กรุงเทพฯ: 30 กันยายน 2567 – รัฐบาลพร้อมผลักดันข้อเสนอเร่งเปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพิ่มโอกาส ชีวิตดี เศรษฐกิจโต สิ่งแวดล้อมยั่งยืน หลังรัฐ-เอกชน-ประชาสังคม กว่า 3,500 คน ร่วมแสดงพลังและระดมสมองในงาน ESG Symposium 2024 มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เป็นพื้นที่ทดลองสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเร่งเดินหน้า 4 แนวทาง ได้แก่ ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว หนุนการปรับตัว เสริมศักยภาพ SMEs รัฐบาลเชื่อมั่นพลังความร่วมมือ จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ในทุกมิติ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมงาน ‘ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส’ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และรับฟังข้อเสนอร่วม-เร่ง-เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จากการระดมความคิดทุกภาคส่วน
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนรวมกว่า 3,500 คน ร่วมแสดงพลังและระดมสมองเพื่อหาแนวทางร่วม-เร่ง-เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ในงาน ‘ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส’ และได้สรุปเป็นแนวทางนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น ผ่าน 2 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.) การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด พร้อมกับผลักดัน ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 2.) ใช้ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย เป็นพื้นที่ทดลองแก้ปัญหาข้อติดขัด ทั้งในเชิงนโยบาย ระบบอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ควบคู่กับการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยสรุปเป็น 4 ข้อเสนอ ดังนี้
ปลดล็อกกฎหมาย และข้อกำหนด (Law & Regulations) โดยภาครัฐเร่งเปิดเสรีซื้อ–ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงง่ายขึ้น สำหรับโครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ กำหนดให้มีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า เพื่อความเสถียรยิ่งขึ้น ภาครัฐนำการ จัดทำกฎหมายแม่บทว่าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน ครอบคลุมทั้งระบบ กระตุ้นการบริโภคอย่างยั่งยืน ส่งเสริมผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุทดแทนหรือวัสดุรีไซเคิล และจัดการของเสีย กำหนดมาตรการจูงใจ เช่น ลดภาษีหรือเงินสนับสนุน รวมทั้งสนับสนุนการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมนโยบาย ‘Green Priority’ ให้ความสำคัญกับ การใช้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐนำร่องจัดซื้อ จัดจ้าง เพื่อส่งเสริมการใช้สินค้ากรีนและสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เข้มแข็ง
ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green Finance) โดยสนับสนุนงบประมาณ พัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอน ที่เป็นมาตรฐานสากล และจัดตั้งหน่วยงานในประเทศ ให้สามารถรับรองมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน การทำคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขอเงินทุนสีเขียว โดยเอสซีจีพร้อมเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน และเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือ ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ
พัฒนาเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Technology & Green Infrastructure) โดยรัฐสนับสนุนการใช้ และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่กักเก็บความร้อน (Heat Battery) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหมุนเวียน
ปรับปรุงโครงสร้าง และผลักดัน การใช้โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำพื้นที่ว่างมาใช้ประโยชน์ ในการผลิตพลังงานสะอาด และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสายส่งไฟฟ้าให้เพียงพอ กับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด นอกจากนี้เร่งปรับปรุงระบบขนส่งสีเขียวครบวงจร ให้ใช้พลังงานสะอาดและประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน ลดเวลา เช่น ใช้ระบบวิเคราะห์เส้นทาง วิเคราะห์การบรรทุกสินค้าที่เหมาะสม ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ ส่งเสริมการแยกขยะเปียกและขยะแห้ง โดยจัดตั้งศูนย์คัดแยกและจัดการขยะ ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เช่น เทคโนโลยีการคัดแยก ระบบบำบัดและจัดการขยะเหลือทิ้ง
“อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าว จะเห็นผลเป็นรูปธรรมและเหมาะสม กับบริบทประเทศไทยยิ่งขึ้น หากรัฐบาลสนับสนุนการเดินหน้า ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพื่อเป็นพื้นที่ทดลอง บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public–Private–People Partnership) และนำทั้ง 4 ข้อเสนอมาปฏิบัติในพื้นที่จริง ซี่งจะทำให้เห็นโอกาสและข้อจำกัด แนวทางแก้ไข โดยรัฐบาลส่งเสริมกระจายอำนาจการตัดสินใจและการดำเนินงาน สู่หน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อลดขั้นตอนและความไม่ชัดเจน ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนทุกด้านมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะเป็นโอกาสขยายผล ไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศในอนาคต”
นายธรรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า “คณะจัดงานขอขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ให้เกียรติมาร่วมงาน และรับฟังข้อเสนอ จากพวกเราทุกภาคส่วนในวันนี้ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน และมีศักยภาพทางการแข่งขัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอด ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่สละเวลา ทุ่มเท มุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างบูรณาการตลอดมา เอสซีจีและพันธมิตรทุกภาคส่วนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนข้อเสนอข้างต้นไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง”
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ข้อเสนอในวันนี้ รัฐบาลจะรับไป สิ่งใดที่สามารถทำได้จะประสานงานโดยเร็ว สิ่งใดต้องการความร่วมมือกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เรายินดีที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กัน นอกจากสิ่งที่รัฐจะทําแล้ว ภาคธุรกิจเองจะต้องปรับตัว แสวงหาโอกาส และเสริมสร้างขีดความสามารถ ในการตอบสนองต่อเป้าหมาย Net Zero โดยบูรณาการมาตรการ เพื่อความยั่งยืน หรือ ESG เพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เราทุกคนจะร่วมกันเปลี่ยนความท้าทาย แรงกดดัน และข้อจํากัด เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ของโลกในทุกมิติ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน คือหัวใจแห่งความสําเร็จ รัฐบาลจะเร่งขับเคลื่อนทุก ๆ นโยบายสําคัญ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจ และสังคมไทยไปสู่การเจริญเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
งาน ‘ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส’ จัดขึ้นวันที่ 30 กันยายน 2567 ณ Hall 1 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 11.00-16.30 น. โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากทุกภาคส่วน และมีวิทยากรระดับโลกร่วมแบ่งปัน ประสบการณ์และตัวอย่างที่หลากหลายในการเปลี่ยนประเทศ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมชมนิทรรศการจำลองการใช้ชีวิต แบบโลว์คาร์บอน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.scg.com
Published on: Sep 30, 2024