กระทรวง อว. ร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เอสซีจี มูลนิธิบัวหลวงและธนาคารกรุงเทพ แถลงความสำเร็จ “ร่วมมือ ร้อยใจ รอดภัยแล้ง”

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)  เอสซีจี มูลนิธิบัวหลวง และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดแถลงความสำเร็จ “ร่วมมือ ร้อยใจ รอดภัยแล้ง”  โครงการแก้ปัญหาภัยแล้งที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมมือกันสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยตนเอง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำของชุมชน จนสามารถรอดพ้นภัยแล้งในปี 2563 ซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปีได้ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนศรีอยุธยา

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า สภาพฝนปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากในอดีตมาก ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายสิบปี หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน จึงได้ร่วมมือกันสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยตนเอง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำของชุมชน เริ่มจากความเข้าใจสภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำที่มี น้ำที่ต้องการใช้ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับปริมาณน้ำอย่างสมดุล และต้องเข้าถึงความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีทีมงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ร่วมค้นหาชุมชนที่มีศักยภาพ เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำและการใช้เทคโนโลยีมาช่วยวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ และยังร่วมกับเอสซีจี มูลนิธิบัวหลวงและธนาคารกรุงเทพ สนับสนุนการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำ ช่วยให้ชุมชนแก้ภัยแล้งได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

เอสซีจี มูลนิธิบัวหลวง เเละธนาคารกรุงเทพ

“ในวันนี้มีหลายชุมชนที่เป็นตัวอย่างการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ และเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จจากการน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง รู้จักหาความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ ลงมือทำจนสำเร็จได้ เป็นการสร้างหนทางรอดภัยแล้งได้ด้วยตนเอง” ดร.สุเมธ กล่าว

นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office เอสซีจี กล่าวว่า  “เอสซีจี ได้น้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมรอบโรงงานปูนลำปาง ตั้งแต่ปี 2550 เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าและคืนสมดุลสู่ระบบนิเวศ พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมชักชวนชุมชนร่วมสร้างฝายชะลอน้ำ ทั้งได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ส่งเสริมชุมชนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา 13 ปี ที่เอสซีจีและเครือข่ายได้ทำงานด้านการจัดการน้ำร่วมกัน  ก่อเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม  ฝายชะลอน้ำที่ได้สร้างไปแล้วซึ่งจะครบ 100,000 ฝาย ในปลายปีนี้  ได้เปลี่ยนแปลงป่าที่แห้งแล้ง ให้เป็นป่าเขียวขจี  มีความอุดมสมบูรณ์ และมีปริมาณน้ำมากพอสำหรับทำเกษตร มีผลผลิตเพิ่ม
มากขึ้น ชุมชนมีความเข้มแข็ง ร่วมกันดูแลชุมชนให้ยั่งยืนพัฒนาต่อยอดเป็นการสร้างรายได้ต่างๆ อาทิ โฮมสเตย์ วิสาหกิจชุมชน  รวมถึงการขายออนไลน์  ชาวบ้านจึงไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปทำงานในเมือง  มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การใช้แผนที่เพื่อสำรวจเพื่อนที่ในการจัดการน้ำ เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เอสซีจีจึงได้สานต่อแนวทางดังกล่าว สู่โครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” เพื่อส่งเสริมให้ 108 ชุมชนที่ประสบภัยแล้ง ลุกขึ้นมาร่วมมือกันแก้ภัยแล้งด้วยตัวเอง ด้วยการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสำรวจและจัดทำแหล่งน้ำในพื้นที่ โดยมีชุมชนแกนนำของอุทกพัฒน์ฯ และเอสซีจีร่วมเป็นพี่เลี้ยง ภายในระยะเวลา 2 ปี ในงบประมาณ 30 ล้านบาท กว่า 3 เดือนที่ได้เริ่มดำเนินโครงการฯ ทีมงานได้เข้าไปส่งเสริม  56 ชุมชน ในจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง ทำให้มีน้ำสำรองสามารถกระจายและแบ่งปันน้ำได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการอุปโภค-บริโภค ในช่วงหน้าแล้งนี้

“เมื่อนับรวมตั้งแต่ปีที่เอสซีจีได้เริ่มโครงการบริหารจัดการน้ำถึงปัจจุบัน  มีชุมชนสามารถเอาชนะภัยเเล้งนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนรวม 70  ชุมชน 16,200 ครัวเรือน  ใน 28 จังหวัด มีปริมาณกักเก็บน้ำรวมถึง 26.4 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่เกษตรที่ได้รับประโยชน์รวม 45,300 ไร่ ปัจจัยความสำเร็จ
เกิดจากคนในชุมชนใช้หลัก “ความรู้คู่คุณธรรม”  มีความรักและสามัคคี ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน และมีคุณธรรมแบ่งปันใช้น้ำอย่างเป็นธรรม  รวมถึงการความรู้ผสานการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อแก้ภัยแล้ง  ที่สำคัญคนในชุมชนยังเป็นพี่เลี้ยง เผื่อแผ่ แบ่งปันความรู้ และประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจไปยังชุมชนต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ” นางวีนัส กล่าว

การจัดการน้ำชุมชนด้วยคลองดักน้ำหลาก เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง

นายอาสา สารสิน ประธานกรรมการมูลนิธิบัวหลวง กล่าวว่า มูลนิธิบัวหลวง และธนาคารกรุงเทพ เข้าร่วมโครงการนี้เป็นปีแรก โดยร่วมดำเนินโครงการ “บัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้ง” กับ 22 ชุมชน ใน 6 จังหวัด ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น จำนวน 9 ชุมชน  จังหวัดเชียงราย 5 ชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ 2 ชุมชน จังหวัดแพร่ 3 ชุมชน จังหวัดสุโขทัย 2 ชุมชน และจังหวัดพิษณุโลก 1 ชุมชน ซึ่งโครงการส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการสร้างหรือปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำของชุมชน โดยด้านหนึ่งมีการเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำต้นทุน และอีกด้านหนึ่งมีระบบการกระจายน้ำให้ชุมชน ด้วยกระบวนการจัดสรรน้ำที่เป็นธรรมแก่ทุกคนในชุมชน

“มูลนิธิบัวหลวงและธนาคารกรุงเทพ เชื่อมั่นว่า โครงการแก้ภัยแล้งของชุมชนทั้ง 22 ชุมชน ที่เราร่วมดำเนินการ ไม่เพียงจะช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน หากยังจะเป็นต้นแบบที่ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ชุมชนอื่น ๆ ได้เรียนรู้ ดำเนินรอยตาม และขยายผลออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ” นายอาสากล่าว

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ธนาคารกรุงเทพได้ร่วมสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ มาตั้งแต่ปี 2550 ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิฯ เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ทั่วประเทศมาตลอดทุกปี โครงการ “บัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้ง”  นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาให้แก่ชุมชนที่ร่วมโครงการได้อย่างตรงจุด เป็นรูปธรรม และมีความยั่งยืนแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่ธนาคารจะได้ร่วมเรียนรู้ไปกับชุมชน ซึ่งจะทำให้ธนาคารเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของแต่ละชุมชน และให้การสนับสนุนได้อย่างเหมาะสม

“การได้ร่วมเรียนรู้ไปกับชุมชน จะทำให้เรามีประสบการณ์และฐานข้อมูลที่สามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาอย่างเดียวกัน ซึ่งก็จะช่วยขยายผลโครงการนี้ให้กว้างขวางออกไปได้อีก” ดร.ทวีลาภกล่าว

ติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วยลดต้นทุนในการใช้ไฟสูบน้ำ เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ภัยแล้งถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนในปี 2563 ซึ่งจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆ หน่วยงาน เพื่อให้การแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผลสำเร็จของงาน “ร่วมมือ ร้อยใจ รอดภัยแล้ง” นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการในการทำงานระหว่างหน่วยงานราชการ กับภาคเอกชน เชื่อมโยงไปสู่ประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้ “ชุมชน และ พื้นที่” เป็นศูนย์กลาง ถือเป็นการสร้างความมั่นคงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง และเห็นเป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วนดังกล่าว

“สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับภัยแล้งและปัญหาเศรษฐกิจ ถือเป็นวิกฤตเชิงซ้อนที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญ ผมได้สั่งการให้หน่วยงานในกระทรวง อว. เร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน สำหรับ สสน. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำ ผมได้มอบหมายให้จัดทำโครงการส่งเสริมบริหารจัดการน้ำ เพิ่มความมั่นคงเศรษฐกิจของชุมชน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาและเพิ่มทักษะ สร้างงาน สร้างอาชีพ โดยใช้แนวทางจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวพระราชดำริ ที่ สสน. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลการจัดการทรัพยากรน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 400 ชุมชน โดยจะดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัย กองทัพภาคที่ 2 และหน่วยงานท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาน้ำเชิงพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งน้ำ เกิดความมั่นคงด้านอาหาร ผลผลิต เหลือขายเป็นรายได้ นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น และยังสร้างอาชีพให้บัณฑิตจบใหม่ สามารถขยายผล  ตัวอย่างความสำเร็จในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารจัดการน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถให้ชุมชน นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” ดร.สุวิทย์ กล่าว

เมื่อมีน้ำ ก็ต่อยอดสู่การทำวิสาหกิจชุมชน เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง

สำหรับผลความสำเร็จในการแก้ภัยแล้งปี 2563 ภายใต้โครงการเอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง และโครงการบัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้ง ดำเนินการรวม 78 ชุมชน ใน 27 จังหวัด พื้นที่การเกษตร 10,223 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นน้ำ
เพื่อการเกษตร 1.22 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำบริโภค 0.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และอุปโภค 8.57 ล้านลูกบาศก์เมตร มีผู้รับประโยชน์ 13,618 ครัวเรือน หรือ 42,414 ราย

(Visited 1,165 times, 1 visits today)