“ยิ่งตัดไม้ ยิ่งได้ป่า” เป็นประเด็นท้าทายและจุดกระแสในแวดวง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับป่าและไม้อย่างมาก อะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “สวีเดน” ที่พลิกฟื้นผืนป่าเสื่อมโทรมกว่าครึ่งค่อนประเทศก้าวสู่ประเทศผู้ส่งออกไม้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ยังมีพื้นที่ป่าไม้มากกว่าร้อยละ 75 ของประเทศ
ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม และสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย จับมือกับเอสซีจี เชิญผู้มีประสบการณ์ตัวจริง ร่วมแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดด้านการจัดการระบบป่า ทั้งในอุตสาหกรรมป่าไม้ และด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมจากสวีเดน เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันระดมความคิด หาคำตอบ และแนวทางในการพัฒนาป่าไม้ไทย ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ พร้อมกับการก้าวเป็นเมืองเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน

มร. Aaron Kaplan ผู้อำนวยการ Eco-Innovation Foundation (EIF) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับสวีเดนเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมาคือ มีการตัดไม้อย่างมาก ปัจจุบันสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 3 เท่า นับว่าอุตสาหกรรมป่าไม้ของสวีเดน มีความรุ่งเรืองมาก แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมามาก แม้แต่รัฐบาลสวีเดนยังถูกวิจารณ์ว่าสนใจต้นไม้บางชนิดเช่นต้นสน จึงเป็นความท้าทายกับการจะเพิ่มความหลากหลาย ให้กับป่าในสวีเดนซึ่งธรรมชาติเป็นป่าสน เพราะผู้ที่เป็นเจ้าของป่าคือชาวบ้าน ฉะนั้นการจะเปลี่ยนป่า ต้องได้รับการยอมรับจากชาวบ้านด้วย
“การปลูกป่าทดแทนไม่เพียงช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การมีระบบจัดการป่าที่เหมาะสม ยังช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูล ทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจได้ โดยเปลี่ยนอุตสาหกรรมแบบเดิม ให้เป็นอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อป่า ที่สำคัญคือต้องทำงานร่วมกับชุมชน”
ป่าในสวีเดนมีความเป็นสาธารณะ ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเก็บผลไม้ป่า หรือเดินป่าท่องเที่ยว เอื้อต่อการจัดการแบบสหกรณ์สวนป่า หรือวนเกษตร เช่น Södra ที่เกิดจากการรวมตัวของเจ้าของสวนป่า ทางตอนใต้ของสวีเดนกว่า 52,000 รายในรูปของสหกรณ์ ทำงานร่วมกันตั้งแต่การจัดการป่า อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปจนถึงการแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากไม้ รวมถึงเชื้อเพลิงชีวภาพ และไฟฟ้าออกสู่ตลาด

มร. Christer Bladh รองประธานฝ่ายขายจาก Södra บอกว่า พื้นที่สวนป่าตรงนี้ในอดีตเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ผู้คนยากจน เพราะดินไม่ดี ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาพื้นที่เป็นเหมือนสหกรณ์ที่เจ้าของผืนป่าขนาดเล็กมารวมกัน มีโรงเลื่อย โรงงานทำเยื่อกระดาษอยู่ด้วย ทำไบโอดีเซล ผลิตไฟฟ้าด้วย เราใช้เปลือกไม้เบิร์ชไม่เฉพาะกับเฟอร์นิเจอร์ แต่มีการนำเยื่อไม้มาทำเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
“ปัจจุบันเราใช้ทุกโมเลกุลของต้นไม้เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่า ป่าไม่เพียงลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ยังเป็นแหล่งพลังงานสะอาดชั้นเยี่ยม เราก่อตั้ง Södra เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเห็นคุณค่าของป่า และสามารถแปลงพื้นที่ให้เป็นทุนสร้างรายได้” Christer Bladh บอก
ขณะที่ มร. Berty van Hensbergen ผู้ร่วมก่อตั้งและประธาน EIF กล่าวถึงความสำคัญของการจัดระบบของป่า อย่างเหมาะสมว่าช่วยเพิ่มมูลค่าของป่า นอกจากการปลูกต้นไม้ทดแทนอย่างน้อย 3 ต้นต่อการตัด 1 ต้นแล้ว การลดความหนาแน่นของต้นไม้ในป่า คัดต้นที่เล็กไม่ค่อยมีคุณภาพออก ไม่เพียงช่วยให้ป่าที่เหลือเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงได้ไม้ที่มีคุณภาพ ต้นไม้ที่คัดออกยังนำไปทำประโยชน์อื่นได้

ต้นไม้ 1 ต้น เมื่อเข้ากระบวนการผลิตใช้ได้เพียง 10% เท่านั้น ขายเฉพาะไม้ขนาดมาตรฐาน ส่วนที่เหลือไม่เป็นที่ต้องการ การสร้างกำไรจากป่าธรรมชาติจึงยาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาพันธุ์ของไม้ที่จะสร้างกำไร เนื่องจากไม้จำนวนมากไม่มีคุณค่ามากพอ และยังไม่มีการลงทุนเลยในการบริหารจัดการป่า เพราะทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตต่างไม่รู้ว่าป่าผลิตอะไรได้ การบริหารจัดการต่อผลิตภัณฑ์จึงมีความสำคัญ ช่วยให้มูลค่าไม้สูงขึ้น
“การใช้ประโยชน์ในทุกส่วนจากต้นไม้ เช่นนำไปผลิตเยื่อกระดาษ เนื้อไม้เผาทำถ่าน ฯลฯ โรงเลื่อยนำสิ่งที่เหลือมาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้คุณค่าของป่าเพิ่มขึ้น 3 เท่า การเข้าไปจัดการฟื้นฟูพื้นที่เกษตร ที่ถูกทิ้งรกร้างขึ้นมาใหม่ สามารถเร่งการเติบโตของป่าได้ นี่คือประสิทธิภาพของป่าชั้นรอง ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่าของป่ามากขึ้นด้วย”
เช่นเดียวกับ มร. Magnus Emilsson ผู้บริหารระดับสูงจาก Limträteknik ที่กล่าวถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนในระบบอุตสาหกรรมป่าไม้นอกกรอบว่า การทำงานกับไม้ให้ความอภิรมย์ ขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน การสร้างตลาดในประเทศ ไม้สามารถสร้างเมืองน่าอยู่ ถ้ามีการจัดการการใช้ไม้อย่างยั่งยืน เมื่อสถาปัตยกรรมเป็นที่รัก คนจะดูแล โดยกุญแจในการทำงานกับไม้คือการทำงานแบบสหวิชาชีพและทำงานด้วยกันตั้งแต่ต้น จะมีพลังงานในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้
ส่วนแนวทางของภาคเอกชนไทยในเรื่องการจัดการป่า คุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เล่าถึงการทำงานของเอสซีจี ที่ทำเรื่องป่า น้ำ ความยั่งยืนมานาน โดยในช่วงเวลากว่า 10 ปี ได้ปลูกป่ากลับคืนมาถึง 1.2 ล้านต้น ทั้งป่าบก โกงกาง หญ้าทะเล พร้อมดูแลการจัดการน้ำเพื่อบำรุงรักษาให้ป่าอุดมสมบูรณ์ สร้างฝายชะลอน้ำ 115,000 ฝาย เพราะน้ำช่วยให้เกิดป่าเกิดความชุ่มชื้น ผ่านโครงการ รักษ์ภูผามหานที เรียกว่าทำตั้งแต่บนภูเขา ปลูกป่า สร้างฝาย จนลงมาถึงทะเล ก็ปลูกหญ้าทะเลช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์

“นอกจากการรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้คือ ชุมชนได้อาศัยป่า ความเหลื่อมล้ำก็ลดลง ถ้าเราไม่ทำอะไรอาจเกิดหลายสิ่ง เช่น โลกร้อนมากขึ้น การลักลอบตัดไม้ การมีชุมชนมีเกษตรกรเข้ามาช่วยดูแล เป็นเจ้าของทำให้มีคนช่วยดูแลป่ามากขึ้น และต้องเริ่มลงมือเลย ไม่เช่นนั้นอีก 100 ปีจะยังเหมือนเดิม ทุกคนต้องเริ่มทำและลงมือทำตั้งแต่วันนี้ นี่เป็นมิติใหม่อันหนึ่งในเรื่องป่าไม้ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อยู่ที่มือของพวกเราทุกคน” คุณนิธิกล่าว
“สวีเดนโมเดล” อาจสร้างความสำเร็จให้กับสวีเดนเป็นเบอร์ต้นของประเทศสีเขียว ที่มีรายได้จากการส่งออกไม้ในระดับโลก แต่ไทยต้องนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบท โดยทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชน ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อนำพาประเทศให้เป็นเมืองเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน

Published on: Apr 5, 2023
