ภายหลังจากการตั้งการ์ดป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศเกือบ 3 เดือนอย่างเข้มข้น ด้วยการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน หรือ ล็อกดาวน์ ตลอดจนความร่วมมืออย่างดีของประชาชน ทำให้ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจหลายแห่งยังมีความตึงเครียดและพบผู้ติดเชื้อบ้างเป็นระยะ รัฐบาลจึงเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 4 โดยประชาชนสามารถทำกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตตามวิถีใหม่ (New Normal) ได้
การบริหารจัดการกับวิกฤต COVID-19 ได้อย่างดี ส่งผลทำให้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมใน “ระบบสาธารณสุข” โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เปิดเผยถึงคำชมจากนานาชาติ อาทิ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มองไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีดัชนีความมั่นคงด้านสาธารณสุขของโลก ด้าน เจเรมี ฮันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ ชื่นชมการจัดการและการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินของไทย รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ชื่นชมระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
แม้ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยารักษามากำราบเชื้อ COVID-19 ได้อย่างถาวร แต่ก็ถือว่าการระบาดรอบแรก “ไทยชนะ” และก้าวผ่านสถานการณ์ครั้งนี้มาได้อย่างงดงาม ซึ่งนอกจากประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐตั้งแต่การ “อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ” และการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัดแล้ว ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอีกหนึ่งกลุ่มคือ “บุคลากรทางการแพทย์” กองทัพแนวหน้า ที่รับหน้าที่ดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วย จนทำให้สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างต่อเนื่อง
ทว่า เบื้องหลังความสำเร็จส่วนหนึ่งก็มาจากความร่วมมือของ “กองทัพแนวหลังจิตอาสา” ทั้งภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน ที่ร่วมกันสร้างเกราะอาวุธ คิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ และเร่งกระจายนวัตกรรมป้องกัน COVID-19 ไปช่วยเหลือโรงพยาบาล (รพ.) ที่มีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก รวมถึง รพ. ในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนให้ได้อย่างทันท่วงที
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยประชาชน พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ” ป้องกันโควิด-19 ให้ รพ. 20 แห่งทั่วประเทศไทย
ด้วยทรงห่วยใยพสกนิกรในทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับเชื้อร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” พัฒนาโดยเอสซีจี ซึ่งเป็นหนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” เพื่อรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้ รพ. ต่าง ๆ 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเสริมความพร้อมหากมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซ้ำในอนาคต ยังความปลื้มปีติและเป็นพลังใจให้แพทย์-คนไทย สู้ภัยวิกฤติโควิด-19 ประชาชนทุกหมู่เหล่า ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า “รพ.สมเด็จพระยุพราชรองรับผู้ป่วยที่มีอาการโควิด-19 ในจังหวัดและอรัญประเทศ ทำเลและที่ตั้งของ รพ. อยู่ในเขตชายแดน จึงเป็นชัยภูมิที่ต้องรองรับผู้เข้า-ออกภายในประเทศค่อนข้างมาก มีแรงงานทั้งไทยและกัมพูชามาใช้บริการ ห้องตรวจหาเชื้อที่ได้รับพระราชทานจึงช่วยเพิ่มศักยภาพ และความรวดเร็วในการปฏิบัติการค้นหาเชื้อและเฝ้าระวังได้ดียิ่งขึ้น”
ด้าน รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ รองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “รพ.ได้เตรียมการรองรับเเละให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จาก 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักที่ส่งต่อมาจาก 3 จังหวัดชายเเดนใต้ ทั้ง จ.นราธิวาส ปัตตานี เเละยะลา โดยได้ให้การรักษาอย่างเต็มความสามารถจนทำให้ผู้ป่วยทุกรายรอดชีวิต ที่ผ่านมา รพ. ได้เตรียมความพร้อมด้วยการให้ความรู้เรื่องโรคติดเชื้อ จัดเตรียมอุปกรณ์ สถานที่การทำงาน เเละซ้อมเเผนเพื่อให้บุคลากรมีความมั่นใจ เป็นสปิริตของทีมงานที่เสียสละเพื่อให้พร้อมต่อการดูเเลประชาชน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ ที่ รพ. ได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อมารักษาคนไข้”
เช่นเดียวกับ นายแพทย์สุชาติ พรเจริญพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก กล่าวว่า รพ. พุทธชินราช พิษณุโลก เป็น รพ. ศูนย์ของเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ที่ดูแลสุขภาพของประชาชนกว่า 3.5 ล้านคน รวมทั้งผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย หาก รพ. ใกล้เคียงไม่สามารถรักษาได้ก็จะถูกส่งตัวผู้ป่วยมายัง รพ. นี้ การได้รับพระราชทานเครื่องตรวจหาเชื้อจึงถือเป็นคุณูปราการอย่างสูงกับประชาชนในพื้นที่ให้ได้คลายกังวลความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
“ชาวจังหวัดพิษณุโลก เมื่อทราบข่าวที่ทั้งสองพระองค์ได้พระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ รวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์อื่น ๆ ต่างรู้สึกปลาบปลื้ม และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ และจะนำเครื่องมือแพทย์พระราชทานไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพของประชาชน”
พระเมตตาของทั้งสองพระองค์ ช่วยขจัดและปัดเป่าความทุกข์ยากของราษฎร ในยามที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้าย
โรคระบาดโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนต่างรู้สึกกังวล เพราะมีความไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน ในช่วงแรก การตรวจรักษาประชาชนจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก
นาวาตรีหญิง นฤมล ไข่เกษ หัวหน้าแผนกป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เล่าถึงช่วงคับขันก่อนได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อว่า “ในช่วงแรก แพทย์-พยาบาลจะสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันร่างกายระดับสูงเข้าไปตรวจหาเชื้อที่ห้องความดันลบที่ห้องฉุกเฉิน แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก จึงได้เปลี่ยนมาใช้ห้องแยกโรคของหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิงพิเศษ ซึ่งไม่ใช่ห้องแยกความดันลบ ทำให้ต้องใส่ชุดป้องกันระดับสูงเช่นเดิม สิ้นเปลืองชุดป้องกัน ซึ่งในช่วงนั้นการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันค่อนข้างยาก เราจึงต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ”
ในขณะที่ ดร.สมพร เจษฏาญานเมธา รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ที่รู้สึกกังวลเรื่องการแพร่เชื้อระหว่างผู้ป่วย เปิดเผยว่า “ที่โรงพยาบาลฯ ใช้มุมเล็ก ๆ เป็นพื้นที่ทำการตรวจหาเชื้อ จะมีคนมานั่งคอยเป็นจำนวนมาก เป็นห่วงว่าจะมีการปะปนกันระหว่างคนไข้ทั่วไป และคนไข้ติดเชื้อ”
ด้าน นาวาอากาศโท สุรินท์นาท เจริญจิตต์ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เสริมว่า “แม้จะมีกล่องป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโควิด-19 แต่การตรวจก็ยังทุลักทุเล แพทย์ยังมีความเสี่ยง ห้องตรวจหาเชื้อพระราชทานช่วยอำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ให้แพทย์ตรวจได้อย่างปลอดภัย คือ ไม่ต้องใส่ชุดป้องกัน PPE ที่ทั้งหนาและร้อน ในขณะที่ต้องยืนตรวจกลางแดด ท่ามกลางอากาศอบอ้าว อีกทั้งยังสามารถรองรับการตรวจได้ครั้งละมาก ๆ เพราะสามารถตรวจได้อย่างรวดเร็ว”
คลายกังวลหมอ-พยาบาล ด้วยนวัตกรรม “ห้องตรวจหาเชื้อ” พัฒนาโดยเอสซีจี ช่วยปลุกขวัญและกำลังใจนักรบชุดขาว
ด้วยเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution ของเอสซีจี ที่นำมาใช้พัฒนา “ห้องตรวจหาเชื้อ” ทำให้มีระบบที่ช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย และป้องกันอากาศรั่วไหล ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร จึงสร้างความมั่นใจให้กับแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้มากขึ้น โดยทีมแพทย์จะอยู่ในห้องที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องที่ป้องกันไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก พร้อมใช้แสงยูวีเข้มข้นสูงฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) หลังการใช้งานห้องทุกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจอีกระดับ
แพทย์หญิงเปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรมสาขาอายุรกรรม สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ยอมรับว่า การดูแลรักษาคนไข้โควิด-19 ถือเป็นความเครียดของบุคลากรในระดับหนึ่ง เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่แม้แต่แพทย์ยังไม่รู้จักเชื้อโรคนี้ดีพอ
“ห้องตรวจหาเชื้อพระราชทาน ทำให้เราลดความกังวล ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไปได้มาก เพราะห้องนี้มีการปรับระดับความดันที่แตกต่าง คนไข้ก็มั่นใจ และได้รับประโยชน์อย่างมาก”
ด้าน นางฉวีวรรณ ธาญกล้า พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก กล่าวว่า “คนไข้ที่นั่งรอในบริเวณนี้ ต่างก็เฝ้ารอดูการติดตั้ง ทำให้เห็นการทำงานที่รวดเร็วมาก ทั้งการยกตู้และประกอบเป็นห้องก็สามารถใช้ได้เลย ไม่น่าเชื่อว่าห้องตรวจหาเชื้อจะเสร็จภายใน 2-3 วันและใช้งานได้จริง ๆ เหมือนเนรมิตมา ลอยมา และลงมาตั้งที่นี่”
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ” เป็นป้อมปราการสู้เชื้อโควิด–19 พร้อมรับมือการระบาดซ้ำ วงการแพทย์พลิกมิติการรักษา พร้อมปรับห้องตรวจหาเชื้อเป็นห้องตรวจโรคติดเชื้ออื่นๆ
ห้องตรวจเชื้อพระราชทานไม่เพียงช่วยคลายปัญหาในช่วงวิกฤต แต่ยังเป็นอาวุธรับมือป้องกันการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำเป็นระลอก 2 นับเป็นการเตรียมกองกำลังที่ทำให้ “ระบบสาธารณสุขไทย” พร้อมเปิดเกมรบในระยะยาว
นายแพทย์อายุส ภมะราภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ซึ่งถือเป็น เป็น รพ.ศูนย์กลางในเขตภาคเหนือตอนล่าง และมีผู้ป่วยจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีคนไข้นอกต่อวันประมาณ 2,300 คน คนไข้ในประมาณ 700 คน ห้องตรวจเชื้อมาช่วยระงับความรุนแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันการระบาดซ้ำ
“ห้องตรวจหาเชื้อเป็นประโยชน์มากหากเกิดการระบาดซ้ำในอนาคต และยังรวมถึงโรคติดต่อที่รุนแรงอื่น ๆ ก็ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ รพ. เป็นโรงเรียนแพทย์ ที่ใช้วิกฤตสร้างโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตของแพทย์ และนิสิตแพทย์ใน รพ.”
เช่นเดียวกับ นางอวยพร จงสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กล่าวว่า “ห้องตรวจหาเชื้อพระราชทาน สร้างความปลอดภัยให้ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้ารับการรักษา และหากสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังสามารถใช้ห้องในการวินิจฉัยวัณโรคปอดได้อีกด้วย เนื่องจากกาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่มีวัณโรคปอดเยอะที่สุดในประเทศ”
ในขณะที่ นายแพทย์นิคม มะลิทอง รองผู้อำนวยารฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า “ยังมีโรคอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจได้ ดังนั้น New Normal สำหรับการรักษาพยาบาลต่อจากนี้ไป คงต้องคำนึงถึงการจัดเตรียมห้องปลอดเชื้อในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ติดเชื้อ และป้องกันไม่ให้คนไข้เอาเชื้อไปติดคนอื่น ๆ ”
น้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ของทั้งสองพระองค์ ยังความปลื้มปีติแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
แม้ประชาชนจะรู้สึกวิตกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่เมื่อได้รับรู้ถึงพระเมตตาที่พระองค์ท่านได้พระราชทานห้องตรวจหาเชื้อสำหรับปกป้องและดูแลราษฎร ต่างรู้สึกคลายกังวล ปลาบปลื้ม มีกำลังใจ และพร้อมสู้ไปกับทีมแพทย์-พยาบาล
นางสาวจันทร์จิรา ก่อบรรทัด ประชาชน จ.สงขลา กล่าวว่า “ในฐานะคนสงขลา ขอขอบพระคุณพระองค์ท่านที่ได้พระราชทานห้องตรวจหาเชื้อสำหรับบุคลากรทางการเเพทย์เเละประชาชน ขอขอบพระคุณที่พระองค์ท่านได้พระราชทานสิ่งดี ๆ ให้คนสงขลา ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ นอกจากนี้ ขอขอบคุณบุคลากรทางการเเพทย์ที่ดูเเลใส่ใจประชาชนที่มารับการรักษา ขอบคุณอย่างยิ่งที่ช่วยเหลือกันมาตลอด ไม่ว่าโรคนี้จะผ่านพ้นไปหรือไม่ ขอให้ทุกคนอย่าท้อ เราจะผ่านพ้นไปด้วยกัน”
เช่นเดียวกับ นายธวัช โกสีย์ ประชาชน จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า “รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงห่วงใยประชาชนให้ได้รับความปลอดภัย การมีห้องตรวจหาเชื้อช่วยให้บุคลากรทางแพทย์และประชาชนรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจยิ่งขึ้น ในฐานะประชาชน ขอขอบคุณทีมแพทย์ พยาบาล และประชาชนทุกคนที่ได้ร่วมกันต่อสู้มาตั้งแต่ต้น ขอให้ทุกคนร่วมมือกัน ล้างมือ อยู่บ้าน เว้นระยะห่าง และห่างไกลจากความเสี่ยงที่จะทำให้ติดโรค เพื่อจะทำให้เอาชนะโควิด-19 ได้ในที่สุด”
ด้าน นายกิตติ จาวรุ่งฤทธิ์ ประชาชน จ. กาญจนบุรี กล่าวว่า “ขอขอบคุณและให้กำลังใจหน่วยงานสาธารณสุขทุกภาคส่วนโดยเฉพาะแพทย์พยาบาลที่เป็นด่านแรกในการเจอกับเชื้อโควิด-19 และอยากฝากให้ประชาชนทั่วไปดูแลตัวเอง ให้ความร่วมมือกับทางราชการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการควบคุมไม่ให้เกิดโรคระบาด”
พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ช่วยนำทางและปกแผ่คุ้มครองราษฎรของพระองค์ในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ ให้สามารถก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้ ผ่านนวัตกรรม “ห้องตรวจหาเชื้อ” ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่มีคุณูปราการต่อการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ พระเมตตาของทั้งสองพระองค์ยังถือเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักคิด นักวิทยาศาสตร์ไทยได้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยภูมิปัญญาไทยซึ่งช่วยยกระดับวงการสาธารณสุขของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ด้วยพระบารมีและความร่วมมือของคนไทยจะเกิดเป็นพลังที่สามารถพลิกฟื้นประเทศให้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ในเร็ววัน