สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อ แก่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้ง “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่างๆ)” เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ต่อมา ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนาใช้งบประมาณจาก “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 ฯ” จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น โดยเริ่มด้วยการจัดหาเครื่องมือป้องกันให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน เพราะบุคลากรทางการแพทย์ เปรียบเสมือนหน่วยหน้าและเป็นกำลังหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย จึงได้พระราชทานห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อ แบบใช้ภายนอกอาคาร (Modular Screening and Swab Unit) และห้องตรวจเชื้อ แบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit) แก่โรงพยาบาล โดยทรงให้จัดรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล

โดยในลำดับแรก ได้พระราชทานห้องคัดกรองและห้องตรวจหาเชื้อ แบบใช้ภายนอกอาคาร แก่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น (ซึ่งจะจัดสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบในวันที่ 22 มิถุนายน 2563) และได้พระราชทานห้องตรวจเชื้อ แบบเคลื่อนที่ แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา ต่อมาได้พระราชทานห้องตรวจเชื้อ แบบเคลื่อนที่ เพิ่มเติมแก่โรงพยาบาลอีก 10 แห่ง รวมห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อ แบบใช้ภายนอกอาคาร และห้องตรวจเชื้อ แบบเคลื่อนที่ ที่ได้พระราชทานรวมทั้งสิ้น 14 แห่ง โดยในวันศุกร์ ที่ 12 มิถุนายน 2563 เวลา 15.00 น. นายลลิต ถนอมสิงห์ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เดินทางมายังโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อส่งมอบห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้แก่โรงพยาบาลฯ โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้รับมอบ

พิธีส่งมอบห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อพระราชทาน

ห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ SCG HEIM และ Living Solution โดยเอสซีจี ประกอบด้วยห้องตรวจคัดกรอง (Modular Screening Unit) ใช้ภายนอกอาคาร แบบมาตรฐาน ขนาด 3 ห้อง และห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ใช้ภายนอกอาคาร แบบมาตรฐาน ขนาด 3 ห้อง

สำหรับห้องคัดกรอง (Modular Screening Unit) จะแบ่งพื้นที่ของแพทย์และพยาบาลที่ทำหน้าที่ตรวจคัดกรอง ออกจากพื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยบุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติงานอยู่ภายใน Modular Unit ที่ปิดสนิท มีประตูเข้าออก 2 ชั้น เพื่อป้องกันอากาศรั่วไหล และพูดคุยซักประวัติของผู้ที่มีความเสี่ยงผ่านกระจกที่มีอุปกรณ์สื่อสาร (Intercom) และภายในห้องคัดกรอง จะถูกปรับความดันอากาศให้เป็นความดันบวก (Positive Pressure) ซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดแรงดันอากาศภายในห้องที่ผลักอากาศเสียออก และเพิ่ม Bi-polar Ion เพื่อจับเข้ากับโมเลกุลของเชื้อไวรัสที่อาจหลุดรอดเข้ามา จึงช่วยเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่พื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงที่เข้ารับการตรวจจะเป็นพื้นที่โล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้เกิดการระบายอากาศ และลดโอกาสการติดเชื้อ

ส่วนห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ในขั้นตอนนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากขณะที่ตรวจ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้ออาจจะไอหรือจามทำให้เชื้อไวรัสฟุ้งกระจายออกมา ดังนั้น การออกแบบห้องตรวจจึงจำเป็นต้องมีความรัดกุม โดยบุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติงานอยู่ภายในห้องตรวจหาเชื้อที่ถูกปรับความดันอากาศให้เป็นความดันบวก (Positive Pressure) ซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดแรงดันอากาศภายในห้องที่ผลักอากาศเสียออก และเพิ่ม Bi-polar Ion เพื่อจับเข้ากับโมเลกุลของเชื้อไวรัสที่อาจหลุดรอดเข้ามา ขณะที่พื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงที่เข้ารับการตรวจ จะถูกแยกออกมาและปรับความดันอากาศให้เป็นกึ่งลบ (Semi-Negative Pressure) หรือความดันลบ (Negative Pressure) เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อไวรัส พร้อมเพิ่มการใช้แสงยูวีที่มีความเข้มข้นสูงพิเศษเพื่อฆ่าและทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) ทุกครั้งหลังการใช้งานห้อง การดำเนินการเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง โดยแพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อทำการเก็บตัวอย่างให้กับผู้ที่เข้ารับการตรวจ เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากผู้ที่เข้ารับการตรวจ ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการทั้งหมดจะแยกเป็นส่วนย่อย ๆ (Cell) เพื่อให้สามารถแยกปิดได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีการรั่วระหว่างห้องบุคลากรทางการแพทย์กับห้องผู้เข้ารับการตรวจอีกด้วย

ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)

ห้องตรวจคัดกรองและห้องตรวจเชื้อดังกล่าว สามารถรองรับจำนวนผู้ที่เข้ามาตรวจคัดกรองได้เป็นอย่างดี อีกทั้งใช้เวลาติดตั้งเพียง 3 วัน ทำให้สามารถรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้อย่างทันท่วงที และช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ ห้องคัดกรองและตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้ถูกแยกออกจากตัวอาคารโรงพยาบาล จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อให้แก่ทีมแพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งยังสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วยอื่น ๆ ได้อีกทางหนึ่ง

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานสิ่งของจำเป็นเพิ่มเติมสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ประกอบด้วย ชุด Personal Protective Equipment (PPE) แอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเจลแอลกอฮอล์สาหรับฆ่าเชื้อโรค ให้แก่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ด้วย

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นนำของประเทศไทย ก่อตั้งในปีพุทธศักราช 2499 ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 3 ของประเทศ ตั้งอยู่บนถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลที่มีขนาด 1,400 เตียง ถูกวางให้เป็นโรงพยาบาลหลักในการรับผู้ป่วยหนักจากทางจังหวัด และรองรับผู้ป่วยจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ อีกทั้งได้รับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามารักษาครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563

ห้องคัดกรอง (Modular Screening Unit)

ผู้สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “การให้” โดยบริจาคเงินสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่างๆ )” เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านช่องทางธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 067–300487–3 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0 2447 8585–8 ต่อ 109, 121 และ 259

(Visited 809 times, 1 visits today)