“บ้านม่วงชุม” จ.เชียงราย ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยรอดพ้นวิกฤตอาหารในสถานการณ์โควิด-19

ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับพิษจากโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) จนบอบช้ำ ไม่เพียงแต่ยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต่างเจอศึกหนักด้วยก็คือ ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะความต้องการปัจจัยพื้นฐานอย่างอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องมือเวชภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น จนเป็นเหตุให้สินค้าขาดตลาดและมีราคาสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

กลับเข้าสู่ยุค เงินทองคือมายา ข้าวปลา คือของจริง”

จุดแข็งของประเทศไทยคือเป็นประเทศเกษตรกรรม จนถูกยกให้เป็นครัวของโลก “น้ำ” จึงเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศและการส่งออกไปทั่วโลก ทว่าตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ฤดูแล้งมาเยือนเกษตรกรชาวไทยเร็วและคาดว่าจะนานกว่าทุกปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทำให้ภาพรวมผลผลิตทางการเกษตรของชาติลดลง “การบริหารจัดการน้ำ” จึงเป็นหัวใจของความยั่งยืนเพื่อรับมือในทุกวิกฤต

บ้านม่วงชุม สร้างฝาย ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ

โควิด19 ผลักความต้องอาหารโลกพุ่ง

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างเห็นได้ชัด คือทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ประเทศไทยผลิตเพื่อบริโภคและส่งออก เช่น ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง มีผลผลิตต่อไร่ลดลง

ท่ามกลางความต้องการอาหารของโลกสูงขึ้นทั้งภายในประเทศและเพื่อการส่งออก ที่เริ่มมีการกักตุนอาหารเพื่อรับมือกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่คนต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้ทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ต่างเพิ่มคำสั่งซื้อมายังผู้ผลิตอาหารของไทย ขณะเดียวกันกับที่คนในประเทศก็ต้องการอาหารเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชุมชนป่าต้นน้ำ “บ้านม่วงชุม ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ต้นแบบชุมชนสู้ภัยแล้งในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” เห็นคุณค่าความมั่นคงของแหล่งอาหารที่พรั่งพร้อมในท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือที่ชุมชนได้ช่วยกันพลิกฟื้นผืนป่าต้นน้ำแห่งนี้ด้วยการบริหารจัดการน้ำว่าคือความยั่งยืนแท้จริง ที่ทำให้ชุมชนมีอาหารอุดมสมบูรณ์ และเป็นหนึ่งในขุมพลังหนุนกองทัพผลิตอาหารให้คนไทย

ตำนานผู้ทำลาย สู่ผู้พิทักษ์ผืนป่าต้นน้ำ

จากชุมชนป่าต้นน้ำติดกับแม่น้ำอิงที่ชาวบ้านมีวิถีชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติ หมู่บ้านม่วงชุม ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งเพราะการตัดไม้ทำลายป่าและเผาถ่านทำไร่เลื่อนลอย ประกอบกับความแปรปรวนของภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้พื้นที่แห่งนี้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำกลับไปกลับมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา จนชุมชนได้ศึกษา “แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9

กำนันปัญญา เป้าพรหมมา

นายปัญญา เป้าพรหมมา กำนัน ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เล่าว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติอย่างเดียว แต่ไม่เคยเหลียวแลและรักษาทรัพยากรป่าต้นน้ำซึ่งมีความสัมพันธ์กับแม่น้ำอิง ทำให้ชุมชนต้องเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมในหน้าฝนและน้ำแห้งในหน้าแล้งเรื่อยมากว่า 50 ปี จนต้องถอยร่นหมู่บ้านไปตั้งรกรากในที่สูงเพื่อหนีน้ำท่วม กระทั่งได้พบคำตอบจาก “แนวพระราชดำริ” ที่หัวใจคือการจัดสรรและการใช้ทรัพยากรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ควบคู่กับการวางระบบบริหารจัดการน้ำครบวงจร ที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิดประตูความรู้ให้

บริหารอ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำอย่างเป็นธรรม พร้อมตามรอยเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่

นับจากนั้น ชุมชนจึงเริ่มน้อมนำความรู้จากแนวพระราชดำริไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ โดยเริ่มจากร่วมใจกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ ด้วยการปลูกกล้าไม้และช่วยกันดูแลผืนป่ากว่า 3,700 ไร่ รวมถึงเพิ่มพื้นที่ป่า และรักษาหน้าดิน ขณะเดียวกันก็ปกป้องผืนป่าด้วยการทำแนวกันไฟ และการหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมในยามน้ำหลาก และช่วยคืนความชุ่มชื้นให้ผืนดิน อีกทั้งยังเป็นการเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำม่วงชุมด้วย นอกจากนี้ ชุมชนยังขุดบ่อดักตะกอนเหนืออ่างเก็บน้ำไม่ให้ตะกอนไหลลงอ่าง รวมทั้งขุดลอกตะกอนในอ่างออก ทำให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น

อ่างเก็บน้ำม่วงชุมตื้นเขิน

เมื่อบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสามารถจัดทำระบบกระจายน้ำให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ทำให้ชาวบ้านมีสิทธิ์เข้าถึงการใช้น้ำ เป็นการรวมพลังคนในชุมชนจัดการน้ำด้วยการลงทุนที่ต่ำที่สุด แต่ผลลัพธ์ยั่งยืน

“ตอนที่ยังไม่มีการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากร สภาพพื้นที่กักเก็บน้ำตื้นเขินแห้ง เคยคิดจะสูบน้ำอิงมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค แต่การสูบน้ำจากที่ต่ำมายังที่สูงเป็นต้นทุนทางการเกษตรที่ค่อนข้างสูง”

กำนันปัญญา หนึ่งในผู้นำที่สานต่อปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการบริหารจัดการน้ำและสร้างการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนร่วมกันคิดและช่วยกันทำ ได้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาขับเคลื่อนให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็น “เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่” แบบผสมผสานและไร้สารเคมี ช่วยสร้างรายได้จากหลากหลายช่องทาง ทำให้ชุมชนมีรายได้กว่า 4.4 ล้านบาท และลดรายจ่ายได้ถึง 2.7 ล้านบาทต่อปี

อ่างเก็บน้ำม่วงชุมหลังจากขุดลอกเเล้ว

“เดิมบ้านม่วงชุมทำเกษตรตามฤดูกาลเป็นอาชีพหลัก ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ข้าว มัน ทำสวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์ แต่ได้ผลผลิตไม่คงที่ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย บางคนต้องกู้เงิน ขายที่ดิน ย้ายไปทำงานต่างถิ่น แต่เมื่อรวมกลุ่มกันทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จัดสรรแปลงเกษตรอย่างเป็นรูปแบบ ใช้พื้นที่เพาะปลูกให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำปฏิทินการผลิต บัญชีรายรับรายจ่ายผลผลิต โดยเน้นบริโภคเอง แบ่งปันเพื่อนบ้าน และขายบ้าง ทำให้มีพืชผักการเกษตรบริโภคได้ทั้งปี มีรายได้มากกว่าเดิมถึง 2 เท่าต่อปี ทำให้หนี้สินลดลง มีความเป็นอยู่ดีขึ้น การย้ายถิ่นฐานก็ลดลง มีความสุขมากขึ้น”

แปลง “แนวพระราชดำริ” สู่การลงมือทำจริง

การเดินตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ช่วยให้ชุมชนรู้จักการรวมกลุ่ม รวบรวมข้อมูล ทำความเข้าใจปัญหาของชุมชน เพื่อนำมาวางแผน พร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน นำไปสู่การค้นพบทางรอดเมื่อเจอภัยทั้ง “น้ำแล้ง”และ “น้ำหลาก” ที่หลายชุมชนทั่วประเทศประสบทุกปี

“ชุมชนที่มีปัญหาคล้ายกัน อยากให้คิดถึงแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน และต้องทำด้วยมือของเราด้วย จึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงและสำเร็จได้จริง ชุมชนบ้านม่วงชุมใช้เวลาเพียงปีเดียวก็เกิดผลเพราะคนในชุมชนร่วมมือกัน”

บ้านม่วงชุม_เกษตรผสมผสาน ทำให้มีรายได้เพิ่ม 2 เท่า

เพราะความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนบ้านม่วงชุมจึงมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาตัวเอง และเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า “การบริหารจัดการน้ำ” จะนำไปสู่การได้มาซึ่ง “น้ำ” ที่เป็นปัจจัยต้นทางในการสร้างผลผลิตทางการเกษตรหล่อเลี้ยงคนทั้งชาติ และยังเป็นเกราะป้องกันภัยได้เมื่อวิกฤตมาเยือนโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศที่อาจต้องเผชิญกับปัญหาอาหารขาดแคลนเช่นกัน

(Visited 7,126 times, 1 visits today)