สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือน นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำในสังคมที่นับวันมีแนวโน้มสูงขึ้น “เอสซีจี” จึงเดินหน้าลดปัญหานี้อย่างยั่งยืน ตามแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero 2050 – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเชื่อมั่น โปร่งใส) เพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชนมีอาชีพและรายได้ด้วยการอบรมให้ความรู้ ผ่านโครงการ “พลังชุมชน” หลักสูตร Mini MBA สำหรับชุมชน ปัจจุบันมีผู้คนที่สามารถสร้างอาชีพแล้วกว่า 450 คน 850 ผลิตภัณฑ์ เกิดการจ้างงานกว่า 1,800 คน และส่งต่อความรู้มากกว่า 10,200 คน เป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ล่าสุดจัดงาน “พลังชุมชน คนบันดาลใจ” ชวน 4 ชุมชนต้นแบบ มาร่วมกันส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ นำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
ปาฐกถาพิเศษฝากข้อคิดและคาถาแก้จน
ภายในงานได้จัดปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “อยู่รอด เติบโต ด้วยคุณธรรม” โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ที่ให้ข้อคิดว่า ทุกปัญหา อุปสรรคเอาชนะได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อยู่อย่างแบ่งปัน และมีน้ำใจต่อกัน ซึ่งโครงการพลังชุมชนประสบความสำเร็จ ในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจแล้ว จึงอยากเพิ่มอีกมิติ คือ มิติจิตวิญญาณของความเป็นไทย นั่นคือ เราเป็นพี่น้องกัน ต้องมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
“ขอชื่นชมโครงการพลังชุมชน อยากให้เดินหน้าต่อไป เพราะประเทศไทยมีคนจนและคนเปราะบางอีกมากที่ต้องการให้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ สิ่งที่ช่วยแก้จนมีสองเรื่องคือ หนึ่ง ต้องรู้จริง ไม่ว่าทำอาชีพอะไร ก็ต้องเอาเทคโนโลยีและความรู้เกี่ยวกับอาชีพนั้นที่ทันสมัยที่สุดไปให้กับผู้ประกอบการ สอง เรื่องการบริหารจัดการ การสร้างเครือข่าย การประสบความสำเร็จต้องพัฒนาตลอดเวลา เราจะนำหน้าคู่แข่งเสมอ และผลิตภัณฑ์ต้องไม่ทำเหมือนเดิม ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เรื่อย ๆ และเมื่อผลิตได้แล้ว ต้องถามตัวเองว่าเอาไปขายใคร ตลาดอยู่ที่ไหน” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม กล่าว
“แรงบันดาลใจ” สร้างจากสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว
เปิดเวทีส่งต่อแรงบันดาลใจ โดย “เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง” หรือ หนิง คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่ค้าขนมภายใต้แบรนด์ แม่หนิงภูดอย จาก จ.ลำปาง ที่เริ่มต้นจากความตั้งใจทำขนมให้ลูกชายกิน เล่าว่า โครงการพลังชุมชน เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มาปรับปรุง พัฒนาต่อยอดแปรรูปขนมคุกกี้ไส้สับปะรดให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างเป็นรูปไก่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของลำปาง ทั้งยังปรับมาตรฐานสินค้าให้ได้รับ อย. และเลือกเป็นเมนูในเวทีประชุม APEC Thailand ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
“พลังชุมชนได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งให้ก้าวเดินอย่างมั่นคงและงดงาม หนิงมุ่งมั่นและพยายามพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นทุกวัน พร้อมเปิดรับทุกโอกาสดี ๆ ที่เข้ามา เป้าหมายหรือแรงบันดาลของเราอาจเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ แล้วตั้งใจ พัฒนาฝึกฝน และทำสม่ำเสมอในทุกวัน อาจลำบากหรือเจออุปสรรคบ้าง แต่การทำในสิ่งที่รัก เราจะมีความสุข พร้อมพุ่งชนและแก้ไขปัญหา หนิงเชื่อว่าดอกผลของพยายามสวยงามเสมอ”
“ความรู้” คือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ
ตามมาด้วย “ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์” สมาชิกโครงการพลังชุมชน จ.อุดรธานี ข้าราชการบำนาญ ที่แบกหนี้หลักล้านกลับบ้านเกิด นำปลามาแปรรูปเป็นปลาส้ม จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เล่าว่า แม้จะลำบาก แต่ไม่เคยท้อ เพราะในความมืดย่อมมีแสงสว่าง ที่สำคัญมีความรู้เป็นกุญแจสำคัญ โครงการพลังชุมชนสอนให้ตัวเองทำในสิ่งที่ถนัด เมื่อลงมือทำโดยใช้เวลาเพียง 1 ปี ก็กลับมามีรายได้อย่างมั่นคง จากแปรูปปลาเป็นปลาส้ม ซึ่งขายได้ 28,800 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 180 บาท จากต้นทุนกิโลกรัมละ 50 บาท อีกทั้งยังขยายเครือข่าย สร้างระบบ สร้างงาน สร้างคน ส่งต่อไปความรู้ ความเชี่ยวชาญไปอีกหลายตำบล
“เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เปิดใจ ยอมรับ พร้อมปรับเปลี่ยน ค้นหาคุณค่าของสิ่งรอบข้างมาสร้างมูลค่า และเป้าหมายต้องชัด ทำตามลำดับขั้นตอน ซึ่งสำคัญที่สุดคือ การลงมือทำ ผมเรียนรู้รายละเอียดของปลาจนนำมาแปรรูปได้ 9 หมวด 50 ผลิตภัณฑ์ มีพันธมิตรอย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 4 มาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย จนตกผลึก จากเดิมที่มี 1 ไลน์การผลิต ตอนนี้เพิ่มเป็น 3 ไลน์ พร้อมเป็นสถานที่พัฒนา ระดับอำเภอ และส่งต่อแบ่งปันความรู้ไปให้กับเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดกลางในหลายตำบล”
นำสิ่งรอบตัวมาทดลองคิดค้นเพิ่มมูลค่า
“มัจฉา สุดเต้” จาก จ. อุบลราชธานี ผู้พัฒนาก๋วยจั๊บอุบล ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นให้มี 20 รสชาติ เล่าว่า ในช่วงที่ชีวิตเหมือนจะไปต่อไม่ได้ แต่ต้องฮึดสู้เพื่อครอบครัว โครงการพลังชุมชนแนะให้นำสิ่งรอบตัวมาเพิ่มมูลค่า รักในสิ่งที่ทำและทำในสิ่งที่รัก สุดท้ายปิ๊งไอเดียทำก๋วยจั๊บสำเร็จรูป เนื่องจากลูกชายชอบทาน แม้ว่าในอุบลฯ จะมีสินค้าอยู่แล้วนับพันแบรนด์ แต่ก็ยังคงทดลองคิดค้นสูตรเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์และมีความแตกต่าง ซึ่งลูกชายการันตีว่าอร่อยมาก จึงเป็นที่มาของก๋วยจั๊บอุบล สูตรมาดามโซ่ รสต้นตำรับ เปิดตลาดในอำเภอน้ำยืน ก่อนบุกทำตลาดออนไลน์ จ้างทำเพจ ยิงโฆษณา จนประสบความสำเร็จ
“เราคิดค้นรสชาติแปลกใหม่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า พร้อมปรับปรุงโรงเรือนตามมาตรฐาน อย. พัฒนาเป็นผู้รับจ้างผลิต มีการเชื่อมโยงเครือข่ายและกระจายรายได้ไปพร้อมกัน จนเกิดผลิตภัณฑ์มาดามโซ่ 20 รสชาติ ได้จับเงินหลักล้านภายใน 6 เดือน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน แบ่งปันองค์ความรู้ให้ผู้สนใจที่มาเยี่ยมชมโรงงาน อยากให้เอสซีจีสานต่อโครงการพลังชุมชนต่อไป เพราะยังมีหลายชีวิตรอแสงตรงนี้ส่องไปยังพวกเขา”
ค้นหาคุณค่าของตัวเองและความชอบให้เจอ
“อำพร วงค์ษา” หรือ ครูอ้อ ประธานศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม จ. ลำพูน และเจ้าของก๋วยเตี๋ยวลำไยแปรรูป แบรนด์ ไร่วงค์ษา” ที่ลาออกจากการเป็นครูพี่เลี้ยงในโรงเรียนอนุบาลมาดูแลแม่ที่เจ็บป่วย ทำให้ขาดรายได้ประจำและมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งยังแบกภาระหนักเมื่อสามีล้มป่วย และยังรับหน้าที่ดูแลลูก ตนจึงฝึกฝนพัฒนางานฝีมือหัตถกรรมสร้างรายได้เสริม ได้กำลังใจจากพ่อและครอบครัวทำให้ครูอ้อเข้มแข็ง ลุกขึ้นมาค้นหาคุณค่าของตัวเองจนพบว่าชอบอาชีพหัตถกรรม จึงสร้างงานฝีมือและพัฒนาเป็นกลุ่มหัตถกรรมงานฝีมือ เป็นฐานการผลิตส่งต่อออเดอร์ของลูกค้า
“โครงการพลังชุมชนสอนให้พึ่งตนเอง เรานำความรู้มาพัฒนาต่อยอดในหลายเรื่อง เมื่อลำไยราคาตกก็แปรรูปเป็นก๋วยเตี๋ยวลำไย ฝึกฝนทำงานหัตถกรรมไปพร้อมกับดูแลครอบครัว นำความรู้เรื่องการจัดการ มาบริหารงานภายในกลุ่ม เชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างเพื่อขยายฐานการผลิต ทั้งยังเปิดศูนย์เรียนรู้ ให้ชุมชนมีอาชีพ มีงานทำ รู้สึกภูมิใจมากที่ได้มายืนในจุดนี้”
เหล่านี้คือเสียงสะท้อนจาก “คนบันดาลใจ” ที่เป็นเพชรเม็ดงามจากโครงการ “พลังชุมชน” หลักสูตร Mini MBA สนับสนุนโดยเอสซีจี ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมวิสาหกิจชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพให้ชุมชน ด้วยการให้ความรู้คู่คุณธรรม เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด ให้พึ่งพาตนเอง เช่น สอนหลักการตลาดให้รู้จักลูกค้า แปรรูปผลิตภัณฑ์ให้โดนใจผู้บริโภค สร้างแบรนด์สินค้า และขยายช่องทางจำหน่ายให้หลากหลายอย่างออนไลน์ ช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง เติบโตอย่างยั่งยืน
Published on: Oct 4, 2022