“ระบบน้ำหมุนเวียน” ทางรอดวิกฤตน้ำประเทศไทย ถอดบทเรียนชุมชนรอดภัยแล้ง สร้างรายได้ยั่งยืน ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน

ปัญหาน้ำของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม น้ำแล้ง และ น้ำเสีย ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากยาวนานส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศ

ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ชุมชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น ในงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” ที่จัดขึ้นโดย เอสซีจี เพื่อหาทางออกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาวิกฤตน้ำประเทศไทย ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมเสนอทางรอดและข้อสรุป ตลอดจนแนวทางให้เกิดการขยายผลนำไปปฏิบัติจริง โดยเชื่อว่า การบริหารจัดการน้ำด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน” จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตน้ำได้อย่างยั่งยืน

ชงข้อเสนอ “ระบบจัดการน้ำหมุนเวียน” ทางรอดวิกฤตภัยแล้ง

การบริหารจัดการน้ำด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน” คือ การจัดการน้ำและการจัดรูปที่ดินให้สามารถใช้น้ำซ้ำได้หลายรอบ ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ร่วมมือกันส่งเสริมชุมชนเรียนรู้การจัดการน้ำด้วยตนเอง จนเกิดเป็นชุมชนยั่งยืนที่แก้ปัญหาสำเร็จ ช่วยเพิ่มผลผลิต การเกษตร สร้างอาชีพมั่นคง รายได้ยั่งยืนสามารถพึ่งพาตนเอง และรอดพ้นวิกฤตภัยแล้งได้ โดยได้ถอดบทเรียนจากชุมชนต้นแบบใช้น้ำหมุนเวียน ได้แก่ ชุมชนดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี, ชุมชนศาลาดิน จ.นครปฐม, ชุมชนบ้านป่าภูถ้ำ จ.ขอนแก่น และ ชุมชนบ้านสาแพะ จ.ลำปาง เป็นกรณีศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบและแนวทางให้เกิดการขยายผลต่อในชุมชนอื่น ๆ

พร้อมข้อเสนอร่วมแก้ปัญหาด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน” โดย 1. สนับสนุนให้คนไทยพึ่งพาตนเอง เรียนรู้การจัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี “สร้างระบบน้ำหมุนเวียน” ให้เพียงพอต่อความต้องการแต่ละชุมชน รวมทั้งเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ด้วยการขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้การเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และพัฒนาตลาดค้าส่งในท้องถิ่นให้แก่เกษตรกรและคนกลับคืนถิ่น จากพิษเศรษฐกิจ COVID-19 และ 2.เชิญชวนรัฐบาลร่วมขยายผล “ระบบน้ำหมุนเวียน ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมเพิ่มผลผลิตเกษตรให้ไทยเป็นครัวโลกในที่สุด

ถอดบทเรียนชุมชนรอดภัยแล้ง สร้างรายได้ยั่งยืน ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน

ปี 2564 ไทยเผชิญวิกฤตหนัก ฝนน้อยเก็บน้ำได้ไม่เพียงพอความต้องการใช้

ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการบริหาร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำประเทศไทยในปี 2564 จะเผชิญวิกฤตหนัก จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง แนวโน้มปริมาณฝนน้อยลง ปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศที่สูงถึง 120,000 – 150,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่แหล่งเก็บน้ำของประเทศไทยมีความจุ 80,000 ล้าน ลบ.ม. แต่เก็บน้ำได้จริงเพียง 40,000 ล้าน ลบ.ม. และข้อมูลขณะนี้ปริมาณน้ำใช้สำหรับปี 2564 มีเพียง 19,250 ล้าน ลบ.ม. โดยพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ 154 ล้านไร่ มีน้ำเพียงพอทำการเกษตรเพียง 10 ล้านไร่ ที่เหลือต้องขาดแคลนน้ำ ซึ่งพื้นที่ภาคกลางน่ากังวลมากที่สุด เพราะมีความต้องการใช้น้ำอย่างน้อย 7,000 ล้าน ลบ.ม. แต่มีน้ำใช้ได้ 5,400 กว่า ล้าน ลบ.ม. ส่วนภาคอีสานปกติน้ำจะมีน้ำในเขื่อนกว่า 8,000 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้มีอยู่ 3,700 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น

“ปัญหาหนึ่งของไทยคือ ยังมองภาพการบริหารแบบรวมศูนย์ ทำให้ขาดเรื่องการบริหารขนาดเล็ก หรือ การบริหารนอกเขตชลประทาน ทั้งที่มีโครงสร้างอ่างน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 35 แห่ง รวมทั้งอ่างน้ำขนาดเล็กอีกนับพันแห่งที่ถ่ายโอนให้ท้องถิ่น แต่ขาดการเตรียมความพร้อมของท้องถิ่น มองว่าสถานการณ์น้ำก้าวสู่ภาวะวิกฤตแล้ว แต่เรายังไม่มีการปรับโครงสร้าง ไม่ได้ปรับการบริหารจัดการ แล้วเราจะเดินกันอย่างไร ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราพบคือ การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือ อาศัยหลักของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นคือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และการบริหารความเสี่ยงไม่ได้บริหารที่กำไรสูงสุด ต้องกระจายความเสี่ยงออกไปแทนที่จะทำนาอย่างเดียว ต้องปรับเปลี่ยนมาผสมผสาน และต้องรู้จักนำสิ่งที่มีในชุมชนมาสานต่อด้วยความรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม” ดร.รอยล กล่าว

ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการบริหาร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

ปัญหาซ้ำซากรัฐเยียวยาปีละ 6 พันล้าน เอกชนชง 3 ข้อเสนอร่วมแก้วิกฤต

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาน้ำเป็นปัญหาซ้ำซากของประเทศ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคการเกษตรผลผลิตเสียหาย กระทบต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อด้านสาธารณสุข ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ขณะที่ประชาชนเดือดร้อนไม่มีที่อยู่อาศัย ที่สำคัญเกิดการแย่งน้ำกันระหว่างภาคเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า รัฐใช้งบเยียวยาผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำแล้งเฉลี่ยปีละ 6,000 ล้านบาท โดยเยียวยาน้ำท่วม 5,000 ล้านบาท และภัยแล้ง 1,000 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบจึงต้องปรับปรุง เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากในการแก้ปัญหา

“ข้อเสนอทางรอดแก้วิกฤตน้ำของภาคเอกชนมองทั้ง 3 ด้าน หลักการคือ เก็บน้ำให้ได้มากที่สุด และใช้น้ำให้คุ้มค่าที่สุด รวมถึงจัดการระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่าที่สุด ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา อาจเป็นลักษณะของการแมชชิ่ง โมเดล ช่วยกันสนับสนุนชุมชนก็ได้ ขุดดินแลกน้ำ การระบายน้ำเพื่อแก้น้ำท่วม เพราะมีการขวางทางน้ำหลายจุดในประเทศไทย และสำคัญคือการใช้น้ำให้คุ้ม เอาน้ำเสียกลับมาเป็นน้ำดีแล้วใช้น้ำซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายกลินท์ กล่าว

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด วางเป้าหมายเก็บน้ำจาก 10% ต่อปี เพิ่มเป็น 20% ต่อปี ดังนี้ 1. ร่วมพัฒนาแหล่งน้ำทั้งของรัฐและเอกชน เช่น ขุดลอกแม่น้ำลำคลองที่ตื้นเขิน โครงการขุดดินแลกน้ำ เปิดให้หน่วยงานที่สนใจเข้ามาขุดดินในคลองที่ตื้นเขินนำไปใช้ 2. มีมาตรการจูงใจให้เอกชนขุดบ่อ สร้างแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่ตนเอง 3. รณรงค์ทำฝายเพื่อชะลอน้ำ และ 4. รณรงค์ปลูกป่าทุกปี ในระยะยาวมีเป้าหมายจะเพิ่มป่า 5 ล้านไร่ ใน 10 ปี ส่วน การใช้น้ำให้คุ้มค่า คือใช้น้ำในภาคเกษตรให้ประหยัดที่สุด ใช้น้ำรีไซเคิลในโรงงานให้มากที่สุด ใช้น้ำรีไซเคิลในชุมชนเพิ่มขึ้น และนำน้ำเสียจากโรงแรมมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น สุดท้าย การจัดการระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จะเร่งระบายน้ำเพื่อแก้น้ำท่วม เช่น ไม่สร้างสิ่งก่อสร้าง ขวางทางระบายน้ำ วางระบบเร่งระบายน้ำในจุดที่เคยน้ำท่วม และร่วมกับภาครัฐขุดลอกคลองที่ตื้นเขิน รวมทั้งรณรงค์ลดการทิ้งขยะในแหล่งน้ำสาธารณะ

ทางรอดภาคเกษตร ปรับการผลิตให้เหมาะสม ใช้ความรู้และเทคโนโลยีเสริม

ขณะที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้น้ำภาคเกษตรในแต่ละสาขาจะใช้ในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มที่ใช้น้ำมากที่สุดและมีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก คือ สาขาทำนา รองลงมาเป็นสาขาทำไร่ สาขาทำสวน และสาขาปศุสัตว์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดี ปรับการผลิตปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จริง ภัยแล้งจะไม่เป็นปัญหาใหญ่ของภาคการเกษตร โดยภาครัฐต้องทบทวนเรื่องส่งเสริมการปลูกพืชใหม่ เพราะปัจจุบันพืชเศรษฐกิจเดิมไม่รุ่งเรืองอีกต่อไป ไม่เช่นนั้นจะต้องเยียวยาเกษตรกรทุกปี และหากสามารถทำให้เกษตรกรมีความรู้นำไปปรับตัวสร้างเศรษฐกิจผสมผสาน มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรก็จะสามารถอยู่รอดได้

“เกษตรกรควรมีน้ำในการใช้ยังชีพและประกอบกิจกรรมของตัวเอง ที่สำคัญมีวิธีจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งที่ต้องทำคือ ใช้น้ำทุกลิตรให้มีประสิทธิภาพทั้งกับชีวิตและการผลิต ห้ามใช้ฟุ่มเฟือย เพราะวันหนึ่งเราอาจขาดแคลนได้  แม่น้ำจะเป็นทรัพย์สินเปิดเข้าถึงได้เสรี แต่เป็นการใช้ร่วมกัน ถ้าขาดแคลนจะได้รับผลกระทบทุกคน สิ่งที่น่าห่วงสำหรับภาคเกษตรคือ การปรับตัวของเกษตรกร ต้องปรับการผลิตให้ตอบสนองทั่วโลกที่ต้องการอาหารปลอดภัยและมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องปรับสู่การทำฟาร์มที่ทันสมัย นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อลดต้นทุนในระยะยาว สุดท้ายที่เกษตรกรต้องปรับตัวคือ ต้องหมั่นหาความรู้แล้วนำมาปรับกระบวนการผลิตในฟาร์ม” นายประพัฒน์ ระบุ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

การเรียนรู้พัฒนาศักยภาพคน ผลักดันสู่การจัดการน้ำหมุนเวียน

นายพิชาญ ทิพวงษ์ ผู้นำชุมชนต้นแบบการจัดการน้ำหมุนเวียน ชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ชุมชนมีการใช้น้ำซ้ำแบบไม่ตั้งใจ โดยเกิดจากการเรียนรู้ วิเคราะห์ พัฒนาแหล่งน้ำของตัวเอง จนนำมาสู่ระบบจัดการน้ำหมุนเวียน ใช้ระดับความสูงต่ำของพื้นที่เป็นตัวกำหนด ทำให้เกิดเรียนรู้และวางแผนจัดการโดยอัตโนมัติ ซึ่งมองว่ามี 2 ข้อเสนอที่ต้องเปลี่ยนแปลงในการนำชุมชนไปสู่ความสำเร็จและพึ่งตนเองได้ นั่นคือ เปลี่ยนข้างบน ต้องมีความเชื่อว่าชุมชนทำได้ ที่ผ่านมามักมีการปิดกั้นไม่ให้ชุมชนเรียนรู้และพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองได้ ถือเป็นจุดอ่อนทำให้ชุมชนอ่อนแอ ส่วนอีกข้อคือ เปลี่ยนข้างล่าง ทำให้ชุมชนมั่นใจว่าสามารถทำได้เอง ไม่ต้องรอให้รัฐลงไปจัดการทั้งหมด

“ชุมชนเราก้าวข้ามปัญหาน้ำแล้งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากถูกบังคับให้เรียนรู้เรื่องการสำรวจพื้นที่ การสำรวจเส้นทางน้ำ แผนที่ รวมทั้งเทคโนโลยี ซึ่งชุมชนสามารถเรียนรู้และลงมือทำเองได้ไม่ต้องรอภาครัฐ ที่สำคัญการจัดการน้ำนั้น เป็นเรื่องจัดการคน พัฒนาศักยภาพให้คนพึ่งตนเองได้ หากมีความรู้และเข้าใจตัวเองก็จะสามารถต่อยอดไปเรื่องอื่นได้ ทั้งเรื่องจัดการน้ำ การจัดการที่ดิน จัดการการผลิต นำไปสู่เรื่องการตลาดโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ผมมองว่าความแห้งแล้งไม่ได้ทำให้คนยากจน แต่ต้องมีความรู้ที่จะอยู่กับความแห้งแล้ง รู้จักจัดการน้ำ รู้จักบริหารจัดการการผลิตของตัวเอง เมื่อไม่มีน้ำก็ปรับตัวไปปลูกผักที่ใช้น้ำน้อยแทนอาจสร้างรายได้ที่ดีกว่าการปลูกข้าว” นายพิชาญระบุ

นายพิชาญ ทิพวงษ์ ผู้นำชุมชนต้นแบบการจัดการน้ำหมุนเวียน ชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต จ.ขอนแก่น
(Visited 1,139 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว