology Center) ที่ทันสมัยเทียบเท่าระดับสากล โดยในปี 2017 กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ มีสิทธิบัตรเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 83 ซึ่งเป็นการจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ

  1. เพ็ญศศิธร จำปาพันธุ์ (นุ่น) 

บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด โทร. 081-4141-158 

อีเมล phensasc@scg.com

  1. เพ็ญพิสุทธิ์ รอดประเสริฐ (มิน) 

บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด โทร. 094-792-9977 

อีเมล penpisur@scg.com 

(Visited 633 times, 1 visits today)