ในอดีต พวกเราเติบโตมากับน้ำ เราพึ่งพาแม่น้ำลำคลองในการดำเนินชีวิตประจำวัน เราใช้น้ำทำเกษตรกรรม เป็นช่องทางสัญจร และผืนทะเลที่กว้างใหญ่ก็เป็นแหล่งประกอบอาชีพของใครหลายคน
แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนไป เราหันมาสัญจรบนถนน คนเมืองมีน้ำประปาใช้ตลอดทั้งปี จนเราลืมไปว่าน้ำเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่ต้องบริหารจัดการด้วยความรู้ความเข้าใจ ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพราะเราเห็นว่าน้ำเป็นเรื่องไกลตัว
เพราะเชื่อว่าการบริหารจัดการน้ำต้องเป็นไปอย่างยั่งยืนตลอดเส้นทางจากต้นถึงปลาย โครงการ ‘รักษ์น้ำ…จากภูผา สู่มหานที’ ของเอสซีจี จึงน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้เป็นแนวทางดูแลรักษาน้ำมาเป็นเวลากว่าสิบปี เริ่มตั้งแต่การทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ แล้วส่งต่อน้ำไปยังสระพวงเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ทำแก้มลิงในพื้นที่กลางน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้ในการเกษตร และร่วมดูแลปลายน้ำผ่านการสร้างบ้านปลาเพื่อเพิ่มที่อยู่อาศัยให้ปลาและสัตว์ทะเล โดยเผยแพร่ความรู้และทำงานร่วมกับคนในชุมชน แถมยังมองการณ์ไกล ชักชวนให้น้องๆ ‘YOUNG รักษ์น้ำ’ มาร่วมเรียนรู้และลงมือทำไปด้วยกัน สร้างกำลังสำคัญในการดูแลจัดการน้ำในวันข้างหน้า
ในครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางครั้งแรกของโครงการ เอสซีจีเริ่มต้นที่พื้นที่ต้นน้ำ ก่อนจะเดินทางสู่พื้นที่อื่นๆ ตลอดปีนี้ โดยพานักศึกษาที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมมาร่วมเรียนรู้การรักษ์น้ำ ผ่านการทดลองทำฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง และเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำร่วมกับชุมชนที่จังหวัดลำปาง ในวันที่ 8 – 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
a team อยากชวนทุกคนมาลองคุยกับน้องๆ กลุ่ม ‘YOUNG รักษ์น้ำ’ ทั้งคนต้นน้ำ คนกลางน้ำ และคนปลายน้ำที่ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมมาว่าพวกเขามีมุมมองต่อการรักษ์น้ำเปลี่ยนไปอย่างไร
คนต้นน้ำ
โจโจ้-ณัฐเดช เอียดปุ่ม ปี 3 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โจโจ้ หนุ่มนักสื่อสารมวลชนคนนี้รวมกลุ่มกับเพื่อนสนิทมาสมัครเข้าโครงการ เพราะความรักในการเดินทางและสนใจเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ
“รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที เป็นศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทีแรกผมเข้าใจว่า เราทำฝายบนพื้นที่ต้นน้ำแล้วปล่อยให้น้ำไหลไปจนพื้นที่ปลายน้ำเท่านั้นพอ แต่รายละเอียดจริงๆ คือการดูแลรักษาน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่ต้นน้ำถ้าเราไม่กักเก็บไว้ตั้งแต่ตอนแรก น้ำก็จะไหลสู่พื้นที่ต่ำหมด ก็จะมีการสร้างสระพวง เป็นการขุดสระแม่แล้วกระจายต่อไปยังสระลูกหลานเพื่อให้น้ำเข้าถึง ซึ่งเอสซีจีก็ให้ความรู้กับชาวบ้านในจังหวัดลำปางที่ไป สอนชาวบ้านให้เรียนรู้การรักษาน้ำไว้ใช้โดยสร้างสระพวงไว้ในหมู่บ้าน”
ในฐานะคนต้นน้ำ โจโจ้เล่าให้เราฟังว่า ตัวเขาเองก็เห็นปัญหาน้ำไม่พอใช้ในหน้าแล้งจากตัวอย่างใกล้ตัวในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จำเป็นต้องสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นมาแก้ปัญหา โดยเขาตั้งใจจะน้ำความรู้ที่ได้นี้ไปเผยแพร่กับเพื่อนนักศึกษา
“เราต้องบอกต่อเพื่อนๆ คนรอบข้างก่อน รวมกลุ่มกันเป็นพลังที่น่าเชื่อถือ เพื่อนำไปสู่การทำโครงการจิตอาสาพัฒนาพื้นที่ในชนบทจังหวัดเชียงใหม่เอง เราอยากนำองค์ความรู้นี้ไปถ่ายทอดกับคนในชุมชนที่อยู่ต้นน้ำเพื่อเป็นองค์ความรู้ที่ยั่งยืนต่อไป ไม่ใช่ว่าเราแค่ไปสร้างให้เขาตอนนั้นแล้วเขาไม่สามารถนำไปพัฒนาต่อเองได้”
โจโจ้ยังบอกเราอีกด้วยว่า ในฐานะนักศึกษาสื่อสารมวลชน เขาอยากนำศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาใช้เป็นกระบอกกระจายเสียง เล่าเรื่องราวให้น่าสนใจผ่านสื่อที่หลากหลาย เพื่อสร้างพลังในการรักษ์น้ำต่อไป เห็นคนต้นน้ำแข็งขันอย่างนี้ ก็ชวนให้รู้สึกชื่นใจอยู่ไม่น้อย
คนกลางน้ำ
สำหรับคนต้นน้ำ การดูแลตาน้ำและผืนป่าถือเป็นหน้าที่สำคัญ จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำให้กักเก็บน้ำในฤดูฝนหรือหน้าน้ำหลากไว้ เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ส่วนคนกลางน้ำเองก็จำเป็นต้องทำแก้มลิงเพื่อดึงน้ำมาใช้ รวมไปถึงการดูแลรักษาน้ำให้สะอาด เพราะปัญหาหลักที่เก้า เด็กหนุ่มคนกลางน้ำผู้ใช้ชีวิตอยู่แถวรังสิตเล่าให้เราฟัง คือปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสีย
“อยู่ที่นี่เราไม่มีปัญหาไม่มีน้ำใช้เหมือนภาคเหนือ แต่ก็มีปัญหาน้ำเสีย ผมอยู่ติดกับคลองจะได้กลิ่นเหม็น สาเหตุที่น้ำเน่าเสีย ผมคิดว่ามาจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงหรือร้านอาหารริมคลองที่เทเศษอาหารลงไป”
สำหรับคนกลางน้ำที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเก้า แก้มลิงอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่สิ่งที่จะทำได้คือการดูแลรักษาน้ำให้ดีที่สุด
“เราอยู่ภาคกลาง เป็นกลางน้ำ เราต้องดูแลรักษามัน เช่น เรื่องน้ำเน่าเสียก็ต้องเริ่มจากตัวเราเองว่าไม่ควรจะทิ้งขยะลงไปในลำคลอง ถึงจะแค่คนละน้อย แต่พอนานเข้าและเป็นคนจำนวนมาก น้ำก็จะเน่าเสียในที่สุด กับคนที่ทิ้งขยะลงน้ำ เราอยากไปบอกว่า เขาควรจะทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง ไม่ทิ้งลงคลอง สอนเขาว่าผลเสียมันคืออะไร”
นอกจากนี้นับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการรักษ์น้ำ เก้ายังบอกเราว่าเขาใช้น้ำอย่างประหยัดขึ้นมากอีกด้วย “การใช้น้ำ มันใช้ง่าย แต่จะรักษายังไงให้มันอยู่ได้นาน”
คนปลายน้ำ
หนุ่มปลายน้ำคนนี้เล่าให้ฟังว่า ประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับจากโครงการ ‘รักษ์น้ำ…จากภูผา สู่มหาที’ เป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่เขาพบจากบ้านเกิดคือเรื่องน้ำท่วม
“ก่อนหน้านี้เคยทำฝายแต่ที่ภาคใต้ ซึ่งภาคใต้มีน้ำมากตลอดทั้งปี เราจึงสร้างฝายเพื่อชะลอให้น้ำไหลช้า ลดน้ำท่วมเป็นจุดประสงค์หลัก แต่ไปที่ลำปางเป็นอีกจุดประสงค์หนึ่งคือเพื่อกักเก็บน้ำไว้มากที่สุด เพราะที่นู่นหน้าแล้งจะนาน ไม่มีน้ำใช้ เป็นคนละแบบกัน”
เมื่อเราถามถึงการดูแลชายฝั่งทะเลอันเป็น ‘ปลายน้ำ’ เจมส์ก็อธิบายให้ฟังถึงระบบการจัดการอุทยานแห่งชาติที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้เป็นช่วงเวลาจำกัดราว 4-6 เดือน ช่วงเวลาที่นอกเหนือจากนี้จะปิดอุทยานเพื่อให้ปะการังได้ฟื้นฟูและให้ปลาได้ขยายพันธุ์ โดยสิ่งที่คนปลายน้ำสามารถทำได้คือคอยดูแล ไม่ไปทำลายมันซ้ำ
นอกเหนือไปจากความรู้ อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่คนปลายน้ำรุ่นใหม่คนนี้ได้รับจากโครงการคือจิตสำนึกในการใช้น้ำ
“สิ่งที่ได้รับหลังเข้าร่วมโครงการคือ ตอนนี้เราเห็นคุณค่าของน้ำ ก่อนหน้านี้เราอยู่ทางภาคใต้ น้ำอุดมสมบูรณ์ เราเลยไม่เห็นคุณค่าของมัน พอเราไปลำปางแล้วเห็นว่าในหน้าแล้งเขาไม่มีน้ำก็รู้ว่ามันจำเป็น และเป็นประโยชน์กับเขาจริงๆ เราตระหนักว่าน้ำสำคัญนะ ถ้าเราไม่ช่วยกันประหยัด ไม่แน่ต่อไปภาคใต้อาจจะแห้งแล้งเหมือนภาคเหนือก็ได้ เวลาอาบน้ำ ตอนที่ถูสบู่ หรือเวลาแปรงฟันเราก็ปิดน้ำ ใช้น้ำเท่าที่จำเป็นครับ”
เพราะเส้นทางของสายน้ำเชื่อมโยงทุกคนเข้าหากัน ไม่ว่าเราจะเป็นคนต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ การ ‘รักษ์น้ำ…จากภูผา สู่มหานที’ จึงหมายถึงการร่วมมือกันดูแลรักษาน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อส่งต่อน้ำจากต้นทางสู่ปลายทางอย่างยั่งยืนนั่นเอง