พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระเมตตาพระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ”

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ในภาวะที่ต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 (โควิด-19) จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ภายใต้ “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” ให้แก่โรงพยาบาล 20 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจ แต่ยังปลุกพลังจิตอาสาของคนไทยให้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกันและกัน เพื่อก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ โดยนำร่องที่โรงพยาบาล (รพ.) ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เป็นแห่งแรก

ห้องตรวจหาเชื้อ ที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ

นาวาอากาศเอก นคร บุญมี นายทหารบริหารงาน โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เปิดเผยว่า “การติดตั้งห้องตรวจหาเชื้อสำเร็จอย่างรวดเร็ว และพร้อมให้บริการประชาชนได้ทันท่วงทีนั้น เกิดจากความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศ ทีมแพทย์ และทีมงานของเอสซีจี เพื่อให้ รพ. สามารถรับมือในวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยห้องตรวจหาเชื้อมีระบบควบคุมแรงดันอากาศและการป้องกันอากาศรั่วไหลที่ทำให้ห้องปิดสนิท ช่วยเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้มากขึ้น โดยทีมแพทย์จะอยู่ในห้องความดันบวกที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องความดันลบ และมีระบบดูดอากาศเสียออกไปกำจัดอย่างต่อเนื่อง จึงป้องกันไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก ห้องนี้ยังช่วยให้บุคลากรทางแพทย์ไม่ต้องสวมชุดคลุมเต็มตัว (Personal Protective Equipment-PPE) ถึง 8 ชั้น”

นาวาอากาศเอก นคร บุญมี

ห้องตรวจหาเชื้อ คิดมาเพื่อหมอ ประหยัดชุด PPE – ดับร้อน – ให้บริการประชาชนได้มากขึ้น

นาวาอากาศเอกธนาสนธิ์ ธรรมกุล ผู้อำนวยการกองอายุรกรรม และหัวหน้าหน่วยควบคุมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เล่าถึงช่วงคับขันก่อนได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อว่า “ในช่วงเดือนมีนาคมที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างกว้างขวาง มีผู้ต้องสงสัยเข้ามาตรวจหาเชื้อ 20 รายต่อวัน การตรวจหาเชื้อ (Swab) ต้องแยกทำในที่โล่งนอกอาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศหากมีการไอหรือจาม แพทย์จึงต้องใส่ชุด PPE จำนวนมาก อีกทั้งหากฝนตกก็ไม่สามารถดำเนินการได้”

นาวาอากาศเอกธนาสนธิ์ ธรรมกุล

ด้านนาวาอากาศโท สุรินท์นาท เจริญจิตต์ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เล่าถึงความลำบากในวิธีการตรวจหาเชื้อเมื่อต้องใส่ชุด PPE ที่มีจำนวนจำกัดว่า “แม้จะมีกล่องป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโควิด-19 แต่การตรวจก็ยังทุลักทุเล แพทย์ยังมีความเสี่ยง จนกระทั่งมีนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ ช่วยตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยได้มาก เพราะมีห้องแยกระหว่างคนไข้กับแพทย์ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถรองรับปริมาณการตรวจได้เพิ่มขึ้น โดยหมอไม่ต้องใส่ชุดป้องกัน และยืนกลางแดด ท่ามกลางอากาศอบอ้าว”

บุคลากรทางการแพทย์ ปลาบปลื้มน้ำพระทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ” ช่วยหมอสู้ภัยโควิด

นาวาอากาศเอก นคร บุญมี ยังระบุว่า “ผู้ที่อยู่ในวงการแพทย์รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการตรวจรักษาให้กับคนไทย ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่มีระบบป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ดีแห่งหนึ่งของโลก

“กำลังใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ได้พระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ ทำให้พวกเรามั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งขึ้น ตลอดจนกำลังใจมหาศาลจากประชาชนที่เป็นจิตอาสาที่คอยให้ความช่วยเหลือ ทั้งการบริจาคอาหาร ยาสระผม ไดร์เป่าผม สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์มีแรงใจปฏิบัติภารกิจต่อไปได้”

นาวาอากาศโท สุรินท์นาท เจริญจิตต์ ทิ้งท้ายว่า “รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ที่ทรงห่วงใยประชาชน และได้พระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์และคนไข้ปลอดภัย ดังนั้น คนไทยจึงต้องพร้อมใจกันปรับตัวภายใต้วิกฤตโรคระบาดนี้ เพราะเรายังไม่รู้ถึงจุดสิ้นสุดของวิกฤต แพทย์แม้จะมีความกลัวและกังวล แต่ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบ จึงต้องสู้และช่วยคนไทยให้สำเร็จ อยากให้ทุกคนร่วมใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อให้เราชนะวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”

นาวาอากาศโท สุรินท์นาท เจริญจิตต์

ด้านนาวาอากาศโทหญิง สิทธิพร วิริยะเชษฐ์กุล พยาบาลควบคุมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ มองว่า “คนทำงานรู้ดีว่ามีความเสี่ยงระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องหาเครื่องมือที่ช่วยลดการสัมผัสคนไข้ แม้ทุกคนจะกลัว แต่เราตระหนัก และทำงานด้วยสติไม่ตื่นตกใจ ทำงานด้วยความระมัดระวังเพื่อให้ปลอดภัยทั้งคนไข้และแพทย์ ทุกคนทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเป็นกำลังใจให้กันและกัน”

นาวาอากาศโทหญิง สิทธิพร วิริยะเชษฐ์กุล

ด้านอาริยา พรมแก้ว ผู้ใช้บริการที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ มาอย่างต่อเนื่อง เล่าว่าการเข้ามาในพื้นที่ รพ. ถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อ รพ.ได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ ทำให้รู้ว่าพระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงเล็งเห็นถึงความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อ และทรงห่วงใยผู้มาใช้บริการ ทั้งคนไข้ ญาติ ประชาชนทั่วไป และทีมแพทย์ใน รพ.

“ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระเมตตาเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ช่วยคนไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ แม้ว่าผู้ป่วยรายใหม่จะลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง แต่เชื้อโควิด-19 ยังอยู่กับเราต่อไปอีกนาน ประชาชนจึงต้องร่วมมือกันด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม ใช้ผ้าปิดจมูก ล้างมือบ่อย ๆ และปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี และกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ”

วงการแพทย์พลิกมิติการรักษาแบบ New Normal รับยุคโควิด

สุดท้ายนาวาอากาศเอก นคร บุญมี มองถึงแผนการบริการการรักษาผู้ป่วยท่ามกลางวิกฤตโรคอุบัติใหม่ว่ายังไม่จบสิ้นในเร็ววัน จึงต้องออกแบบวิธีการรักษาภายใต้วิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) เมื่อไม่สามารถกำจัดเชื้อโควิด-19 ได้ และยังไม่มีวัคซีนและยาในการรักษา จึงต้องบริหารจัดการการบริการและการรักษาควบคู่กับการปิดจุดเสี่ยงในการแพร่เชื้อ โดยการคัดแยกผู้ป่วยก่อนรับการรักษาใน รพ. ด้วยการตรวจหาเชื้อก่อนรักษา ทั้งการผ่าตัด ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ และการใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่แพทย์และทีมงานระหว่างรักษา

ภายในห้องตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ

“ในช่วงการระบาดของเชื้อ รพ. ได้เลื่อนการรักษาคนไข้กว่า 3,000 รายต่อวัน ดังนั้น เมื่อเปิดบริการการปฏิบัติงานจะต้องอยู่ภายใต้รูปแบบ New Normal คือตรวจหาเชื้อก่อนรักษา และลดความแออัดของจำนวนคนไข้ เพื่อให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีการติดเชื้อ ด้วยการเร่งนำดิจิทัลมาอำนวยความสะดวก เพื่อลดจำนวนคนไข้ที่ต้องเดินทางมา รพ. ผ่านการวินิจฉัยข้อมูลแบบเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (IoT-Internet of Things) เช่น การจัดแบ่งกลุ่มคนไข้เพื่อรับยาผ่านจุดรับยาโดยไม่ต้องมาที่ รพ. และแพทย์สามารถสั่งยาได้จากการดูผลเลือดโดยไม่ต้องสัมผัสกับคนไข้โดยตรง”

ก้าวข้ามความท้าทายในการติดตั้งห้องตรวจหาเชื้อใน “จุดแคบ”

ทุบสถิติ “ติดตั้งจบ 3 วันพร้อมใช้งาน

ทางด้านวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เผยถึงเบื้องหลังการติดตั้งห้องตรวจหาเชื้อว่า “ความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดจากการประสานงานระหว่างทีมงานเอสซีจี และทีมหมอ รพ. ภูมิพล ที่ได้ก้าวข้ามความท้าทายของข้อจำกัดด้านพื้นที่สำหรับติดตั้งห้องตรวจหาเชื้อ เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบ แต่ความร่วมมืออย่างดียิ่งของ รพ. ประกอบกับประสบการณ์และความชำนาญของทีมติดตั้ง จึงทำให้การดำเนินการต่าง ๆ สำเร็จลงภายในเวลาเพียง 3 วัน โดยได้ติดตั้งในบริเวณที่เชื่อมต่อกับจุดคัดกรองผู้ป่วยเดิมของโรงพยาบาล เพื่อให้ขั้นตอนการตรวจคัดกรองผู้ป่วยและการตรวจหาเชื้อดำเนินไปอย่างราบรื่น

นายวชิระชัย คูนำวัฒนา

“ห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว พัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution ซึ่งได้ออกแบบให้มีระบบที่จะช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย มีระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล ที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ภายในอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี โดยโครงสร้างกว่าร้อยละ 80 ประกอบขึ้นรูปภายในโรงงานที่มีการควบคุมคุณภาพและความสะอาดตลอดกระบวนการผลิต และยังสามารถติดตั้งได้รวดเร็ว”

แม้จะยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดของวิกฤตในครั้งนี้ แต่ด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย รวมถึงพลังจิตอาสาของคนไทยทุกคน ย่อมนำพาให้ประเทศไทยก้าวผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้ด้วยดีในเร็ววัน

ภายในห้องตรวจหาเชื้อ
(Visited 1,088 times, 1 visits today)