2 ตุลาคม 2566 : กรุงเทพฯ – ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 คน ผสานพลังระดมสมองเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี “4 แนวทาง เร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” บูรณาการพิชิต Net Zero ปี 2065 1) ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 2) เร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นวาระแห่งชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากวัสดุที่ใช้แล้ว นำร่อง 3 อุตฯหลัก บรรจุภัณฑ์-ยานยนต์-ก่อสร้าง 3) เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัด เปิดเสรีซื้อ-ขายไฟพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด และส่งเสริมพลังงานทางเลือก 4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้พึ่งพาตนเองได้ด้วยความรู้ เทคโนโลยีลดคาร์บอน แหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อม มั่นใจ 4 ข้อเสนอนี้สร้างเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งส่งผลกระทบที่เร็วและรุนแรงขึ้นต่อทุกชีวิตในโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เอสซีจีจึงเชิญชวนภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 คน ระดมสมองหาแนวทางกู้วิกฤตดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี ในงาน ESG Symposium 2023 วันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้”
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ทุกภาคส่วนอยากเห็นการทำงานแบบบูรณาการ ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริง จึงเสนอ 4 แนวทางความร่วมมือ ได้แก่ 1) ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสมให้เป็น เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 2) เร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ ขณะนี้มี 3 อุตสาหกรรมต้นแบบแล้ว คือ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ ก่อสร้าง การผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ จะดึงดูดให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ร่วมขยายผล เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 3) เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัดจากการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด ให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ได้สะดวก อาทิ เปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด (Energy Storage System) และส่งเสริมพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานไฮโดรเจน เชื้อเพลิงชีวมวล ขยะจากชุมชน พืชพลังงาน 4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยเหลือทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้มีความตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอน และแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อม ผมเชื่อว่าหากทุกภาคส่วนบูรณาการ ตามข้อเสนอจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ สร้างความสมดุลให้สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และโมเดลเศรษฐกิจ BCG”
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า “เราจะร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำที่เป็นฐาน ไปสู่การเป็นพื้นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero emission แห่งแรกของไทย ความท้าทายอยู่ที่จังหวัดสระบุรี เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหนัก และมีปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสม หากเปลี่ยนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำหรือ Net Zero ได้สำเร็จ ซึ่งการเป็นได้นั้นต้องใช้นวัตกรรม และรูปแบบการทำงานข้ามภาคส่วนจากการทำงานนี้ จะเป็นรูปแบบและบทเรียนให้จังหวัดอื่น ๆ ทำได้เช่นกัน การจะทำให้ภาคอุตสาหกรรม เปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ลงทุนให้ใช้พลังงานสะอาดได้อย่างเต็มที่ ผลักดันให้พัฒนาส่งเสริมการใช้งานและส่งออกสินค้ากรีน เช่น ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ Bio Energy Pallet ภาคการเกษตร เปลี่ยนเป็นเกษตรยั่งยืน เช่น ทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำ ลดต้นทุน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งปลูกหญ้าเนเปียร์และนำของเหลือจากการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน ช่วยลดคาร์บอนและสร้างรายได้ให้ชุมชน ร่วมปลูกป่าชุมชนเพิ่ม 38 แห่งทั่วจังหวัดเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยดูดซับคาร์บอน และนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้ชุมชน”
นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะประสบความสำเร็จ เช่นในประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ ต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้เกิดการปฏิบัติจริงอย่างแพร่หลาย สำหรับประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรมที่ได้นำร่องจนเกิดผลสำเร็จแล้ว คือ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ทั้งนี้ การขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องกำหนดกฎหมาย นโยบาย และมาตรฐานคัดแยก จัดเก็บขยะให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนสร้าง Eco System สนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้ง รณรงค์ใช้สินค้ากรีนที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพ ออกกฎหมายระบุปริมาณอย่างชัดเจน โดยหน่วยงานภาครัฐนำร่องจัดซื้อจัดหาสินค้ากรีน เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างแพร่หลาย”
นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สระบุรี กล่าวว่า “ก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 70 ในประเทศไทยมาจากภาคพลังงาน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero จึงต้องเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิล ซึ่งปล่อยคาร์บอนสูงมาสู่พลังงานสะอาด โดยร่วมกันปลดล็อกข้อจำกัด เพื่อยกระดับความมั่นคงทางพลังงานและยั่งยืนในประเทศ และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเปิดเสรี ซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด ด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) ทั้งภาครัฐ เอกชนใช้เครือข่ายไฟฟ้าร่วมกัน เพื่อให้เข้าถึงและใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด ให้มีประสิทธิภาพสูง ราคาเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตให้เป็น New S-Curve ตลอดจนสนับสนุนการใช้พื้นที่ว่างเปล่า เพื่อกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานความร้อน พลังงานกล พลังงานเคมี อีกทั้ง พัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ ๆ ให้อยู่ในแผนพลังงานชาติ เช่น พลังงานไฮโดรเจน พืชพลังงาน ขยะชุมชน ของเสียจากโรงงาน ตลอดจนปรับปรุงนโยบายและสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ ให้ใช้พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพิ่มจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 50 ในปี 2050”
นางสาวจิตใส สันตะบุตร คนรุ่นใหม่ใจรักษ์โลก กลุ่ม SDG7 Global Youth Ambassador for Southeast Asia กล่าวว่า “ประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างราบรื่น ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ขาดทรัพยากร และความรู้ความเข้าใจในการปรับตัว ได้แก่ SMEs แรงงาน เกษตรกร และชุมชน เราควรแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ และจัดสรรความช่วยเหลือ ตามความต้องการอย่างเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ให้มีความตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอน และแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีมากถึง 52 ล้านล้านบาท โดยขอเสนอให้ไทยตั้งเป้าขอรับเงินสนับสนุน โครงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปีละ 350,000 ล้านบาท เช่น กองทุนนวัตกรรมจัดการน้ำให้กลุ่มเกษตรกร รับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวน กองทุนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่า พร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้มุ่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนผ่านให้ปรับตัวทันท่วงทีและพึ่งพาตัวเองได้”
“ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อนี้ จะนำเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี ในงาน ESG Symposium 2023 วันที่ 5 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผมเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือบูรณาการกันอย่างแท้จริง ไม่มองเป้าหมายแค่เพื่อตัวเอง หรือเป้าหมายขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เพื่อความอยู่รอดของประเทศ และโลกของเรา ร่วม-เร่ง-เปลี่ยนแก้วิกฤติโลกเดือด โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต พร้อมโลว์คาร์บอนเป็นจริงได้แน่นอน” คุณธรรมศักดิ์ กล่าวปิดท้าย
ESG Symposium 2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 11 ในหัวข้อ “ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้ร่วมงานจากทุกภาคส่วนกว่า 1,500 คน โดยมีวิทยากรระดับโลก ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างที่หลากหลาย ชมนิทรรศการความร่วมมือ และนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสังคมคาร์บอนต่ำจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก ผู้สนใจรับชมออนไลน์ได้ที่ Facebook และ Youtube ของ SCG ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ เวลา 12.00-17.15 น.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.scg.com
Published on: Oct 2, 2023