12 มีนาคม 2562…หนึ่งในกิจกรรมแฟนเพจเอสซีจี คือการคัดเลือกนิสิตนักศึกษา นั่งรถไฟไทยจากสถานีบางซื่อไปลงสถานีลำปาง เรียนรู้การซ่อม,สร้างฝายชะลอน้ำ พักโฮมสเตย์ของชุมชนในพื้นที่ใกล้ปูนลำปาง และเลือกซื้อพืชผักของแปรรูปชุมชนในพื้นที่เดียวกัน
ถ้าหากจะกล่าวถึงการทำ CSR Strategy ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง คงต้องกล่าวถึงกรณีศึกษาของเอสซีจีที่ทำงานเรื่อง “น้ำ” มาโดยตลอดโดยเฉพาะการซ่อม,สร้างฝายชะลอน้ำ ส่งผลให้ระบบนิเวศน์ของพื้นที่รอบโรงงานยังยั่งยืนตามธรรมชาติ และจากเรื่องนี้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วได้ต่อยอดมาสู่ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที” ในปัจจุบัน ส่งผลให้กิจกรรมเรื่อง “น้ำ” ในแต่ละพื้นที่ที่เอสซีจีไปทำงาน เป็น “ความฝัน” ของเยาวชนนิสิตนักศึกษาไม่น้อยที่อยากไปร่วมกิจกรรมนี้
เพราะได้ยินชื่อกิจกรรมเพื่อสังคมนี้มาตั้งแต่เด็กๆ
เพราะอยากไปลงมือช่วยสิ่งแวดล้อม
เพราะได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ
เพราะได้เดินทางด้วยรถไฟตู้นอน
เพราะได้ไปพักโฮมสเตย์ของชุมชน
“จากที่ได้ไปเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้การฟื้นฟูเหมืองปูนซิเมนต์ไทย ที่จังหวัดลำปาง สิ่งที่ได้คือความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะวิธีการทำเหมืองแบบ Semi Open Cut ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีการทำเหมืองประเภทนี้อยู่ ได้เห็นถึงแนวทางการนำหินแร่มาใช้ประโยชน์ โดยไม่ให้พื้นที่ป่าหรือระบบนิเวศบริเวณนั้นถูกทำลายไปจนหมด การทำเหมืองแบบนี้ยังทำให้มีป่าเป็นแนวป้องกัน (Buffer Zone) การรบกวนของกระบวนการทำเหมืองที่จะส่งผลต่อชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยที่คนในพื้นที่ก็ยังใช้ประโยชน์จากป่าได้อยู่”
กนกพิชญ์ ไชยสิริรัตนกุล นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในแฟนเพจเอสซีจี ที่ได้ร่วมเดินทางไปซ่อม,สร้างฝายลำปาง เล่าต่อเนื่องว่า นอกจากได้รู้จักวิธีการทำเหมืองรูปแบบใหม่แล้ว ยังได้เห็นว่ามีการคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น เพื่อนำไปปลูกหลังจากการทำเหมืองอีกด้วย น้ำจากการทำเหมืองก็ถูกกักเก็บไว้ไม่ปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
“ทำให้เห็นถึงความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมของเอสซีจี ที่นอกจากจะคิดถึงสิ่งแวดล้อมตรงนั้น ยังคิดถึงคนในท้องถิ่น สร้างความยั่งยืนให้กับน้ำ ป่า และชุมชนบริเวณนั้น”
บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ในธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 ด้วยแนวคิด “โรงงานอยู่ที่ไหน ป่าต้องเขียวที่นั่น” โดยได้นำแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอสซีจี และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในกระบวนการจัดการและดูแลสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐาน ISO 14001:2015 เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การเป็นเหมืองสีเขียว